ไมโครซอฟท์มองมุมต่าง เชื่อ AI ไม่ได้มาแทนมนุษย์ แต่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงาน เผยมีประสิทธิภาพด้านทักษะพอๆ กับมนุษย์ในหลายด้าน เปรยอาจมีบทบาทในแวดวงเฮลธ์เทคมากขึ้น แนะทุกองค์กรควรสร้างคนแบบ Tech Intensity เพื่อติดอาวุธองค์กร
วันนี้ (28 พ.ย.) ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้บอกเล่าเรื่องราวและบทบาทของ AI ในการขับเคลื่อนประเทศไทย โดยระบุว่า จุดยืนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของไมโครซอฟท์คือไม่ได้พัฒนาให้มาแทนที่มนุษย์ เพราะเชื่อว่ามันจะเข้ามาเพิ่มศักยภาพของมนุษย์มากกว่า
ตัวอย่างท่ีเห็นได้ชัดๆ คือ ปัจจุบันไทยมีจิตแพทย์ราว 884 คน ในจำนวนนี้ต้องให้บริการคนไทย 70 ล้านคน ถือเป็นอัตราส่วนที่ไม่สมเหตุสมผลเลย (จิตแพทย์ 1 คนต่อคนไข้ราว 80,000 คน) แต่ถ้าสามารถพัฒนา AI หรือแชตบอตมาช่วยเหลือให้คำปรึกษาคน ตอบคำถามเบื้องต้น สกรีนหรือนัดช่วงเวลาก่อนพบแพทย์ ก็ถือเป็นการนำ AI มาเพิ่มศักยภาพของมนุษย์
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด บอกว่า ไมโครซอฟท์ได้ทำงานร่วมกับบริษัทชั้นนำในหลายๆ อุตสาหกรรม เพื่อนำ AI ไปพัฒนาในการทำงานร่วมกัน ทั้งภาคธนาคาร ค้าปลีก หรือแม้กระทั่งน้ำมันและก๊าซ โดยที่ทุกวันนี้ไมโครซอฟท์ได้พัฒนาให้ทุกๆ บริการของตนมีปัญญาประดิษฐ์เป็นพื้นฐานในการทำงาน
“มองจากความสามารถของ AI ที่พัฒนาโดยไมโครซอฟท์ ณ ปัจจุบันถือว่าปัญญาประดิษฐ์ของพวกเขาสามารถยกระดับทักษะการทำงานในบางด้านได้ทัดเทียมกับมนุษย์แล้ว เช่น ความสามารถในการแยกแยะวัตถุหรือส่ิงต่างๆ จากภาพ, แยกแยะเสียงพูดของบุคคลและสัตว์, ความสามารถในการแปลภาษา และความสามารถในการอ่านบทความแล้วสรุปความ”
ด้าน พิจิกา วัชราภิชาต นักวิจัยชาวไทยผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ หนึ่งในทีมวิจัยของไมโครซอฟท์ที่ศูนย์วิจัยในเคมบริดจ์ให้ความเห็นในมุมมองที่สอดคล้องกันว่า AI Machine Learning จะเข้ามามีบทบาทในเฮลธ์เทค (Health Technology) มากขึ้น โดยความสามารถและทักษะที่น่าสนใจคือ การอ่านค่ารหัสพันธุกรรม (Genetic Code) ที่มีความแตกต่างกันมากถึงล้านระดับ และเปรียบเสมือน Big Data ในร่างกายมนุษย์เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงของการป่วยเป็นโรคต่างๆ รวมถึงการคิดค้นตัวยาใหม่ๆ ผ่านความสามารถในการค้นหาชีวเคมีได้เร็วขึ้นที่จะช่วยลดต้นทุนไปได้อีกมหาศาล
“ณ วันนี้ในแง่ของความแม่นยำในการทำงานของ AI สามารถทำได้ดี แต่สเตปต่อไปที่ทีมพัฒนาและนักวิจัยจะต้องทำให้ได้คือ พัฒนาให้มันสามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้ ต้องโปร่งใส และอธิบายที่ไปที่มาของการพยากรณ์โรคต่างๆ ได้ด้วยความมั่นใจ นอกจากนี้ในอนาคตมันควรจะมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองด้วย”
สุดท้ายแล้ว ธนวัฒน์ยังแนะนำให้ทุกๆ องค์กรควรจะมีวัฒนธรรมและบุคลากรแบบ ‘Tech Intensity’ เป็นของตัวเอง ไม่เช่นนั้นก็จะสู้กับองค์กรอื่นไม่ได้ โดยคำแนะนำหลักๆ 2 ประการคือ ต้องนำเทคโนโลยีจากข้างนอกที่มีอยู่แล้วเข้ามาใช้ในองค์กรให้เร็ว หรือสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยตัวของตัวเอง ไม่ควรสร้างนวัตกรรมที่ธรรมดาหรือมีอยู่แล้วในตลาด พร้อมกับสนับสนุนให้พนักงานทำในสิ่งท่ียูนีก ไม่ซ้ำกับของเดิมที่มีในตลาด จะได้ไม่เสียเวลาในการแข่งขันและทรานฟอร์มธุรกิจ
ถ้าใครสงสัยว่า Tech Intensity คืออะไร มันคือนิยามของกลยุทธ์ดิจิทัลที่ไมโครซอฟท์ได้แนะนำให้องค์กรและภาคธุรกิจทั่วโลกนำไปปรับใช้เพื่อก่อให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า