ในรอบปี 2017 มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นกับอุสาหกรรมการบินพาณิชย์ทั้งไทยและเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายผู้โดยสารของสารการบิน United Airlines ที่ชวนให้นักเดินทางทั่วโลกทบทวนกับคำว่า Overbooking เสียใหม่ การลาออกของคุณพาที สารสิน อดีตผู้บริหารสายการบินนกแอร์ (Nok Air) กลายเป็นหนึ่งเหตุการณ์สำคัญของวงการการบินไทยในช่วงสิ้นปี และที่น่าตื่นตาที่สุด เห็นจะเป็นการปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งช่วยให้อุตสาหกรรมการบินบ้านเราเดินหน้าได้อย่างไร้ข้อกังขา
ในปี 2018 ที่กำลังมาถึง หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวทางอากาศกำลังเติบโตต่อเนื่องแบบก้าวใหญ่ๆ ไม่ใช่แค่เพียงแต่บ้านเราเท่านั้นแต่ยังหมายถึงภาพรวมของทั้งโลก ทั้งสายการบินต้นทุนต่ำและฟูลเซอร์วิสต้องปรับตัวสูง มีการใช้กลยุทธ์ใหม่ๆ มากมาย ราคาถูกไม่ใช่ปัจจัยหลักสำคัญในการดึงผู้โดยสาร รวมถึงสถานะของสนามบินที่ไม่ใช่แค่สถานที่ไว้ขึ้นเครื่องเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แน่นอนว่ายังมีอีกหลายสิ่งอย่างเกิดขึ้นในอนาคต นี่คือสิ่งที่ THE STANDARD รวบรวมและคาดการณ์ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างกับการท่องเที่ยวทางอากาศในปี 2018
การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยออกมาแถลงข่าวถึงแผนการปรับโฉมสนามบินสุวรรณภูมิสู่สมาร์ทแอร์พอร์ต คาดว่าภายในกลางเดือนเมษายนจะเปิดตัวเทคโนโลยีหุ่นยนต์อัจฉริยะเข้ามาใช้งานเป็นครั้งแรก โดยเริ่มจากหุ่นยนต์ทำความสะอาด และจะพิจารณานำหุ่นยนต์ช่วยเหลือผู้โดยสารเข้ามาใช้ในอนาคต จากนั้นจะขยายไปให้ครบทั้ง 28 สนามบินทั่วประเทศ
เมื่อการ Check-In เป็นเรื่องของอดีต
เรารู้ว่าหลายคนรำคาญขั้นตอนเช็กอิน เพราะการจะได้บินนั้น หน้าด่านสำคัญคือการเช็กอินให้ทันเวลา ในปี 2017 มีหลายสายการบินเริ่มปรับรูปแบบจากการเช็กอินผ่านเคาน์เตอร์ เป็นการเช็กอินทางออนไลน์เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้โดยสารสามารถขึ้นเครื่องผ่านตั๋วโดยสาร (Boarding Pass) รูปแบบกระดาษที่ปรินต์มาจากบ้าน หรือแบบไฟล์ PDF ที่โหลดเก็บไว้ในสมาร์ทโฟน แต่ในปี 2018 การเช็กอินรูปแบบเก่าจะเริ่มกลายเป็นอดีต เหมือนที่สายการบิน Delta Airlines พลิกโฉมการเช็กอินใหม่ ด้วยการตัดขั้นตอนการเช็กอินทิ้ง
นายเอ็ด บาสเตียน (Ed Bastian) CEO ของสายการบิน Delta Airlines กล่าวว่า “เมื่อคุณจองตั๋วโดยสารและจ่ายเงินแล้ว เรารู้ว่าคุณคือใคร แล้วทำไมต้องเช็กอินอีกล่ะ?” Delta เริ่มระบบนี้เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยให้ผู้โดยสารโหลดแอปพลิเคชันของ Delta จากนั้น 24 ชั่วโมงก่อนออกเดินทางสายการบินจะเช็กอินให้คุณโดยอัตโนมัติและบัตรขึ้นเครื่องของคุณจะปรากฏขึ้นบนสมาร์ทโฟน ไม่ใช่แค่ Delta เท่านั้น แต่สายการบิน Lufthansa และ Swissair ก็เริ่มระบบเช็กอินอัตโนมัติสำหรับผู้โดยสารเช่นกัน ในอนาคตเราอาจไม่ต้องเบียดเสียดต่อคิวเช็กอินล่วงหน้า 2-3 ชั่วโมงอีกแล้ว
หุ่นยนต์ ผู้ช่วยจำเป็นในสนามบิน
ใครที่ติดตามข่าวคราวแวดวงการบินอยู่เสมอคงทราบดีว่า มีหลายสนามบินเริ่มสั่งซื้อหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในปี 2018 เห็นเด่นชัดที่สุดคือ Troika หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติรุ่นล่าสุดจากค่าย LG ที่เข้ามามีบทบาทให้บริการผู้โดยสารภายในสนามบินอินชอนในฐานะเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 ทางด้านสนามบินฮาเนดะ ประเทศญี่ปุ่น ก็ริเริ่มนำเอาเจ้า EMIEW3 หุ่นยนต์ค่าย Hitachi เข้ามาใช้ทดสอบทำงานในสถานที่จริงแล้วเช่นกัน
ประเทศไทยเองก็มีความคืบหน้าไม่ยิ่งหยอก ไม่กี่วันที่ผ่านมา การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยออกมาแถลงข่าวถึงแผนการปรับโฉมสนามบินสุวรรณภูมิสู่สมาร์ทแอร์พอร์ต คาดว่าภายในกลางเดือนเมษายนจะเปิดตัวเทคโนโลยีหุ่นยนต์อัจฉริยะเข้ามาใช้งานเป็นครั้งแรก โดยเริ่มจากหุ่นยนต์ทำความสะอาด และจะพิจารณานำหุ่นยนต์ช่วยเหลือผู้โดยสารเข้ามาใช้ในอนาคต จากนั้นจะขยายไปให้ครบทั้ง 28 สนามบินทั่วประเทศ
อินเทอร์เน็ตบนอากาศมีให้บริการฟรี
ในยุคที่มนุษย์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเสมือนอากาศไว้หายใจ Wi-Fi on Board หรืออินเทอร์เน็ตไร้สายระหว่างไฟลต์บินเป็นเรื่องที่นักเดินทางหลายคนต้องการ ทว่าค่าบริการก็ชวนให้กระเป๋าแห้งเสียง่ายๆ ในปี 2018 แน่นอนว่ารูปแบบการให้บริการนี้ยังอยู่ แต่จะเป็นมิตรต่อกระเป๋าสตางค์มากขึ้น หลายสายการบินเริ่มหันมาให้บริการฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทว่าต้องอยู่ในปริมาณที่กำหนด เริ่มตั้งแต่สายการบินใหญ่ๆ อย่าง Emirates, Qatar Airways, Turkish Airlines ไปจนถึงสายการบินต้นทุนต่ำ Nok Air เชื่อว่าภายในปี 2018 คงมีหลายสายการบินที่กระโจนลงร่วมวงนี้ด้วย
เมื่อสนามบินเป็นมากกว่าสถานที่ไว้ขึ้นเครื่อง
หลังจากเปิดตัว Terminal 4 อาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ล่าสุดของสนามบินนานาชาติชางฮี (Changi Airport) ประเทศสิงคโปร์ การพักรอไฟลต์ขึ้นเครื่องก็กลายเป็นสิ่งที่น่าสนุกในทันที ด้วยไม่ได้มีแค่สินค้าปลอดภาษีไว้ช้อปปิ้งเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ให้ทำอีกมากมาย เช่น ถ่ายรูปกับดอกทานตะวันบนชั้นดาดฟ้า ชมผีเสื้อในสวนสวยกว่าพันตัว เล่นเกมโปรดกับตู้เกม Xbox ฯลฯ จริงๆ การปรับเปลี่ยนหน้าตาของสนามบินให้มีลักษณะเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น มีหลายสนามบินเริ่มทำมาสักพักแล้ว แต่มาเห็นเด่นชัดมากที่สุดที่สนามบินชางฮี แม้ว่าก่อนหน้านี้สนามบินนานาชาติอินชอนจะสร้างความฮือฮามาแล้วครั้งหนึ่งด้วยการให้บริการโรงภาพยนตร์และสถานเสริมความงาม ตลอด 24 ชั่วโมง
ในปี 2018 เราเชื่อว่าจะมีอีกหลายสนามบินทั่วโลกปรับตัวเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น เช่น สนามบิน Atlanta และ Heathrow ก็นำกิมมิกการนับก้าวมาเล่น ด้วยการบอกว่าคุณจะต้องเดินทั้งหมดกี่ก้าวจากจุดเช็กอินจนถึงหน้าประตูขึ้นเครื่อง สนามบิน Newark และ Houston ก็มีบริการสั่งอาหารจาก iPad ส่งตรงถึงหน้าประตูเกต ไว้ให้ผู้โดยสารนั่งกินระหว่างรอขึ้นเครื่อง โดยไม่จำเป็นต้องลุกไปไหน
การเปรียบเทียบค่าบัตรโดยสาร ทำได้ยากขึ้นกว่าเดิม
ด้วยอัตราการบินที่เพิ่มสูงขึ้น มีสายการบินต้นทุนต่ำมากมายเกิดขึ้นทั่วโลก บ้างก็มาในรูปแบบของไลฟ์สไตล์แอร์ไลน์ บ้างก็มาในรูปแบบอื่น การเกิดผู้เล่นหน้าใหม่ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา และเส้นทางการบินใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคที่เราจะได้เดินทางในราคาถูกลง แถมมีตัวเลือกมากขึ้น ทว่าราคาที่ถูกลงจากการทำโปรโมชันของสายการบินต้นทุนต่ำ เมื่อบวกเพิ่มนู่นนี่นั่นแล้ว อาจราคาต่ำกว่าฟูลเซอร์วิสช่วงทำโปรโมชันเพียงนิดเดียว
กรณีแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมากในปี 2017 และจะเกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิมในปี 2018 ราคาบัตรโดยสารจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการตัดสินใจของผู้บริโภค สายการบินต่างๆ จึงพยายามเพิ่มบริการพิเศษลงไป ยกตัวอย่างเช่น การบินไทยเพิ่มน้ำหนักโหลดกระเป๋าเป็น 30 กิโลกรัมในทุกไฟลต์ AirAsia Care Flight ของ Thai AirAsia ที่เปิดโอกาสให้ผู้โดยสารทำเรื่องเซอร์ไพรส์คนพิเศษ ผ่านเที่ยวบินที่ตนนั่ง หรือนกแอร์ที่มีบริการฉลองวันเกิดให้แก่ผู้โดยสารในเที่ยวบินนั้นพอดี ความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้แหละ ที่จะเป็นตัวเชือดเฉือนการตัดสินใจของผู้โดยสารควบคู่ไปกับราคา
ในปี 2018 นี้ยังจะมีหลายสิ่งอย่างเกิดขึ้นอย่างในวงการการบินนอกเหนือจากที่ได้กล่าวมา โดยเฉพาะภาพรวมของการท่องเที่ยวทางการอากาศบ้านเราจะคึกคักเป็นพิเศษ สายการบินต่างๆ จะเปิดเส้นทางการบินมากขึ้น เท่าที่เราทราบข่าวแว่วมา ก็มีทั้งการกลับมาบินตรงสู่ฮอกไกโดอีกครั้งของสายการบินต้นทุนต่ำสีแดงแห่งหนึ่ง การเปิดเส้นทางตรงสู่หัวเมืองของจีนอีก 19 เส้นทางของสายการบินสีเหลือง การสร้างสนามบินใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ที่รองรับเที่ยวบินจากยุโรปในอนาคต
เราขอให้คุณติดตามความคืบหน้าเอาไว้ให้ดี เพราะปีนี้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวทางอากาศและรับรองว่าจะมีโปรโมชันตั๋วถูกออกมาอีกเพียบ
อ้างอิง: