หลังเหตุการณ์กรณีพิพาทระหว่างอินเดียและปากีสถานที่ลุกลามกลายเป็นเหตุการณ์ยิงเครื่องบินอินเดียตกเมื่อบ่ายวานนี้ รัฐบาลปากีสถานตัดสินใจประกาศ ‘ปิดน่านฟ้า’ แบบฉับพลัน ส่งผลให้หลายเที่ยวบินได้รับผลกระทบแบบทันด่วน บางลำตัดสินใจบินกลับ บางลำเลือกบินอ้อม ท่ามกลางความโกลาหลของการสับเปลี่ยนตารางบินกันอุตลุด หลายคนสงสัยว่าทำไมการบินไทยจึงตัดสินใจยกเลิกเที่ยวบินแทนการบินอ้อมน่านฟ้าดังเช่นสายการบินอื่นในละแวก ซึ่งแลดูง่ายและไม่กระทบต่อตารางชีวิตของผู้โดยสารเท่าไรนัก เก็บความกริ้วโกรธของคุณไว้ก่อน อย่าเพิ่งเอ่ยปากต่อว่า แล้วมาดูกันว่าทำไมหลายสายการบินจึงตัดสินใจยกเลิกเที่ยวบินแทนการดันทุรังบินอ้อมน่านฟ้า
น่านฟ้าใคร ใครก็หวง
อย่างที่ทราบกันว่าน่านฟ้าก็ไม่ต่างจากน่านน้ำ อยู่ในขอบเขตประเทศใด ประเทศนั้นก็หวง การจะบินผ่านน่านฟ้าใดต้องได้รับการอนุญาตก่อน จะขับเครื่องบินผ่านแบบสุ่มสี่สุ่มห้าก็อาจโดนสอยร่วง ซึ่งการขออนุญาตที่ว่าไม่ใช่ว่าโทรกริ๊งเดียวก็สามารถร่อนผ่านได้ทันที แต่ต้องทำเรื่องขออนุญาตที่เรียกว่า Overflight Permit กับกรมการบินพลเรือนของประเทศนั้นๆ ล่วงหน้า 30 วันในกรณีปกติ หรือ 2-3 วันในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งจะเร็วหรือช้านั้นก็อยู่ที่อำนาจต่อรองระหว่างประเทศด้วย และเมื่อได้รับการอนุญาตแล้ว ก่อนการบิน 2 ชั่วโมงต้องส่งแผนการบินล่วงหน้าเพื่อให้เจ้าหน้าที่สถานที่ปลายทางยืนยันอีกครั้งก่อนจึงจะขึ้นบินได้ ฉะนั้นการที่บางสายการบินอย่างสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส หรือนอร์วีเจียนแอร์ไลน์สามารถบินอ้อมได้ แสดงว่ามีการขออนุญาตเข้าน่านฟ้าไว้อยู่แล้ว
แม้จะอยู่บนฟ้า การสัญจรก็ติดขัดได้นะ
เมื่อมีการปิดน่านฟ้าและต้องเลือกบินอ้อม ไม่ว่าจะอ้อมบนหรืออ้อมล่างก็ย่อมส่งผลกระทบหลายอย่าง ท้องฟ้าที่เราเห็นว่าเวิ้งว้างไร้ขอบรั้ว แท้จริงแล้วมีการกำหนดเส้นทางบินคล้ายถนนไว้เหมือนกัน การจะใช้เส้นทางบินไม่ใช่ดุ่มๆ เข้าเสียบเหมือนรถบนถนน ต้องมีการจองล่วงหน้าเพื่อดูความหนาแน่นของการจราจรว่าใครบินผ่านเวลาไหนที่ความสูงใด เพราะการบินในระยะประชิดมากไปอาจทำให้เกิดกระแสอากาศปั่นป่วนจากเครื่องบินลำหน้า ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ได้ไม่คุ้มเสีย ทั้งหมดก็เพื่อความปลอดภัย
ทีนี้เมื่อมีการปิดน่านฟ้าของประเทศหนึ่ง การที่เราซึ่งเป็นขาจรจะขอเลี่ยงใช้เส้นทางอื่นที่มีขาประจำอยู่แล้ว ใช่ว่าทุกลำที่เข้าไปใช้ถนนเส้นนั้นได้ ต้องดูการจราจรว่าหนาแน่นเพียงใด ถ้าถนนเต็มก็อด ฉะนั้นในช่วงเวลาที่น่านฟ้าถูกปิดแล้ว และเรากำลังบินเคว้งคว้างในอากาศ ถนนเส้นเดิมก็บินไม่ได้ เส้นใหม่ก็เต็ม จะหาเส้นอื่นก็ไม่รู้ว่าจะทันเวลาไหม การยกเลิกไฟลต์หรือเลือกบินวกกลับมาจอดยังท่าอากาศยานเดิมจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดกับผู้โดยสารทั้งลำ
บนฟ้าไม่มีปั๊มน้ำมันให้แวะเติม
แม้บนเครื่องบินทุกลำจะมีน้ำมันสำรองฉุกเฉินชนิดบินกลับได้ 1 รอบ ทว่าการบินออกนอกเส้นทางเดิมที่กำหนดอาจทำให้ต้องใช้น้ำมันเยอะกว่าเดิม หลายสายการบินต้องทำเรื่องขอลงจอดเติมน้ำมันสำรองในประเทศที่ 3 หรือ 4
ขอให้นึกภาพตาม สมมติว่ามีเที่ยวบินภูเก็ต-เชียงใหม่ด้วยเครื่องบินลำหนึ่ง ซึ่งปกติการสำรองน้ำมันจะสามารถเดินทางไปกลับได้พอดี ทว่าอยู่ดีๆ เส้นทางการบินเดิมก็ไม่สามารถบินผ่านได้ ต้องบินอ้อมแวะไปทางตราด จากน้ำมันเดิมที่คำนวณว่าพอดีกลับไม่เพียงพอเสียอย่างนั้น สิ่งที่ทำได้คือต้องหาสนามบินลงจอดเพื่อเติมน้ำมัน ถ้าหาได้ก็เป็นเรื่องน่ายินดี แต่ถ้าหาไม่ได้ ยอมดันทุรังบินต่อแล้วน้ำมันหมดกลางทางหรือหมดฉุกเฉินระหว่างรอหอบังคับการบินจัดคิวเครื่องลงจอดจะทำอย่างไร
บนฟ้าไม่มีปั๊มน้ำมันเปิดให้บริการเหมือนการสัญจรบนถนน การลงจอดเพื่อแวะเติมน้ำมันแต่ละครั้งไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการน้ำมันเพียงอย่างเดียว แต่ยังอยู่ที่ความหนาแน่นของการสัญจร ปัญหาถนนเต็มอย่างที่กล่าวมาข้างต้น หรือช่องลงจอด รวมไปถึงค่าใช้จ่ายและเงื่อนไขต่างๆ อีกมากมาย
ท่ามกลางความโกลาหลของสายการบินพาณิชย์จากเหตุการณ์ปิดน่านฟ้าของปากีสถาน คุณสามารถตั้งคำถามกับการบริหารจัดการแก้ปัญหาของสายการบินต่างๆ ได้ ทว่าก่อนก่นด่าหรือเกรี้ยวกราดกับสิ่งใดนั้น ขอให้หันมาดูข้อเท็จจริงสักนิดว่าโลกของการบินบนท้องฟ้าไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิด แต่ถูกควบคุมด้วยกฎและข้อบังคับต่างๆ มากมาย ไม่มีสายการบินใดอยากวกกลับหรือยกเลิกเที่ยวบิน เพราะนั่นส่งผลต่อการสูญเสียเม็ดเงินมหาศาล
ใครที่มีเที่ยวบินไปยุโรปช่วงนี้ แนะนำให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และทางที่ดีก็ควรซื้อประกันการเดินทางติดกระเป๋าไว้ด้วย จะได้อุ่นใจหรือมีทางแก้มากขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกี่ยวกับการเดินทาง
อ่านเพิ่มเติม
- เดือด! ปากีสถานยิงเครื่องบินรบอินเดียร่วง 2 ลำ ตอบโต้อินเดียรุกล้ำน่านฟ้าโจมตีกลุ่มก่อการร้าย
- เกิดเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ในแคชเมียร์ คร่าชีวิตทหารอินเดียอย่างน้อย 44 นาย
- ตึงเครียด! ปากีสถานโวยอินเดีย หลังส่งเครื่องบินรบล่วงล้ำน่านฟ้า หมายโจมตีทางอากาศใส่กลุ่มก่อการร้าย
ภาพ: Shutter Stock
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- en.wikipedia.org/wiki/Flight_permit
- www.airports.go.th/rbm/traffic%20right.pdf
- www.aerothai.co.th/sites/default/files/files/related-laws/กฏหมายการเดินอากาศระหว่างประเทศ%20%28อนุสัญญาชิคาโก%20ค.ศ.1944%29_1.pdf
- www.facebook.com/ThaiAirways.TH/photos/a.629441047162126/1840323712740514/?type=3&theater
- www.facebook.com/thaipilotwannabe/photos/a.1288773337801695/2346132475399104/?type=3&theater