×

วิจัยเผยมลพิษทางอากาศกระทบต่อการสืบพันธุ์ของแมลงวันผลไม้ เหตุทำตัวผู้ปล่อยฟีโรโมนได้น้อยลง

15.03.2023
  • LOADING...

ผลการวิจัยล่าสุดเปิดเผยว่า มลพิษทางอากาศเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสืบพันธุ์ของแมลงวันผลไม้ เนื่องจากทำให้แมลงวันตัวผู้ปล่อยฟีโรโมนออกมาได้น้อยลงจนตัวเมียแทบไม่ได้กลิ่นของพวกมัน

 

โดยปกติแล้วแมลงวันผลไม้ตัวเมียจะเลือกคู่ของมันเพื่อสืบพันธุ์ผ่านกลิ่นฟีโรโมนที่ตัวผู้ปล่อยออกมา แต่มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยที่รบกวนความสามารถในการปล่อยกลิ่นของตัวผู้ เนื่องจากโอโซนในปริมาณสูงจะเข้าไปสลายพันธะคาร์บอนที่อยู่ในฟีโรโมนของแมลง จนทำให้พวกมันปล่อยกลิ่นออกมาได้น้อยลง ซึ่งหมายความว่าอากาศที่ปนเปื้อนด้วยมลพิษอาจเป็นภัยคุกคามต่อการสืบพันธุ์ของแมลงวันผลไม้และแมลงชนิดอื่นๆ จนอาจส่งผลให้จำนวนประชากรของพวกมันลดลงได้

 

มาร์คุส คนาเดน (Markus Knaden) นักวิจัยด้านวิวัฒนาการของระบบประสาทแห่งสถาบัน Max Planck Institute และผู้เขียนผลการศึกษาฉบับนี้ ซึ่งได้รับการเผยแพร่ลงในวารสารวิชาการ Nature Communications กล่าวว่า “ทุกคนต่างรู้ดีว่าโลกของเราตอนนี้กำลังเผชิญกับปัญหาประชากรแมลงลดลง โดยสาเหตุหลักคือการใช้ยาฆ่าแมลงและการสูญเสียที่อยู่อาศัยของพวกมัน แต่มาวันนี้เราควรต้องพิจารณาปัจจัยเรื่องของมลพิษทางอากาศเข้าไปด้วย” 

 

ผลการวิจัยฉบับนี้ได้ศึกษาว่าแมลงสามารถรับรู้กลิ่นของดอกไม้แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร หากพวกมันได้สัมผัสกับโอโซนในระดับสูง โดยทีมนักวิจัยได้ทดลองโดยใช้แมลงวันผลไม้ 9 สายพันธุ์ด้วยกัน โดยให้ตัวผู้ครึ่งหนึ่งของแต่ละสายพันธุ์ได้สัมผัสกับอากาศปกติ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะอยู่ในสภาพที่มีโอโซนระดับ 100 ppb ทั้งนี้ ระดับโอโซนเฉลี่ยในพื้นที่อุตสาหกรรมจะอยู่ที่ราว 40 ppb แต่สำหรับบางภูมิภาค เช่น จีน อินเดีย หรือเม็กซิโก อาจมีระดับโอโซนสูงถึง 210 ppb

 

นักวิทยาศาสตร์พบว่าแมลงวันตัวผู้ที่สัมผัสกับโอโซนระดับสูงนั้นจะปล่อยฟีโรโมนได้น้อยลง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พวกมันไม่สามารถดึงดูดแมลงวันตัวเมียมาผสมพันธุ์ได้ดีเหมือนเดิม คนาเดนกล่าวว่า “เมื่อเรานำแมลงวันตัวผู้ไปสัมผัสกับโอโซน ก็ดูเหมือนว่าพวกมันจะใช้เวลานานขึ้นกว่าที่จะดึงดูดตัวเมียมาผสมพันธุ์ได้”

 

นอกจากนี้ การที่แมลงวันตัวผู้ปล่อยฟีโรโมนออกมายังเป็นการป้องกันไม่ให้แมลงวันตัวผู้อื่นๆ มาผสมพันธุ์กับพวกมันเองด้วย ฉะนั้นการที่พวกมันปล่อยฟีโรโมนได้ลดลง จึงกลายเป็นว่าจะมีแมลงวันตัวผู้อื่นๆ พยายามมาผสมพันธุ์กันเอง ซึ่งคนาเดนกล่าวว่า หากเป็นในห้องทดลอง การที่แมลงวันต้องใช้เวลานานขึ้นหลายนาทีเพื่อล่อตัวเมีย หรืออาจจะพยายามผสมพันธุ์กับตัวผู้ด้วยกันเองโดยไม่ได้ตั้งใจนั้นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ในชีวิตจริงแล้วแมลงวันพวกนี้ควรต้องมีความพร้อม เพื่อตามหาตัวเมียมาผสมพันธุ์ให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะถูกสัตว์นักล่าหรือมนุษย์ฆ่าตายก่อน

 

การศึกษานี้จึงเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนที่ชี้ให้เห็นว่าปัญหามลพิษทางอากาศไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบสุขภาพของมนุษย์เท่านั้น แต่สัตว์น้อยใหญ่ไปจนถึงสัตว์ตัวจิ๋วอย่างเช่นแมลงวันก็ต้องประสบเคราะห์กรรมตามกันไปด้วย นี่จึงเป็นภารกิจสำคัญของมนุษย์ที่จะต้องดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องของมลพิษกันอย่างจริงจัง

 

ภาพ: Sofia Quaglia / Benjamin Fabian via The Guardian

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X