‘ราคาตั๋วพุ่งแพง แต่ค่าแรงตามไม่ทัน’ เชื่อว่าคนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวด้วยการโดยสารเครื่องบินคงจะได้รับรู้ถึงราคาค่าตั๋วการเดินทางต่อเที่ยวโดยอากาศยานที่ปรับราคาสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา
ภายใต้ความกดดันด้านค่าครองชีพจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน AirAsia MOVE หรือเดิมชื่อ airasia Superapp รีแบรนด์ใหม่อีกครั้งในประเทศไทย ด้วยกลยุทธ์ธุรกิจที่เน้นความคุ้มค่า เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของนักเดินทาง ให้ทุกคนเข้าถึงการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น พร้อมมุ่งสู่แพลตฟอร์ม OTA (ตัวแทนด้านการจองท่องเที่ยวออนไลน์) ที่ครอบคลุม ด้วยคอนเซปต์ ‘เที่ยวคุ้ม เดินทางครบ จบในแอปเดียว’
นาเดีย โอมาร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AirAsia MOVE กล่าวว่า “เราไม่อยากเห็นสถานการณ์ที่คนส่วนมากต้องรอเกือบปีกว่าจะวางแผนการเที่ยวสักครั้ง แต่เราอยากเห็นผู้คนออกไปใช้ชีวิต ไปพักผ่อน ไปค้นหาตัวเอง ได้บ่อยครั้งมากกว่านั้น ทาง AirAsia MOVE จึงให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าด้วยดีลท่องเที่ยวที่มอบราคาที่ดีที่สุดให้กับนักท่องเที่ยว”
ทีนี้คำถามที่ตามมาคือ แล้ว AirAsia MOVE มีกลยุทธ์อย่างไรที่จะทำให้พวกเขาแตกต่างจากตัวแทนการจองท่องเที่ยวออนไลน์เจ้าอื่น?
ปัจจัยความแตกต่างที่เอื้อให้บริษัทสามารถเสนอราคาบริการ ไม่ว่าจะเป็นการจองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก รถโดยสาร และอื่นๆ ในราคาที่คุ้มค่าได้คือ กลยุทธ์ App-Exclusive Pricing หรือการเสนอบริการราคาพิเศษเฉพาะบนแอปพลิเคชัน ที่เกิดขึ้นได้เพราะเครือข่ายพาร์ตเนอร์จำนวนมาก
“AirAsia MOVE จับมือกับสายการบินหลายรายเพื่อสร้างรายได้เสริมนอกเหนือจากค่าบัตรโดยสาร (Ancillary Revenue) โดยในยุคที่ราคาพลังงานพุ่งสูง หนทางเดียวที่สายการบินจะรักษาระดับราคาให้ไม่สูงจนเกินไปได้คือ การได้รายได้จากช่องทางอื่น เช่น รายได้เสริมจากการจองโรงแรมควบคู่ตั๋วเครื่องบินในราคาพิเศษ ซึ่งเราใช้วิธีนี้เพื่อหารายได้เพิ่มให้กับโรงแรมในช่วงโลว์ซีซัน จนผลลัพธ์สุดท้ายคือทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งลูกค้าและคู่ค้าของเรา” นาเดียกล่าวเสริม
แน่นอนว่าด้วยกลยุทธ์ที่เน้นความคุ้มค่านั้นอาจจะไม่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม แต่ AirAsia MOVE ย้ำชัดว่า จุดยืนของตัวเองคือผู้ให้บริการสำหรับ ‘Budget Travelers’ หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีงบจำกัด ดังนั้นความคุ้มค่าทางราคาจึงเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกในการดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้
นอกจากนี้ AirAsia MOVE ยังมีแพ็กเกจ Asean International Pass ไว้รองรับคนที่ต้องเดินทางในภูมิภาคอาเซียนเป็นประจำ หรือกลุ่ม Digital Nomads เพื่อตอบสนองจำนวนผู้เดินทางที่เข้ามาภูมิภาคแห่งนี้ในอัตราที่เพิ่มขึ้น
ในส่วนภาพรวมภาคการท่องเที่ยวประเทศไทยที่กำหนดเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ 35 ล้านคน ด้วยความหวังที่จะกอบโกยรายได้ 1.92 ล้านล้านบาท ในปี 2567 เพื่อหวังฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่ได้รับความบอบช้ำมาเป็นเวลาหลายปีนับตั้งแต่การระบาดของโควิด นาเดียมองว่านักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น แต่ภาพจะค่อนข้างต่างไปจากปี 2563
“เราเห็นการกลับมาของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทย แต่จุดต่างจากปี 2562 กับปีนี้คือประเทศไทยได้นักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นนอกเหนือจากจีนมากขึ้น เช่น อินเดีย และชาติอาเซียนอื่นๆ และถ้าเราประเมินจากฐานข้อมูลการเดินทางของบริษัท เราพบว่าเที่ยวบินหลายเที่ยวของเราจุคนแบบแทบจะเต็มลำ ดังนั้นดิฉันเชื่อว่าสถานการณ์ในไทยกำลังดีขึ้น ทั้งจากจำนวนและความหลากหลายของกลุ่มคนที่มีมากกว่าแค่ชาวจีน”
แม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะยังท้าทาย แต่แนวโน้มการฟื้นกลับมาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยก็ยังดูจะไปต่อได้ ไม่แน่ว่าการหันมาจับตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยว ‘Budget Travelers’ ที่ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของ AirAsia MOVE อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เป้าหมาย 35 ล้านคนในปีนี้เป็นจริง