×

‘ธุรกิจสายการบินแห่งชาติ’ บินได้ไกลแค่ไหนในปี 2019

15.11.2019
  • LOADING...

ใครจะไปเชื่อว่า ‘ธุรกิจสายการบิน’ ที่ดูเหมือนจะเฟื่องฟูจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและความต้องการเดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่ใหม่ๆ ของคน Gen Y แท้จริงแล้วกำลังอยู่ในภาวะ ‘กลืนไม่เข้าคายไม่ออก’ แม้จะมีรายได้และกำไรอยู่ก็จริง หากอยู่ในสถานการณ์ที่ตัวเลขกำลังอยู่ในช่วงขาลง

 

ข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่าถึงแม้จำนวนผู้โดยสารจะเติบโต 5% (ลดลงจาก 7.4% ในปี 2018) เป็น 4.6 พันล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 4.4 พันล้านคนในปี 2018 และทำให้มีรายได้รวม 8.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 26 ล้านล้านบาท 

 

หาก IATA ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์แนวโน้มกำไรของอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศทั่วโลกในปี 2019 เหลือ 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8.46 แสนล้านบาท ลดลงจากที่ประเมินไว้ในเดือนธันวาคม 2018 จะมีกำไร 3.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 1 ล้านล้านบาท 

 

สาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น คาดปีนี้จะมีราคาอยู่ที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น 27.5% เมื่อเทียบกับปี 2017 โดยค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจะคิดเป็น 25% ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (เพิ่มขึ้นจาก 23.5% ในปี 2018) 

 

ขณะเดียวกันยังเจอปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งมีการประเมินว่าต้องการนักบินเพิ่ม 255,000 คนภายในปี 2027 เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าใน 20 ปี และสงครามการค้าโดยเฉพาะสหรัฐฯ-จีน ที่นับวันจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจนอาจส่งผลกระทบต่อทั้งอุปสงค์และอุปทาน

 

ทำให้ในปี 2019 ค่าใช้จ่ายโดยรวมนั้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 7.4% ซึ่งสูงกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น 6.5% การเพิ่มขึ้นที่ไม่สัมพันธ์กันนี้ได้เข้าไปกดดันกำไรสุทธิจนเติบโตเพียง 3.2% น้อยกว่าปี 2018 ที่ทำได้ 3.7% ขณะที่กำไรต่อผู้โดยสารจะเหลือ 6.12 ดอลลาร์สหรัฐ ราว 184.88 บาท จากปี 2018 ที่ทำได้ 6.85 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 206.93 บาท

 

เพื่อให้เห็นภาพสถานการณ์ของแต่ละสายการบิน THE STANDARD จึงหยิบผลประกอบการในปี 2019 ของสายการบินบางแห่งที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘สายการบินแห่งชาติ’ เพื่อดูว่าตัวเลขรายได้และกำไรเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม บางสายการบินจะเป็นงบ 6 เดือนหรืองบ 9 เดือน ด้วยแต่ละแห่งวางปีงบประมาณไม่เหมือนกัน

 

 

Japan Airlines

เริ่มต้นด้วยสายการบินแห่งชาติของแดนซามูไร ‘Japan Airlines’ รายงานผลประกอบการ 6 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2019 แจ้งรายได้จากการดำเนินงาน 7.598 แสนล้านเยน หรือ 2.11 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 3.9% เป็น 6.785 แสนล้านเยน ประมาณ 1.87 แสนล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิลดลง 29% จาก 7.6 หมื่นล้านเยน เหลือ 5.4 หมื่นล้านเยน หรือ 1.5 หมื่นล้านบาท

 

Japan Airlines อธิบายว่าสาเหตุมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนระหว่างสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน เป็นผลทำให้ผู้โดยสารระหว่างประเทศมีน้อยลง รายได้จึงน้อยลง 1.2% รวมไปถึงเส้นทางฮ่องกงและเกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังมีค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้การปรับประเมินรายได้ใหม่จะลดลง 4.7 หมื่นล้านเยน เติบโตเพียง 3% คิดเป็นรายได้รวม 1.516 ล้านล้านเยน ส่วนกำไรยังประเมินไว้ที่ 1.14 แสนล้านเยนเท่าเดิม

 

Singapore Airlines

อีกหนึ่งสายการบินแห่งชาติของสิงค์โปร์ที่มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งมาตลอด ‘Singapore Airlines’ รายงานผลประกอบการ 6 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2019 แจ้งรายได้รวม 8,325 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 1.846 แสนล้านบาท เติบโต 5.3% ส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายรวม 7,912 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ประมาณ 1.754 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% ส่งผลให้มีกำไรจากการดำเนินงานลดลง 3.1% เหลือ 413 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ แต่โดยรวมแล้วมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5.1% จาก 196 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เป็น 206 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 4.567 พันล้านบาท 

 

Singapore Airlines แจ้งว่าแม้จะมีรายได้จากผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 514 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เติบโต 8.2% แต่มีรายได้จากการขนส่งสินค้าลดลง 12.5% เหลือ 138 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เนื่องจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และการส่งออกที่ชะลอตัวจากประเทศผู้ผลิตสำคัญในยุโรปและเอเชีย นอกจากนี้ยังต้องบันทึกผลงานดุลการขาดดุลปฏิบัติการ 19 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หลังจากต้องหยุดบิน Boeing 737 MAX จำนวน 8 ลำ

 

Cathay Pacific

ต้องบอกว่าสายการบินแห่งชาติของฮ่องกง ‘Cathay Pacific’ กำลังอยู่ในภาวะพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรกอย่างแท้จริง เพราะถึงแม้ช่วงครึ่งปีแรกภาพรวมของทั้งกลุ่มจะมีรายได้ 53,547 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือ 206,540 ล้านบาท เติบโต 0.9% ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้น 5.6% แต่มีรายได้จากการขนส่งสินค้าลดลง 11.4% เนื่องจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน 

 

มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 52,493 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ประมาณ 202,470 ล้านบาท ลดลง 1.7% คิดเป็นกำไรสุทธิ 1,347 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือ 5,195 ล้านบาท เติบโต 1,696% หลังจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนติดลบ 75 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

 

แต่การประท้วงในฮ่องกงซึ่งกินเวลามายาวนานหลายเดือนส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจของ Cathay Pacific ซึ่งปกติแล้วครึ่งปีหลังจะทำผลงานได้ดีกว่าครึ่งปีแรก ข้อมูลผลประกอบการเฉพาะเดือนตุลาคมที่ผ่านมาพบว่ามีผู้โดยสารลดลง 7.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยได้ลดความจุเที่ยวบินผู้โดยสาร (Passenger Flight Capacity) ลงจากตารางเดิม 2-4% ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม และ 6-7% ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม โดยคาดว่าผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังจะต่ำกว่าครึ่งปีแรกอย่างมาก

 

Emirates Airlines

ต่อกันที่ ‘Emirates Airlines’ ซึ่งเป็นชื่อที่คุ้นหูของคนไทย และเป็นสายการบินแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่งประกาศผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรก สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2019 พบว่ามีรายได้ 5.33 หมื่นล้านเดอร์แฮมสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือประมาณ 438,253 ล้านบาท ลดลง 2% เนื่องจากมีการปิดรันเวย์ส่วนใต้ 45 วันที่สนามบินนานาชาติดูไบ และอัตราแลกเปลี่ยนในยุโรป ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ อินเดีย และปากีสถาน

 

แต่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 8% เป็น 1.2 พันล้านเดอร์แฮมสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ราว 9,870 ล้านบาท เนื่องจากการลดลงของราคาเชื้อเพลิง 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่กำไรจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลงถูกชดเชยบางส่วนจากการเคลื่อนไหวของค่าเงิน

 

เมื่อเจาะเฉพาะผลประกอบการของสายการบิน Emirates Airlines จะพบว่ามีรายได้ลงลง 3% คิดเป็นตัวเลข 4.73 หมื่นล้านเดอร์แฮมสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประมาณ 389,052 ล้านบาท แต่มีกำไรเติบโตถึง 282% คิดเป็นตัวเลข 862 ล้านเดอร์แฮมสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ราว 7,090 ล้านบาท เนื่องจากมีจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 7.9%

 

การบินไทย

ปิดท้ายด้วยสายการบินแห่งชาติของบ้านเรา ‘การบินไทย’ เพิ่งแจ้งผลประกอบการไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อคืนที่ผ่านมา (14 พฤศจิกายน) โดยระบุผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2019 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2019 มีรายได้รวมจํานวน 137,316 ล้านบาท ลดลง 11,342 ล้านบาท หรือ 7.6% สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากการขนส่งลดลง 8.6% คิดเป็นตัวเลข 11,655 ล้านบาท โดยในส่วนของรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกินลดลง 7.1% มีสาเหตุหลักจากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารลดลง 3%

 

ค่าใช้จ่ายรวมจํานวน 148,098 ล้านบาท ลดลง 3,467 ล้านบาท หรือ 2.3% โดยค่าน้ำมันเครื่องบินลดลง 5.5% หรือ 2,384 ล้านบาท ตามราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ลดลง 7.6% และค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานไม่รวมน้ำมันลดลง 974 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกันแล้วมีการขาดทุนสุทธิ 11,102 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 7,066 ล้านบาท หรือ 175.1% 

 

การบินไทยระบุในเอกสารที่ส่งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า จากสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อผลประกอบการโดยรวม จึงกำหนดกลยุทธ์เร่งด่วนในการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ 6 กลยุทธ์ เช่น การควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ, การลดปริมาณของเหลือใช้, การรุกตลาดใหม่ และเพิ่มรายได้โดยใช้ Digital Marketing ฯลฯ

 

 

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร

อ้างอิง: 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising