คำว่า Co-pilot อาจจะฟังดูคุ้นหูในฐานะผู้ช่วยกัปตันนักบินที่ทำให้งานของกัปตันง่ายขึ้น แต่ในตอนนี้ Co-pilot จะถูกพูดถึงมากกว่าในบริบทการบินแล้ว เพราะคอนเซปต์นี้เป็นหัวใจหลักของแนวคิดการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Microsoft ที่มอง AI เป็นผู้ช่วยแบ่งเบาภาระงานให้กับมนุษย์ได้
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา Microsoft ได้จัดงาน AI Summit เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยไฮไลต์ของงานคือการชูศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ เพื่อยกระดับการดำเนินงานให้กับองค์กรธุรกิจยุคใหม่ ด้วยนวัตกรรมโซลูชัน Copilot for Microsoft 365 และ Azure OpenAI Service ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระดมไอเดียและความคล่องตัว เพื่อให้งานเดินหน้าได้เร็วขึ้น
ระบบนิเวศของ Microsoft Copilot
การทำงานในยุคที่ AI เป็น Co-pilot ของเรา
จากการสำรวจความคิดเห็นการใช้งาน Copilot ของลูกค้าองค์กรใน 41 ประเทศทั่วโลก พบว่า 70% ของผู้ใช้งาน Copilot ระบุถึงประสิทธิภาพในการทำงานที่เพิ่มขึ้น และ 68% รู้สึกว่าผลงานมีคุณภาพมากขึ้น และโดยเฉลี่ยผู้ใช้ Copilot สามารถทำงานประเภทการค้นหาข้อมูลเอกสารต่างๆ งานเขียน และการสรุปเนื้อหาได้เร็วขึ้นกว่า 29%
นอกจากนี้ ผู้ใช้ Copilot สามารถตามทันประเด็นสำคัญในการประชุมที่ตนเองไม่ได้เข้าร่วมได้เร็วขึ้นถึง 4 เท่าตัว ฟังดูแล้วเหมาะกับการทำงานในยุคนี้ที่หลายคนต้องเจอกับการประชุมที่บางครั้งอาจจะไม่สามารถเข้าได้ จนมีคำพูดติดปากว่า “ฝากอัด Meeting หน่อย เดี๋ยวกลับมาดูย้อนหลัง” แต่แท้จริงแล้วสำหรับคนส่วนใหญ่ก็แทบจะไม่เคยมีเวลาดูย้อนหลังจริงๆ สักที
ในปัจจุบันความตื่นตัวในองค์กรไทยนับว่าสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดย เชาวลิต รัตนกรไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า “บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกินกว่า 80% เป็นผู้ใช้งาน Microsoft 365 ทำให้ระบบต่างๆ มีความพร้อม นำมาสู่ความสนใจของหลายๆ องค์กรที่อยากเข้าร่วม Copilot for Microsoft 365 Early Access Program (EAP)” ซึ่งเป็นโครงการทดลองใช้ Copilot ได้ก่อนเปิดตัว โดยมี 3 องค์กรชั้นนำในไทยที่ได้เข้าร่วม ได้แก่ เอไอเอส, เอสซีบี เอกซ์ และ ปตท.สผ. ที่ต่างมองว่า AI จะเข้ามามีบทบาทให้องค์กรสามารถต่อยอดสร้างสรรค์นวัตกรรมและเคลื่อนตัวได้เร็วกว่า เป็นผลให้วิถีการทำงานเปลี่ยนไป ทำให้ธุรกิจต้องเร่งปรับตัว
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า “AI นับเป็นจุดเปลี่ยนทางเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดในยุคนี้ เราจึงมุ่งมั่นวิจัยและพัฒนา AI ที่ผสมผสานเข้ากับผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของเราอย่างลงตัว มีบทบาทเป็น Copilot พร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ใช้และองค์กรธุรกิจในทุกระดับให้สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น มากขึ้น เร็วขึ้น และเสียงตอบรับจากองค์กรที่นำ Copilot เข้าไปใช้งานจริงก็นับเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีถึงศักยภาพและความพร้อมของ AI ทั้งในสถานที่ทำงาน โฮมออฟฟิศ สถาบันการศึกษา ห้องปฏิบัติการวิจัย และโรงงานผลิตทั่วโลก”
พัฒนาการที่รวดเร็ว การแทรกตัวจาก AI สู่ห้องทำงาน
บริการ Copilot for Microsoft 365 ได้เปิดให้ลูกค้าองค์กรเริ่มใช้งานแล้วทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเวอร์ชันที่ปล่อยออกมายังคงซัพพอร์ตแค่ภาษาอังกฤษ แต่ทางบริษัทกำลังพัฒนาภาษาไทยซึ่งวางแผนจะปล่อยในต้นปีหน้า
สำหรับการทำงานของ Copilot จะเป็นในลักษณะที่ผสานกับแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้งาน Microsoft 365 คุ้นเคยกันอยู่แล้วอย่าง Word, Excel, PowerPoint, Outlook และ Teams พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถใหม่ๆ มากมาย เช่น
- Word ช่วยสรุปเนื้อหาในเอกสาร ร่างเนื้อหาในการเขียนเอกสารใหม่ และการจัดรูปแบบย่อหน้า
- Excel สามารถวิเคราะห์ข้อมูล แนะนำสูตรการคำนวณ สร้างกราฟ เป็นต้น
- PowerPoint สามารถออกแบบสไลด์จากหัวข้อและเนื้อหาที่ต้องการได้
- Outlook มาพร้อมฟีเจอร์ช่วยสรุปอีเมลที่ต่อเนื่องกัน การร่างข้อความตามรูปแบบที่ต้องการ และติดตามการประชุมผ่าน Teams ได้อย่างสะดวก
- Teams ช่วยสรุปเนื้อหาสำคัญจากการประชุม
- OneDrive ช่วยเหลือผู้ใช้ในการค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องภายในคลังไฟล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
โมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่ Copilot ใช้คือ GPT-4 ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดย OpenAI และในปัจจุบันโมเดลภาษานี้มีศักยภาพเหนือกว่า GPT-3.5 ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้ในตอน ChatGPT เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 แต่ที่น่าสนใจคือ GPT-4 เวอร์ชันภาษาไทยก็ดีเท่าๆ หรือเก่งกว่า GPT-3.5 ภาษาอังกฤษไปแล้ว
ตารางเปรียบเทียบศักยภาพของโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) แต่ละอัน
“ในวันนี้ลูกค้า Microsoft สามารถใช้ GPT-4 ใน Copilot ได้แล้ว โดยไม่ต้องต่อคิวรอ ChatGPT Plus และข้อดีคือเราเป็นระบบนิเวศปิด ดาต้าลูกค้าเป็นของลูกค้า สามารถโยนไฟล์ข้อมูลบริษัทให้ AI ช่วยประมวลผลโดยไม่ต้องกังวลเรื่องข้อมูลรั่วไหลเลย” เชาวลิตกล่าว
รัฐไทยเปิดรับ AI ผลักดันบริการแบบ e-Government
สืบเนื่องจากภารกิจของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ณ สหรัฐอเมริกา เพื่อหวังดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศสู่ไทย ได้มีการลงนามหนังสือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท Microsoft โดยเนื้อหาหลักของความร่วมมือคือ “Microsoft มีความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย ด้วยการนำโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI กับคลาวด์เพื่อเข้ามาทรานส์ฟอร์มภาครัฐให้เป็น e-Government เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และมีแผนที่จะตั้ง AI Center of Excellence ร่วมกันกับกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อเป็นตัวประสานงานให้กับหน่วยงานรัฐส่วนต่างๆ ในการนำ AI เข้าไปใช้กับภาคส่วนของตน” ธนวัฒน์กล่าว
ความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นอีกส่วนที่ความเชี่ยวชาญของ Microsoft จะเข้ามามีบทบาท ในแง่ของการรู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่างๆ จากการช่วยแชร์เคสการละเมิดที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วทั่วโลก สิ่งนี้จะเป็นเหมือนการอัปเดตเกราะป้องกันของรัฐบาลไทยให้เท่าทันสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา
มากไปกว่าการทำโครงสร้างพื้นฐาน เนื้อหาในหนังสือความร่วมมือยังระบุเพิ่มเติมถึงความมุ่งมั่นที่ Microsoft จะ Upskill เสริมความรู้ให้กับคนไทย 10 ล้านคน ในเรื่องดิจิทัลและ AI อีกด้วย