วิกฤตโควิด-19 สร้างความท้าทายให้กับอุตสาหกรรมการบินอย่างมาก เราได้ยินข่าวการทยอยยื่นขอล้มละลายหรือปรับโครงสร้างธุรกิจของสายการบินหลายแห่ง เพราะพิษโรคระบาดที่นำไปสู่การล็อกดาวน์และปิดพรมแดนของรัฐบาลทั่วโลก ทำให้ดีมานด์การเดินทางทางอากาศลดฮวบลงจนส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ ไม่เว้นแม้แต่ตลาดเอเชียแปซิฟิกที่มีศักยภาพการเติบโตสูง ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาเกี่ยวกับอนาคตของ Airbus ในฐานะผู้ผลิตเครื่องบินป้อนอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก
เมื่อหลายประเทศเริ่มคลายล็อกดาวน์และปลดล็อกให้สายการบินต่างๆ เริ่มกลับมาให้บริการได้อีกครั้ง ทำให้ Airbus ต้องเร่งสร้างความมั่นใจในการเดินทางทางอากาศเพื่อฟื้นดีมานด์ ขณะที่ทางผู้บริหารและทีมงาน Airbus เผยว่า กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด รวมถึงเรื่องคุณภาพอากาศภายในห้องโดยสารบนเครื่องบิน
THE STANDARD มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์กลุ่มผ่านทางวิดีโอคอลกับ อานันท์ สแตนลีย์ ประธาน Airbus ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งได้มาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินทางด้วยเครื่องบินในช่วงที่ผู้คนวิตกการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะคุณภาพอากาศภายในห้องโดยสารซึ่งเป็นปัญหากังวลลำดับต้นๆ
Airbus มั่นใจมาตรการต่างๆ ช่วยให้ผู้โดยสารกลับมาเดินทางได้อย่างปลอดภัย
ตามที่สายการบินต่างๆ เริ่มกลับมาให้บริการอีกครั้ง Airbus ในฐานะผู้ผลิตเครื่องบินแสดงความเชื่อมั่นว่าภาคการบินได้กำหนดชุดมาตรการที่สำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าผู้โดยสารจะกลับมาเดินทางทางอากาศได้อย่างปลอดภัย
อานันท์ สแตนลีย์ กล่าวว่า มาตรการด้านความปลอดภัยในการเดินทางทางอากาศเป็นผลมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการบินกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA), องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO), สภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (ACI) ซึ่งจับมือกับหน่วยงานกำกับดูแลสายการบิน ท่าอากาศยาน และผู้ผลิตอากาศยาน
สแตนลีย์อธิบายว่า ขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางต่างๆ จะเริ่มต้นที่สนามบิน ซึ่งมีข้อกำหนดในการเข้าไปยังอาคารผู้โดยสาร การตรวจเช็กอุณหภูมิร่างกาย และลดการสัมผัสกับผู้อื่นให้น้อยลงในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเช็กอินไปจนถึงขั้นตอนการขึ้นเครื่องบริเวณเกตทางเข้า
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล (Social Distancing) ที่เหมาะสม ขณะที่สายการบินต่างๆ ได้นำข้อกำหนดในการขึ้นเครื่องและลงเครื่องแบบใหม่มาใช้ รวมถึงการออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการถือสัมภาระขึ้นเครื่องเพื่อหลีกเลี่ยงการติดขัดภายในเครื่องบิน
แต่สิ่งที่สร้างความกังวลให้กับผู้โดยสารอย่างมาก คืออากาศภายในห้องผู้โดยสาร เพราะเมื่อผู้โดยสารอยู่รวมกันบนเครื่องบินเป็นเวลานาน อาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อหากมีผู้ป่วยติดเชื้อที่อยู่บนนั้น
ซึ่งข้อนี้สแตนลีย์อธิบายเพิ่มเติมว่า สภาพแวดล้อมภายในห้องโดยสารของเครื่องบิน Airbus มีความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายน้อยมาก เพราะในเครื่องบินมีระบบระบายอากาศและการกรองอากาศขั้นสูง
อากาศใหม่หมุนเวียนทุก 2-3 นาที
อากาศที่สะอาดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการออกแบบห้องโดยสารของ Airbus สแตนลีย์กล่าว “Airbus คำนึงถึงเรื่องการไหลของอากาศ ความดันอากาศ อุณหภูมิ และคุณภาพของอากาศที่ต้องควบคุมอย่างต่อเนื่อง”
เขาอธิบายเสริมว่า “อากาศภายในห้องโดยสารจะผ่านการฟอกครบทุกขั้นตอนและหมุนเวียนใหม่ในทุกๆ 2-3 นาที ดังนั้นคุณภาพของอากาศภายในห้องโดยสารจึงสะอาดเทียบเท่ากับห้องผ่าตัดในโรงพยาบาล”
หลักการก็คืออากาศที่เข้าสู่ห้องโดยสารจะผ่านช่องระบายอากาศที่อยู่ใกล้กับช่องสัมภาระเหนือศีรษะและไหลลงที่ต่ำในแนวดิ่งที่อัตรา 1 เมตรต่อวินาที ทิศทางการไหลของอากาศที่ลงต่ำในแนวดิ่งนี้จะช่วยเลี่ยงไม่ให้อากาศภายในห้องโดยสารเคลื่อนที่ในแนวขวาง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อและปนเปื้อนระหว่างผู้โดยสาร
จากนั้นอากาศจะถูกนำออกจากห้องโดยสารโดยผ่านช่องระบายอากาศที่ระดับพื้นทางเดินผู้โดยสาร และผ่านแผงกรองอากาศชนิดประสิทธิภาพสูง (HEPA) โดยขั้นตอนนี้จะช่วยกำจัดอนุภาคต่างๆ ภายในห้องโดยสาร รวมถึงไวรัสและแบคทีเรีย เช่น ไวรัสโคโรนาที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ได้มากกว่าร้อยละ 99.9
จากนั้นอากาศที่ผ่านกระบวนการกรองแล้วจะถูกผสมกับอากาศบริสุทธ์ิที่ดึงมาจากภายนอกเครื่องบินก่อนจะนำเข้ามาสู่ห้องโดยสาร ซึ่งถือเป็นกระบวนการรีไซเคิลอากาศ ซึ่งระยะทางในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการบินระยะไกลหรือบินระยะใกล้ ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศภายในห้องโดยสาร เพราะมีการหมุนเวียนอากาศอยู่ตลอดเวลา
นอกจากอากาศที่มีคุณภาพดีแล้ว มาตรการรักษาความสะอาดบนเครื่องบินก็เป็นอีกสิ่งที่อุตสาหกรรมให้ความสำคัญ โดยข้อปฏิบัติในการดูแลรักษาความสะอาดเครื่องบินจะครอบคลุมทั้งห้องโดยสาร ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์บริเวณรอบเก้าอี้โดยสารในแต่ละที่นั่ง ห้องเตรียมอาหาร ไปจนถึงห้องสุขา
โดยขั้นตอนการทำความสะอาดนั้นจะเป็นไปตามข้อกำหนดของหน่วยงานที่กำกับดูแลและใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ใช้เฉพาะ ซึ่งต้องผ่านการอนุมัติจากผู้ผลิตเครื่องบินแล้วเท่านั้น
ส่วนผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้ในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อนั้นจะสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ยาวนานขึ้นสูงถึง 5 วัน นอกจากนี้สายการบินยังแนะนำมาตรการป้องกันชั่วคราวเพิ่มเติมให้กับผู้โดยสารและลูกเรือ ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัยในระหว่างที่อยู่บนเครื่องบิน และการจัดระเบียบการรักษาระยะห่างของผู้โดยสารภายในห้องโดยสารตั้งแต่ตอนขึ้นเครื่อง ระหว่างโดยสาร และลงจากเครื่องบิน
ในส่วนของสนามบินนั้น Airbus มองว่า ไทยมีสนามบินระดับโลก มีมาตรการป้องกันโรคระบาดที่เข้มงวด ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิ การลดการสัมผัสกับผู้โดยสารทุกขั้นตอน การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และการจัดการขั้นตอนจำกัดจำนวนผู้โดยสารต่างๆ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
สแตนลีย์กล่าวทิ้งท้ายว่า มาตรการด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยทั้งหมดที่ดำเนินการนั้นทำให้แน่ใจได้ว่าผู้โดยสารและลูกเรือจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและได้ประสบการณ์ที่ครบวงจร และสร้างความมั่นใจว่าการเดินทางทางอากาศจะยังคงเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด แม้ในช่วงเวลานี้ที่มีความท้าทายมากที่สุดก็ตาม
ในช่วงตอบถาม-ตอบสื่อมวลชนนั้น THE STANDARD ได้ถามสแตนลีย์ว่า จะต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าที่ความเชื่อมั่นของผู้โดยสารจะกลับมาอีกครั้ง และในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ทาง Airbus ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากน้อยเพียงใด ในฐานะผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ที่เผชิญกับความท้าทายที่สายการบินหลายแห่งทั่วโลกประสบปัญหาการดำเนินงานและเสี่ยงล้มละลาย ซึ่งอาจกระทบต่อยอดการสั่งซื้อเครื่องบิน
สแตนลีย์ตอบว่า ผลกระทบด้านยอดขาย ยอดการเติบโต และความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยนั้นมีความเกี่ยวข้องกัน ทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับการสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความปลอดภัยบนเครื่อง ดังนั้น Airbus จึงเชื่อว่าต้องเร่งสื่อสารเรื่องความปลอดภัยให้เข้าถึงผู้คนในวงกว้าง ซึ่งถ้าทำได้ยิ่งเร็ว ก็จะทำให้ความเชื่อมั่นกลับมาได้เร็วยิ่งขึ้น
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ Airbus พยายามชี้ให้เห็นถึงความปลอดภัยและคุณภาพอากาศภายในห้องโดยสาร รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่เข้มงวดของทั้งสายการบินและสนามบินต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้โดยสารกลับมาเดินทางด้วยเครื่องบินอีกครั้ง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า