×

รายงานเผย มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อทุกช่วงชีวิตของมนุษย์

19.04.2023
  • LOADING...

กลุ่มวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่ Imperial College London เผยแพร่รายงานทบทวนการศึกษาว่าด้วยมลพิษทางอากาศในรอบทศวรรษที่ผ่านมากว่า 35,000 ชิ้นทั่วโลก พบว่ามลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อทุกช่วงชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่พัฒนาการของทารกในครรภ์ ตลอดจนความสามารถในการรับรู้ของวัยรุ่นไปจนถึงสุขภาพจิตของผู้ใหญ่ 

 

โดยรายงานชิ้นนี้ระบุว่า การค้นพบที่สำคัญที่สุดคือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับทั้งผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพสมอง สุขภาพจิต และภาวะสมองเสื่อม รวมถึงผลกระทบต่อชีวิตในช่วงวัยเด็กที่อาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพในอนาคตของประชากรโลก

 

รายงานชิ้นนี้ยังได้ทบทวนถึงความเกี่ยวพันระหว่างมลพิษทางอากาศกับสุขภาพของเด็กทารกแรกเกิดในช่วงสัปดาห์แรกของชีวิต ขนาดและน้ำหนักตัว รวมถึงโอกาสในการแท้งลูก และภาวะที่ลูกเสียชีวิตขณะอยู่ในครรภ์ 

 

พร้อมทั้งอธิบายว่าทารกในครรภ์อาจมีความเสี่ยง เนื่องจากผู้เป็นแม่อาจสูดดมอนุภาคมลพิษทางอากาศเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของทารก อีกทั้งสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะเหล่านี้ก็สามารถเข้าสู่กระแสเลือดของหญิงตั้งครรภ์ ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตผิดปกติ ซึ่งอาจมีส่วนชะลอการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้ โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่า ทุกๆ ปี ทารกมากกว่า 20 ล้านคนมีน้ำหนักแรกเกิดอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และราว 15 ล้านคนเกิดก่อนกำหนด 

 

ผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่ออนามัยการเจริญพันธุ์ไม่ได้จำกัดเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เท่านั้น แต่ยังมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณเชื้ออสุจิที่ลดน้อยลงในกลุ่มผู้ชายที่ประสบกับปัญหาภาวะมลพิษทางอากาศอีกด้วย ในขณะเดียวกันการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อม และมีส่วนทำให้กระบวนการคิดถดถอยลงไม่มากก็น้อย

 

นักวิจัยประจำ Imperial College London เผยถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุ 8-9 ปี จำนวน 2,000 คนพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วเด็กคนหนึ่งจะสูญเสียปริมาตรปอดราว 5% เนื่องจากมลพิษทางอากาศที่พวกเขาหายใจเข้าไป ซึ่งผลกระทบนี้เกี่ยวพันกับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO 2) ซึ่งมักถูกใช้เป็นตัวติดตามรอยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการเผาไหม้เชื้อเพลิงดีเซล

 

นอกจากผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจและอนามัยการเจริญพันธุ์แล้ว มลพิษทางอากาศยังเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองอีกด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี

 

หลายประเทศในประชาคมโลกจึงหันมาปรับเปลี่ยนแนวนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยหันมาใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะมีส่วนช่วยรับมือกับวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ในความตกลงปารีสแล้ว ยังมีส่วนช่วยจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละออง PM2.5 ได้ไม่น้อย 

 

แฟ้มภาพ: Nady Ginzburg / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X