เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวานนี้ (7 เมษายน) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศเดือนมีนาคม 2563 ลดลง 73%YoY และข้อมูลเบื้องต้นในช่วงวันที่ 1-5 เมษายน 2563 ลดลง 99%YoY หมายความว่าแทบไม่มีผู้โดยสารระหว่างประเทศเลย
โดยจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่หดตัวลงอย่างมากในครั้งนี้เป็นผลมาจากมาตรการปิดประเทศจากทั่วโลกเพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการสายการบินบางรายทั้งไทยและต่างประเทศประกาศหยุดเส้นทางบินระหว่างประเทศ
กระทบอย่างไร:
นับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงวันนี้ (8 เมษายน) หุ้นสายการบินปรับตัวลงอย่างรุนแรง นำโดย
- บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) 57.50%YTD
- บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) 39.29%YTD
- บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) 33.53%YTD
- บมจ.การบินไทย (THAI) 29.34%YTD
หุ้นสนามบินอย่าง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ปรับตัวลง 23.57%YTD ขณะที่ SET Index ปรับตัวลง 23.68%YTD
เช็กสุขภาพหุ้นสายการบินท่ามกลางโควิด-19 โดย SCBS:
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนจากผลกระทบของโควิด-19 และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป SCBS มองว่าการสำรองสภาพคล่องเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตนี้ได้
โดย SCBS ได้ประเมินหุ้นกลุ่มการบินที่อยู่ในภายใต้การวิเคราะห์ของ SCBS ประกอบด้วย AOT, AAV และ THAI พบว่าหุ้นสนามบินอย่าง AOT มีสถานะที่แข็งแกร่ง โดยมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะสนับสนุนการดำเนินงานได้ราว 54 เดือน ขณะที่อัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนต่ำอยู่ที่ระดับ 0.1 เท่า
สำหรับกลุ่มหุ้นสายการบินอย่าง AAV และ THAI ค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดย AAV และ THAI มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะสนับสนุนการดำเนินงานราว 3.8 และ 5 เดือน ตามลำดับ สำหรับหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนของ AAV และ THAI ค่อนข้างสูงอยู่ที่ 3.3 และ 12.5 เท่า
มุมมองการลงทุนต่อหุ้นการบิน:
SCBS มีมุมมองระมัดระวังต่อหุ้นกลุ่มสายการบิน เนื่องจากจะเผชิญกับผลการดำเนินงานที่ขาดทุนทั้งปี 2563 ขณะที่หุ้นสนามบินอย่าง AOT ยังคงน่าสนใจกว่า ด้วยสถานะทางการเงินที่มั่นคงและปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง จะช่วยให้บริษัทฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยฟื้นตัว
ทั้งนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจสร้างความผันผวนต่อภาพรวมการลงทุนต่อไป ดังนั้นนักลงทุนต้องติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน หากเริ่มเห็นจำนวนที่ลดลงก็จะช่วยคลายความกังวลต่อภาพรวมการลงทุนได้
รวมถึงต้องติดตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง ตลอดจนยังต้องติดตามมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากทั่วโลก ซึ่งจะช่วยสร้างเซนทิเมนต์เชิงบวกต่อภาพรวมการลงทุน และบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
ข้อมูลเพิ่มเติม:
ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีได้ออกมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้ประกอบการสายบิน ได้แก่
- ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินสำหรับเที่ยวบินในประเทศลงสู่ 0.2 บาทต่อลิตร เดิม 4.726 บาทต่อลิตร
- ลดค่าขึ้นลงและจอดอากาศยานลง 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ และ 20% สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ทำการบินเข้าหรือออกประเทศกลุ่มเสี่ยง
- ลดค่าเช่าสำนักงานสายการบิน
- ลดค่าบริการจราจรทางอากาศ 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ และ 20% สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ทำการบินเข้าหรือออกประเทศกลุ่มเสี่ยง
- ลดค่าธรรมเนียมการเดินทางเข้าและออกนอกประเทศเป็นคนละ 10 บาท เดิม 15 บาท สำหรับเที่ยวบินที่ทำการบินเข้าหรือออกประเทศกลุ่มเสี่ยง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์