×
SCB Omnibus Fund 2024

ทำไม AirPay ถึงต้องรีแบรนด์ตัวเองเป็น ‘ShopeePay’?

25.03.2021
  • LOADING...
ทำไม AirPay ถึงต้องรีแบรนด์ตัวเองเป็น ‘ShopeePay’?

6 ปีที่แล้ว AirPay เริ่มเปิดตัวให้บริการครั้งแรกในประเทศไทยในฐานะ ‘e-Wallet’ หรือกระเป๋าสตางค์ออนไลน์ ซึ่งให้บริการภายใต้บริษัทแม่อย่าง Sea Group เติมเต็มการใช้งานด้วยบริการเกมออนไลน์ของบริษัทในเครืออย่าง Garena ที่มีอยู่อย่างมากมาย และประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมาก

 

ก่อนที่อีก 1 ปีถัดมา บริการของ AirPay จะได้รับความนิยมในระดับที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างทั่วถึงจากการที่เข้าไปจับโปรโมชันกับ ‘โรงภาพยนตร์’ จนทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวคนเริ่มเปิดใจและเปิดรับ (Adopted) ลองสมัครใช้งานวอลเล็ตของ AirPay กันอย่างแพร่หลาย

 

กระทั่ง Sea เริ่มเน้นทำตลาดแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ‘Shopee’ มากขึ้นเรื่อยๆ AirPay จึงได้เข้ามาเป็นอีกหนึ่งช่องทางการรับชำระเงินบนแพลตฟอร์มของพวกเขา เริ่มตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา และทำให้ในที่สุดปี 2021 นี้ Sea จึงตัดสินใจรีแบรนด์ดิ้ง AirPay เป็น ShopeePay อย่างเป็นทางการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา

 

คำถามสำคัญก็คือ ทำไม AirPay ที่ก็มีผู้ใช้งานมากระดับหนึ่งอยู่แล้วต้องรีแบรนด์ตัวเองเป็น ShopeePay ด้วย?

 

จุดประสงค์การเปลี่ยนจาก ‘ฟ้า’ เป็น ‘ส้ม’ ครั้งนี้แล้วเติมคำว่า ‘Pay’ พ่วงท้ายชื่อแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเดิมแบบดื้อๆ ของ ShopeePay ก็เพื่อเน้นปั้นแบรนด์ดิ้ง Shopee ให้เด่นชัดขึ้น เรียกง่ายๆ ว่าต่อไปนี้จะไม่มี AirPay อีกแล้ว ให้จำแค่ ‘One Brand’ คือ Shopee และวอลเล็ตของพวกเขาเท่านั้น 

 

ซึ่งการมี ShopeePay ก็จะทำให้ Ecosystem ของ Shopee แข็งแกร่งขึ้นรอบด้าน ครบครัน และมีอาวุธในการต่อกรกับคู่แข่งพร้อมมือ (อย่าลืมว่า Lazada วันนี้ก็มีระบบหลังบ้านทางการทำธุรกรรมที่หนุนหลังโดย AntGroup ส่วน Central JD ก็แน่นอนว่ามี JD Fintech เป็นอาวุธสำคัญ)

 

ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่เราเพิ่งมาเปลี่ยนจาก AirPay เป็น ShopeePay ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ใช้ ShopeePay มาตั้งแต่ต้นก็เป็นเพราะว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ Sea ส่งผลิตภัณฑ์อีวอลเล็ต (ตอนนั้นคือ AirPay) เข้ามาหยั่งเชิงในตลาดก่อนอีคอมเมิร์ซ (Shopee) นั่นเอง

 

ศุภวิทย์ หงส์อมรสิน ผู้อำนวยการ ช้อปปี้เพย์ ประเทศไทย ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่า ภาพรวมการทำธุรกรรมผ่านอีวอลเล็ตของ ShopeePay ทั้งภูมิภาคอาเซียนในช่วงไตรมาส 4 ปี 2020 ที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในระดับที่ดีมากๆ โดยมีมูลค่าการทำธุรกรรมรวมที่ 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีผู้ใช้งานรวมกว่า 23 ล้านราย และหากนับเฉพาะช่วงล็อกดาวน์จะพบว่าแพลตฟอร์มอีวอลเล็ตของพวกเขามีอัตราการเติบโตมากกว่า 4 เท่าตัวเลยที่เดียว

 

สำหรับเป้าหมายหลังจากรีแบรนด์เป็น ShopeePay ศุภวิทย์บอกไว้ว่า จะต้องดันอีวอลเล็ตของพวกเขาให้เติบโตขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของไทยให้ได้ภายใน 1-2 ปีนี้ โดยครอบคลุมทั้งในแง่จำนวนผู้ใช้งานและมูลค่าการทำธุรกรรมทั้งหมด และจะเน้นการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ร้านค้าออฟไลน์มากขึ้น เพื่อที่บริการของ ShopeePay จะได้ตอบสนองผู้บริโภคในวงกว้างมากที่สุด

 

ส่วนคำถามที่ว่า ‘สินเชื่อ’ จะเป็นอีกหนึ่งในสนามรบที่ ShopeePay จะบุกไปเหมือนอีวอลเล็ตเจ้าอื่นๆ หรือไม่นั้น หัวเรือใหญ่ ShopeePay บอกกับเราว่า “ยังไม่ได้มองในส่วนดังกล่าว” เนื่องจากตอนนี้จะเน้นให้ความสำคัญกับภาคดิจิทัลและการทำวอลเล็ตบนสมาร์ทโฟนเป็นหลัก

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising