กว่า แอ-เบญญาภา ศิริโสภณ อินทีเรียร์ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งบริษัทออกแบบอินทีเรียร์ VAIR จะขึ้นแท่นหนึ่งใน ‘ดีไซเนอร์ตัวท็อป’ ของวงการที่กวาดรางวัลระดับโลกนับไม่ถ้วน จากผลงานอินทีเรียร์ดีไซน์โครงการหรูระดับไฮเอนด์ รวมไปถึงงาน Luxury Residential ให้กับบรรดาเซเลบริตี้และนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงหลายคนที่ชื่นชอบงานออกแบบสไตล์ ‘Artistic Luxury’ เธอบอกว่าความสำเร็จในวันนี้เป็นผลจากการทุ่มเท และความตั้งใจทำในทุกงานของเธอและทีมงาน
“แอเชื่อว่าผลของงานมันเป็นเครื่องพิสูจน์ ถ้าคุณเต็มที่กับทุกงาน ไม่หยุดพัฒนาหรือหาสิ่งใหม่ๆ มาใส่ให้กับงานของคุณ ต่อให้ผ่านไปกี่สิบปี มองกลับมาคุณจะภูมิใจกับมัน”
ประเด็นที่ THE STANDARD POP สนใจมากกว่าการสร้างแบรนด์ให้ติดอยู่ใน Top of Mind ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์ เซเลบริตี้ และนักธุรกิจแถวหน้าของไทยคือ การสร้างผลงานอย่างไรให้สามารถคว้ารางวัลระดับโลกมากมาย โดยเฉพาะรางวัล The Winner, Category ASIA Standalone ในงานประกวดออกแบบอินทีเรียร์ระดับสากล Restaurant & Bar Design Awards 2023 จากผลงานการออกแบบร้านอาหาร ‘FUEGO’
แล้วทำไมการคว้ารางวัลชนะเลิศในหมวด ASIA Standalone จากเวที Restaurant & Bar Design Awards ถึงน่าสนใจ และตอกย้ำว่า แอ เบญญาภา คืออินทีเรียร์ดีไซเนอร์ตัวจริงที่น่าจับตามอง
“Restaurant & Bar Design Awards เป็นเวทีประกวดงานออกแบบร้านอาหารและบาร์ระดับนานาชาติที่จัดต่อเนื่องมากว่า 15 ปีแล้วค่ะ นี่เป็นเวทีรางวัลอันดับ 1 ในโลกที่คนออกแบบ Restaurant & Bar ต้องส่งประกวด คู่แข่งเยอะมาก และแข่งกันทั่วโลก หากดูในประวัติย้อนหลังของเวทีประกวด บริษัทอินทีเรียร์ชื่อดังหลายที่ที่ออกแบบร้านอาหารเก่งๆ เกือบจะทุกเจ้าต้องส่งประกวดกันหมด ซึ่ง 7 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รางวัลมาแค่ 3 บริษัท และก็เป็นเบอร์ระดับต้นๆ ของวงการทั้งนั้น ซึ่งจะมีรางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาค แล้วก็เอาผู้ชนะในแต่ละภูมิภาคไปแข่งเพื่อชิงอันดับหนึ่งของโลก
“ร้านอาหาร ‘FUEGO’ ชนะเลิศในหมวด Standalone ระดับภูมิภาคเอเชีย สำหรับแอและทีมเหมือนเราได้รางวัลโนเบลเลยนะ เพราะมันได้มายากจริงๆ”
แอเล่าถึงแรงบันดาลใจและวิธีการออกแบบ ‘FUEGO’ ที่ต้องการนำเสนอความแปลกใหม่ให้กับร้านอาหารสไตล์ Japanese-Spanish Tapas ภายใต้เอกลักษณ์งานออกแบบสไตล์ Artistic Luxury ที่โดดเด่นในแบบ VAIR และยังสอดคล้องไปกับสโลแกนของแบรนด์ ‘The Sense of Uniqueness Interior Design’
“FUEGO แปลว่า ‘ไฟ’ ในภาษาสเปน และด้วยคอนเซปต์ของร้านที่เขาต้องการผสมผสานระหว่าง Japanese และ Spanish และเสิร์ฟเมนูที่ครีเอตจากวัตถุดิบพรีเมียมผ่านกรรมวิธีการทำอาหารสไตล์สเปนและญี่ปุ่น เราจึงเลือกออกแบบร้านจากคาแรกเตอร์ของอาหาร พอพูดถึงวัตถุดิบที่สดใหม่อย่างปลาดิบ เรานึกไปถึงวัสดุไม้ที่โชว์พื้นผิว โชว์ความเป็นสัจจะวัสดุ มาเรียงในลักษณะเหมือนเปลวเพลิง ให้ฟีลใกล้ชิดธรรมชาติ หรือกระเบื้องสีดำที่มีลวดลายเหมือนเขม่าควันก็ให้ฟีลเหมือนสีควันที่กำลังเผาอาหาร เป็นการนำคอนเซปต์อาหารมานำเสนอผ่านการออกแบบ”
นอกจากจะดึงคาแรกเตอร์ของร้านมานำเสนอได้อย่างโดดเด่น การบาลานซ์ตัวตนของ VAIR ลงไปในงานออกแบบก็เป็นโจทย์ที่ท้าทาย
“ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ VAIR ชัดเจนเรื่องสไตล์การออกแบบ ลูกค้าที่มาหาเราเพราะเขาชอบสไตล์เรา และเชื่อว่าเราจะสร้างงานที่ยูนีกโดยยังคงความ Artistic Luxury อย่างการทำงานกับลูกค้าอสังหา เราจะนำเรื่องของ Sense of Place มาเป็นองค์ประกอบในการคิดงาน เสน่ห์ของสถานที่นั้นคืออะไร เอกลักษณ์ของย่านเป็นแบบไหน รวมถึงตัวตนของแบรนด์ เราสามารถดึงเข้ามาใส่ในงานออกแบบได้ แต่ถ้าเป็นการออกแบบบ้าน นอกจากจะต้องสะท้อนตัวตนของเจ้าของบ้าน ยังต้องทำให้บ้านหลังนั้นอยู่ได้จริงและยังดูหรูหรา
“เราจะชอบหาลูกเล่นใหม่ๆ ให้กับลูกค้า ถ้าไล่ดูงานทั้งหมด จะไม่มีงานไหนที่เหมือนกันเลย อย่างโครงการ RHYTHM เจริญนคร ไอคอนิค ส่วนที่เป็น ‘Artistic Pavilion’ พื้นที่พักผ่อนซึ่งประดับด้วยงานศิลปะชั้นเอกสไตล์ญี่ปุ่น ผสมกับเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์พิเศษสไตล์อิตาลี เราอยากให้ความรู้สึกเหมือนเดินเข้าไปใน Art Gallery แต่ละมุมจะมีงานศิลปะวางไว้”
ขอยกตัวอย่างเพิ่มอีกหน่อยเพื่อให้คุณเห็นตัวตนของแอและแบรนด์ VAIR ชัดขึ้น อาทิ ห้องเก็บนาฬิกากลไก FONTAINE AUX OISEAUX AUTOMATION IN HIMAPHAN FOREST มูลค่า 400 กว่าล้านบาท ที่เธอออกแบบให้กับ เนย และ คิม พรประภา กับ Van Cleef & Arpels แบรนด์เครื่องประดับจากฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงยาวนานกว่า 100 ปี ด้วยคาแรกเตอร์และคอนเซปต์ของแบรนด์ที่ชัดเจน จึงออกแบบห้องให้เหมือนอยู่ในป่าหิมพานต์ สร้างบรรยากาศอย่างละเอียดตั้งแต่การเลือกสี เลือกพรม ไปจนถึงวัสดุที่เป็นฝ้าเพดาน เลือกเป็นผ้าผสมลวด โดยสร้างลวดลายให้ขดได้แล้วทำสีเทอร์ควอยส์ผสมน้ำเงิน
อีกหนึ่งผลงานที่หลายคนน่าจะเคยผ่านตาก็คือ การออกแบบ Pop-up Store ให้แบรนด์ VATANIKA BEAUTY ของ แพร-วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ดึงตัวตนที่โดดเด่นไม่เหมือนใครถ่ายทอดผ่านโทนสีแดงของแบรนด์ นำเสนอผ่าน Pop-up Store ในรูปแบบ Standalone รูปทรงเหลี่ยมมุมที่มีความโฉบเฉี่ยว เปรี้ยวเท่ แต่มีเสน่ห์และสวยตามแบบฉบับของผู้หญิงที่มีความมั่นใจ น่าค้นหา นำมาผสมผสานกับวัสดุสเตนเลสสตีลสีทองที่มีความหรูหรา เพิ่มความเงางาม สร้างความสวยในทุกมุมมอง เปรียบเสมือนงานศิลปะที่สะท้อนตัวตนของ แพร วทานิกา
จนถึงวันนี้ VAIR โลดแล่นอยู่ในวงการมานานกว่า 10 ปี นอกจากคาแรกเตอร์แบรนด์ที่ชัด การมีทีมที่เชื่อและชอบในสิ่งเดียวกัน แอมองว่าความตั้งใจจริงและไม่หยุดพัฒนาตัวเองให้หลุดจากกรอบเดิมๆ คือกุญแจสำคัญที่ทำให้ลูกค้าเชื่อใจ และส่งผลให้ VAIR คว้ารางวัลมากมายมาครอง
“VAIR มีทีมที่ดีมากๆ เราเป็นคนชอบคิดคอนเซปต์ใหม่ๆ แต่จะมีทีมที่คอยทำให้คอนเซปต์นั้นเป็นรูปเป็นร่าง ทำให้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ผลงานของเราได้รับการพูดถึงและบอกต่อ ถ้ามองย้อนกลับไปวันแรกที่เริ่มสร้างแบรนด์ เราแค่อยากทำสิ่งที่รักให้ดีที่สุด สุดท้ายผลของงานมันเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวมันเอง แอบอกกับทีมเสมอว่า อินทีเรียร์ไม่ใช่แค่เอาอาร์ตเวิร์กหนึ่งชิ้นเข้าไปตั้ง แต่เวลามองเข้าไปคุณต้องรู้สึกว่ามันคืองานศิลปะระดับมาสเตอร์พีซ ทำให้ลูกค้ารู้สึกให้ได้ว่างานศิลปะที่เขาเห็นมันถูกสร้างมาจากตัวตนของเรา เรามีหน้าที่เล่าในมุมที่แตกต่างผ่านการออกแบบ”
สำหรับเธอ ความสุขของลูกค้าต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนรางวัล ถ้าเจ๋งจริง เดี๋ยวมันมาเอง
“เวลามีคนมาถามว่าอยากทำงานส่งประกวดต้องทำอย่างไร แอจะบอกว่า ‘ทำให้เต็มที่’ คำตอบอาจจะฟังดูเหมือนง่าย แต่เข้าใจว่าทำจริงมันยาก จริงๆ ไม่อยากให้ตั้งเป้าการทำงานไปที่ตัวรางวัล แอเชื่อว่าถ้าคุณทำงานให้ดีที่สุด เดี๋ยวรางวัลก็มาเอง แต่พอได้รางวัลมานั่นแหละที่คุณจะต้องเริ่มรักษามาตรฐานของตัวเองให้ได้”
สำหรับ VAIR รางวัลที่ได้มาเป็นเหมือนเครื่องตอกย้ำว่า VAIR คือใครและตัวตนเป็นแบบไหน และเธอมักจะเลือกเวทีที่มีแต่ตัวจริงส่งเข้าประกวด อย่างรางวัล The Winner สาขา Living Space (Luxury Residence) จากเวที The International Design & Architecture Awards 2022 ซึ่งจัดโดย design et al นิตยสารดีไซน์ระดับโลกจากอังกฤษ ที่วงในรู้กันว่าเป็นรางวัลที่ท้าทายความสามารถของอินทีเรียร์มาก หลังจากผ่านเข้ารอบ Shortlist ถึง 5 ปี ในที่สุดก็ได้รางวัลชนะเลิศมาครอง
แต่การจะหามุมมองสดใหม่ เติมแรงบันดาลใจเพื่อสร้างสรรค์งานที่โดดเด่นและแตกต่างจากที่เคยทำมานั้นไม่ง่าย แอบอกว่า เธอแยกระหว่างการหาไอเดียกับการลงดีเทล ทำให้เธอสามารถค้นหาความสดใหม่ได้จากทุกสิ่งรอบตัว
“ไอเดียมันออกมาจากตัวเรา แต่ดีเทลมันเป็นเรื่องที่เราต้องมองให้ออกว่าดีเทลที่สวยเป็นอย่างไร ถ้าเมื่อไรที่คุณผสมผสานทั้งสองอย่างได้จะทำให้งานสวยขึ้นไปอีก มันมีงานที่ดีเทลสวยแต่ไอเดียไม่ดี หรือไอเดียดีแต่ดีเทลไม่รอดก็เยอะ ถามว่าจำเป็นต้องดูงานออกแบบเยอะๆ ไหม แออยากให้เสพสิ่งที่คุณอยากจะสร้างสรรค์มัน หาจากสิ่งรอบตัวก็ได้ อย่างแอเวลาดูหนังก็จะชอบหนังที่อินทีเรียร์สวย ไปโรงแรมก็เลือกที่เขาให้ความสำคัญกับการดีไซน์ การเสพไม่ได้เพื่อจำกลับมาใช้ในงาน แต่ไปเพื่อที่คุณจะมองขาดว่าอะไรคือสวยหรือไม่สวย อะไรคืองานออกแบบที่ดี”
สิ่งที่เธออยากฝากบอกถึงอินทีเรียร์รุ่นใหม่คือ จงทำงานที่ไม่ว่าอีกกี่ปีผ่านไป เมื่อมองกลับมาแล้วคุณภูมิใจกับมัน
“อินทีเรียร์เป็นงานที่ต้องใช้เวลากับมันนานมาก บางงานใช้เวลาเกือบ 2 ปี ดังนั้นสิ่งที่เราทุ่มลงไปมันคือเวลาชีวิต ถ้าเราทำงานแล้วไม่เต็มที่ สุดท้ายวันหนึ่งคุณมองกลับมา ผลงานเหล่านั้นจะเป็นตัวฟ้องสิ่งที่คุณทำ แต่ถ้าคุณเต็มที่กับทุกงาน ไม่หยุดพัฒนาหรือหาสิ่งใหม่ๆ มาใส่ให้กับงานของคุณ ต่อให้ผ่านไปกี่สิบปี มองกลับมาคุณจะภูมิใจกับมัน
“แอว่าความพิเศษของงานอินทีเรียร์คือ ทุกอย่างที่คุณทำมันจะหล่อหลอมเป็นตัวคุณตลอดไป มันเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ก๊อปปี้ไม่ได้ ทำซ้ำไม่ได้”
เมื่อถามว่า เราจะได้เห็นแอพาแบรนด์ VAIR ไปคว้ารางวัลบนเวทีไหนอีกบ้าง เธอบอกว่า ยังมีอีกหลายเวทีที่ตั้งใจส่งเข้าประกวด ส่วนจะเป็นเวทีไหนและส่งผลงานอะไรเข้าชิงต้องติดตาม แต่เป้าหมายที่ใกล้กว่านั้นคือ การทำให้ VAIR เป็นตัวแทนของดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่อยากจะเติบโตและโดดเด่นในเส้นทางนี้
“แอก็เคยเป็นเด็กคนหนึ่งที่ฝันอยากเป็นอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ เริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์และค้นหาตัวเอง จนวันนี้แอมีทีมงานที่ดีที่ช่วยกันสร้างผลงานจนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และสร้างชื่อเสียงให้กับคนไทยบนเวทีโลก ไม่ว่าใครก็ทำสิ่งเหล่านี้ได้ ขอแค่คุณเต็มที่กับทุกงานที่ทำแล้วปล่อยให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์” แอกล่าวทิ้งท้าย