ธุรกิจการบินหวนกลับมาเผชิญความเสี่ยงอีกครั้ง เมื่อประกาศจาก ศบค. ล่าสุด ได้สั่งห้ามการเดินทางภายในประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุม ส่งผลให้สายการบินไม่สามารถให้บริการการเดินทางภายในประเทศได้ อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่แผลแรกของกลุ่มการบิน แต่เป็นการบอบช้ำในแผลเดิม หลังจากที่ต้องหยุดให้บริการเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน (เดือนเมษายน-กันยายน) ในปี 2563
ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ มองว่า กลุ่มการบินกำลังเผชิญปัญหาเรื่องสภาพคล่องอย่างหนัก ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยต้นทุนหลักๆ ที่เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายประจำคือ ต้นทุนเงินเดือนพนักงาน ซึ่งล่าสุดสมาคมสายการบินประเทศไทยได้รวมตัวกันเพื่อสอบถามถึง Soft Loan จากรัฐบาล และมาตรการช่วยเหลือเพื่อพยุงธุรกิจ
ทางออกของกลุ่มสายการบินรอบนี้คือการเร่งเสริมสภาพคล่องให้กับแต่ละบริษัท โดยรัฐควรให้ความช่วยเหลือและควรเป็นหลักประกันให้กับผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ติดตามข้อมูลจะพบว่า แต่ละบริษัทสายการบินได้ดำเนินการปรับโครงสร้างทางการเงินมาต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่อง
โดย AAV ให้ข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัทมีแผนปรับโครงสร้างบริษัท ซึ่งได้แก่
- การแปลงหนี้ทางการค้าของ Air Asia Investment Limited จำนวน 3,900 ล้านบาท เป็นทุน
- เงินทุนจากนักลงทุนใหม่ 3,150 ล้านบาท
- การเพิ่มทุน ทั้งในส่วนของผู้ถือหุ้น AAV และส่วนอื่นๆ
- การนำ AAV ออกจากตลาดหลักทรัพย์ โดยแลกเป็นหุ้น Thai AirAsia (TAA) แทน
AAV ระบุในเอกสารว่า จากแผนปรับโครงสร้างกิจการทั้งหมดครั้งนี้ จะได้เงินทุนรวมทั้งสิ้น 5,907 ล้านบาท
“สำหรับ AAV แม้จะมีสภาพคล่องมาเติม ก็อาจยังไม่พอกับต้นทุนและค่าใช้จ่ายประจำที่เป็นภาระอยู่ โดยเฉพาะเงินเดือนพนักงาน สถานการณ์ตอนนี้เรียกได้ว่าหนักมาก เพราะก่อนหน้า AAV และสายการบินอื่นๆ ยังสามารถให้บริการเดินทางภายในประเทศได้ แต่ล่าสุดตามประกาศของ ศบค. คือไม่สามารถให้บริการได้แล้ว เท่ากับไม่มีรายได้จากการโอเปอร์เรตเลย”
ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจสายการบินในปีนี้น่าจะย่ำแย่ลง โดยสถานการณ์ล่าสุดคือ กลุ่มสายการบินได้ทวงถามถึง Soft Loan จากรัฐบาล หลังจากที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องและมาตรการเยียวยาไปก่อนหน้านี้ แต่ ณ ปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ การทวงถามถึง Soft Loan เป็นเรื่องต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ยังไม่รวมความเสียหายจากการต้องแบกรับภาระทางการเงินที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ หลังจากที่ ศบค. ประกาศห้ามเดินทางระหว่างจังหวัดในกลุ่มจังหวัดพื้นที่สีแดง ส่งผลให้สายการบินไม่สามารถให้บริการเดินทางภายในประเทศได้ นั่นหมายความว่ากลุ่มสายการบินจะเกิดการเผาเงินสด (Burn Cash) ต่ออีก
“ที่น่ากังวลคือ AAV เพราะเป็นสายการบินที่แบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพนักงานค่อนข้างมาก ตั้งแต่เกิดโควิดระลอกแรก AAV ได้ประกาศแผนว่าจะไม่ลดจำนวนพนักงานมาตลอด เพิ่งจะมีการปรับจำนวนพนักงานเมื่อไม่นานมานี้”
นักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งดำเนินการโดย บมจ.การบินกรุงเทพ หรือ BA จะได้รับผลกระทบเรื่องการขาดสภาพคล่องน้อยกว่า เนื่องจากมีสินทรัพย์ที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นกระแสเงินสดค่อนข้างมาก เช่น การยกเลิกสัญญาเช่าระยะยาว ซึ่งมีสัญญาเช่าเหลือประมาณ 15.5 ปี กับกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย (SPF) ซึ่งจะทำให้ BA ได้เงินสดกลับมาราว 600-700 ล้านบาทต่อปี
“ยังมองว่าปีนี้กลุ่มการบินยังขาดทุนต่อเนื่อง และต้องใช้เวลาอีกระยะจึงจะฟื้นตัว อย่างน้อยสถานการณ์โควิดต้องคลี่คลาย และผู้คนต้องได้รับอนุญาตให้เดินทาง และประเมินว่า BA น่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าหุ้นอื่นในกลุ่มเดียวกัน เพราะมีสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสดได้มาก”
ทั้งนี้ ผลประกอบการ AAV ไตรมาส 1/64 ขาดทุนสุทธิ 1,864,58 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 178% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 671.48 ล้านบาท
ในไตรมาส 1/64 บริษัทมีรายได้รวม 1,350.8 ล้านบาท ลดลง 86% และมีค่าใช้จ่ายรวม 4,557.2 ล้านบาท ลดลง 58% จากการที่บริษัทไทยแอร์เอเชียมีจำนวนผู้โดยสาร 977,932 คน ลดลง 78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหดตัวไปในทิศทางเดียวกับปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารและปริมาณที่นั่ง
ขณะที่ผลประกอบการ BA ไตรมาส 1/64 ขาดทุนสุทธิ 745.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/63 ที่ขาดทุนสุทธิ 338.56 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้รวมงวดไตรมาส 1/64 ที่ 1,110.28 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1/63 ที่มีรายได้รวม 6,423.18 ล้านบาท