จากงานแถลงข่าวการควบรวมกิจการของ AIS และ 3BB ในวันนี้ (22 พฤศจิกายน) ผู้บริหารของ AIS ได้เปิดเผยแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ AIS Fibre3 และ 3BB Fibre3 เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านหลังจากนี้
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเสียงข้างมากให้ บริษัท แอดวานซ์ เน็ตเวิร์ค อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือ AWN บริษัทลูกของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เจ้าของแบรนด์ AIS เข้าซื้อหุ้นบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB ด้วยเงินลงทุน 3.2 หมื่นล้านบาท ทำให้ AIS มีสิทธิ์ในการกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจของผู้ให้บริการ 3BB
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ AIS กล่าวว่า เหตุผลสำคัญของการควบรวมในครั้งนี้ คือการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของบริษัท แม้บริษัทจะสามารถทำได้เอง แต่การลงทุนครั้งนี้จะช่วยให้บริษัทประหยัดเวลาไปได้ 4-5 ปี และการควบรวมกันครั้งนี้ยังเป็นสิ่งที่กลมกลืนมาก
“AIS เป็นเจ้าตลาดและเก่งในหัวเมืองใหญ่ ขณะที่ 3BB ทำตลาดนี้มากว่า 20 ปี และเก่งในต่างจังหวัด ซึ่งจะช่วยให้เราขยายบริการได้ครอบคลุม 13 ล้านครัวเรือน ภายในต้นปี 2567”
สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตบ้านยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันการเข้าถึงเน็ตบ้านของคนไทยอยู่ที่เพียง 50% ทั้งในส่วนลูกค้าครัวเรือนและลูกค้าธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่ม SME
นอกจากนี้ สมชัยยืนยันว่า การซื้อกิจการในครั้งนี้บริษัททำอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล “เราขออนุญาตผู้มีอำนาจว่าจะให้เราซื้อหรือไม่ให้เราซื้อ 3BB ซึ่ง กสทช. ตั้งอนุกรรมการ 4 ชุด รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาร่วมพิจารณา และมีการประชุมร่วมกัน 3 ครั้ง”
ธีร์ สีอัมพรโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจบรอดแบนด์ AIS กล่าวว่า หลังการควบรวมครั้งนี้จะทำให้ AIS มีฐานลูกค้าอินเทอร์เน็ตบ้านราว 4.8 ล้านครัวเรือน จากเดิมที่ AIS ตั้งเป้าหมายว่าจะมีลูกค้าราว 2.5 ล้านรายในปีนี้ ขณะที่การให้บริการจะครอบคลุมพื้นที่ 131,000 ตารางกิโลเมตร เข้าถึง 77 จังหวัด
ทั้งนี้ ผู้บริหารของ AIS ยืนยันว่า บริษัทจะยังคงราคาแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตบ้านที่ต่ำที่สุดไว้ที่ 499 บาทต่อเดือน ซึ่งก็เป็นไปตามมติของ กสทช. ภายหลังการควบรวมกิจการในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม การให้บริการของบริษัทมีหลายระดับ ซึ่งแพ็กเกจที่ราคาสูงขึ้นก็จะมาพร้อมกับบริการที่มากขึ้น
ธีร์กล่าวว่า “อินเทอร์เน็ตบ้านจะไม่ได้แข่งกันที่ความเร็วและแรงเท่านั้น ธุรกิจบรอดแบนด์ต้องเข้าใจคนที่อยู่ในบ้านมากขึ้น ไม่ใช่แค่นำสายอินเทอร์เน็ตไปถึงบ้าน”
ส่วนแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านในอนาคตน่าจะขยายตัวได้ราว 5-10% ต่อปี ขณะที่บริษัทมีการลงทุนในส่วนนี้ปีละประมาณ 5-6 พันล้านบาท จากงบลงทุนทั้งบริษัทประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท