×

งานวิจัยชี้ มลพิษในอากาศลดทอนความสามารถในการเรียนรู้ของมนุษย์ เทียบเท่าขาดเรียน 1 ปี

28.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยเยลพบว่า มลพิษในอากาศอาจลดทอนความสามารถในการคิดและเรียนรู้ของมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ
  • 95% ของอากาศที่ประชากรโลกสูดหายใจเข้าไป เป็นอากาศที่ไม่ปลอดภัย ขณะที่ผลการศึกษาพบความสัมพันธ์ที่ว่า เมื่ออยู่ท่ามกลางภาวะมลพิษสูง คะแนนสอบด้านภาษาและคณิตศาสตร์จะลดฮวบลงอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยค่าเฉลี่ยของผลกระทบเทียบเท่าการขาดเรียน 1 ปี
  • อากาศที่เป็นพิษมีความเชื่อมโยงกับอัตราการตายที่สูงลิ่วของผู้ป่วยทางจิต นอกจากนี้ยังพบว่า ยิ่งอาศัยอยู่ใกล้ถนนที่จอแจมากเท่าไร ก็เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมมากขึ้นตามไปด้วย

มลพิษที่เราสูดเข้าไปในร่างกายอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการคิดและเรียนรู้ในแบบที่เราไม่คาดคิดมาก่อน

 

งานวิจัยล่าสุดของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล ในสหรัฐอเมริกา พบว่า มลพิษทางอากาศอาจลดทอนความสามารถในการเรียนรู้ของมนุษย์ลงอย่างมาก ซึ่งตอกย้ำว่า อากาศที่เป็นพิษสร้างความเสียหายต่อสังคมมนุษย์เกินกว่าผลกระทบด้านสุขภาพที่เราตระหนักดีอยู่แล้ว

 

95% ของอากาศที่ประชากรโลกสูดหายใจเข้าไป เป็นอากาศที่ไม่ปลอดภัย ขณะที่ผลการศึกษายังพบความสัมพันธ์ที่ว่า เมื่ออยู่ท่ามกลางภาวะมลพิษสูง คะแนนสอบด้านภาษาและคณิตศาสตร์จะลดฮวบลงอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยค่าเฉลี่ยของผลกระทบเทียบเท่าการขาดเรียน 1 ปี

 

งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Proceedings of the National Academy of Sciences ได้วิเคราะห์ผลสอบวัดระดับภาษาและคณิตศาสตร์ของประชาชน 20,000 คนในประเทศจีน ระหว่างช่วงปี 2010-2014 โดยคณะนักวิทยาศาสตร์ได้นำผลสอบมาเปรียบเทียบกับค่ามลพิษในอากาศที่บันทึกได้ทั้งไนโตรเจนออกไซด์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์

 

ซึ่งพบว่า ยิ่งคนสูดอากาศที่เป็นพิษนานเท่าไร ก็ยิ่งสร้างความเสียหายต่อความสามารถในการคิดและเรียนรู้มากขึ้นเท่านั้น โดยที่ความสามารถทางภาษาจะถูกทำลายมากกว่าความสามารถด้านคณิตศาสตร์

 

นอกจากนี้ยังพบว่า มลพิษยังส่งผลกระทบต่อกระบวนการคิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่นักวิจัยระบุว่า อาจเป็นผลมาจากการทำงานของสมองที่แตกต่างกันระหว่างชายและหญิง

 

 

สี เฉิน หนึ่งในคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า “อากาศ มลพิษ อาจลดทอนระดับการศึกษาของแต่ละคนลง 1 ปี ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ที่ผ่านมาเรารู้เพียงแค่ผลกระทบที่มีต่อผู้สูงอายุ โดยเฉพาะคนอายุ 64 ปีขึ้นไป ประชากรเพศชาย หรือผู้ที่มีระดับการศึกษาต่ำ ดังนั้นหากเราประเมินผลกับกลุ่มคนเหล่านี้ใหม่อาจพบว่า มลพิษในอากาศจะลดทอนระดับการศึกษาของพวกเขาลงอีกหลายปีเลยก็ว่าได้”

 

ผลการวิจัยก่อนหน้านี้พบว่า มลพิษในอากาศจะทำลายกระบวนการคิดและรับรู้ของเด็กนักเรียน แต่งานวิจัยล่าสุดนับเป็นชิ้นแรกที่วัดประเมินจากกลุ่มตัวอย่างทุกเพศทุกวัย

 

สี เฉิน กล่าวเสริมว่า สำหรับคนอายุ 64 ปีขึ้นไป ความเสียหายที่เกิดกับกระบวนการคิดย่อมเลวร้ายกว่ามาก

 

“เรามักตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องการเงินที่สำคัญที่สุดในช่วงวัยชรา” รีเบกกา แดเนียลส์ จาก Medact องค์กรการกุศลด้านสาธารณสุขในสหราชอาณาจักร กล่าว “ดังนั้นผลการศึกษาชิ้นนี้จึงสร้างความวิตกกังวลอย่างมาก”

 

จากสถิติก่อนหน้านี้พบว่า มลพิษในอากาศเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 7 ล้านคนต่อปี ซึ่งถือเป็นผลกระทบทางกายภาพ แต่สำหรับความเสี่ยงต่อสติปัญญาเป็นเรื่องที่น้อยคนจะรู้

 

เช่นเดียวกับงานวิจัยก่อนๆ ที่พบความเชื่อมโยงระหว่างอากาศที่เป็นพิษกับอัตราการป่วยทางจิตในเด็ก ขณะที่ผลการศึกษาล่าสุดพบว่า มลพิษทางอากาศมีความเชื่อมโยงกับอัตราการตายที่สูงลิ่วของผู้ป่วยทางจิตด้วย ส่วนผลการวิเคราะห์อีกชิ้นหนึ่งระบุว่า ยิ่งอาศัยอยู่ใกล้ถนนที่จอแจมากเท่าไร ก็จะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมมากขึ้นตามไปด้วย

 

 

เดอร์ริก โฮ จากมหาวิทยาลัยโพลิเทคนิคในฮ่องกง พูดถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า การได้ข้อสรุปเกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษในอากาศต่อกระบวนการคิดและเรียนรู้ถือเป็นเรื่องสำคัญ คณะนักวิจัยของเขาก็มีผลการศึกษาที่สอดคล้องกัน ซึ่งมีเหตุผลสนับสนุนคือ หากมลพิษในอากาศสูงจะส่งผลต่อภาวะเครียด อันเกิดจากความไม่สมดุลของการเกิดอนุมูลอิสระ (Oxidative Stress) รวมถึงกระบวนการอักเสบในระบบประสาท (Neuroinflammation) และการเสื่อมของระบบประสาทของมนุษย์ (Neurodegeneration)

 

สี เฉิน ระบุว่า ผลการวิจัยเป็นตัวบ่งชี้ว่า ภาวะมลพิษเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียความสามารถในการเรียนรู้มากกว่าการเป็นแค่ความสัมพันธ์ปัจจัยหนึ่ง โดยนักวิทยาศาสตร์จะติดตามกลุ่มตัวอย่างเดิม เพื่อดูว่าปัจจัยอื่นๆ เช่น ความแตกต่างทางพันธุศาสตร์ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องเพียงใด

 

ปัญหามลพิษถูกมองว่า สร้างผลกระทบระยะสั้น แต่จากงานวิจัยนี้ทำให้เราเห็นผลพวงที่ร้ายกาจของมันชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผลกระทบต่อการสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนในวันที่มีค่ามลพิษในอากาศสูง

 

สี เฉิน กล่าวว่า รัฐบาลประเทศต่างๆ จำเป็นต้องดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรม เพื่อลดมลภาวะในอากาศ และเพื่อประโยชน์ต่อทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดต่อระบบเศรษฐกิจ ถึงแม้ระดับมลพิษในอากาศในจีนจะลดลงต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ถึง 3 เท่า

 

ข้อมูลจาก WHO ระบุว่า เมือง 20 แห่งที่ติดอันดับเมืองมลพิษสูงสุดในโลก ล้วนอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยจีนครองแชมป์อยู่หลายเมือง แต่งานวิจัยล่าสุดไม่ใช่สาสน์เตือนถึงประเทศจีนเท่านั้น แต่เป็นคำเตือนที่ทั่วโลกควรตระหนัก เพราะผลกระทบต่อความสามารถในการเรียนรู้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หรือพูดในเชิงตัวเลขก็คือ ค่ามลพิษที่เพิ่มขึ้นทุก 1 มิลลิกรัม ตลอดช่วงเวลา 3 ปี จะลดทอนระดับการศึกษาของคนลง 1 เดือน   

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising