×

‘ไอ้ไข่’ ลัทธิแห่งความหวัง และความร่ำรวย ของสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหา

31.08.2020
  • LOADING...
ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ รูปปั้นไอ้ไข้ ปิดทอง

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • สังเกตว่าช่วงที่ไอ้ไข่โด่งดังจริงๆ นั้นก็ในช่วงโควิด-19 ระบาด ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ และไม่รู้ว่าสถานการณ์เช่นนี้จะจบลงเมื่อไร ทำให้ผู้คนในสังคมไร้ความหวัง ครั้นจะลงทุนทำอะไรสักอย่างมันก็เสี่ยงมาก แน่นอนครับ การซื้อหวยมีความเสี่ยง แต่ถ้าไม่ถูกอย่างมากก็แค่เจ็บใจ และปลอบใจตัวเองว่างวดหน้ายังมีหวัง
  • ปรากฏการณ์แบบไอ้ไข่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการบูชาจตุคามรามเทพ เทพทันใจ คนทรงเจ้า การบูชาพระพรหม พระคเณศ หรือไลลา ทั้งหมดเกิดขึ้นในยามที่สังคมนั้นเกิดวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้คนหวังโชคลาภและความร่ำรวย 
  • เมื่อพิจารณาให้ลึกขึ้นจะพบว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งนั้นล้วนสัมพันธ์กับการเมือง เช่น คนทรงเจ้าเกิดขึ้นหลังปฏิวัติปี 2557, ไลลานิยมในหมู่คนเจนใหม่ที่หวังความร่ำรวยอย่างรวดเร็วในช่วง 4-5 ปีที่แล้ว ในยุคทหารครองเมือง, จตุคามรามเทพเกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติปี 2549 เป็นต้น 

บทความนี้ไม่ได้มาใบ้เลขเด็ด แต่ต้องการชวนมองปรากฏการณ์ ‘ไอ้ไข่’ ว่าสะท้อนสังคมไทยได้อย่างไรบ้าง 

 

ผู้คนหลายสิบคนในชุดขาววิ่งกรูไปยังรถยนต์ของพระรูปหนึ่ง เมื่อไปถึงหน้ารถ ชาวบ้านทุกคนต่างหยิบมือถือขึ้นมาเพื่อถ่ายรูปทะเบียนรถ นักข่าวย้ำว่าอีกวันสองวันนี้หวยจะออกแล้ว ภาพข่าวแช่ทะเบียนรถอยู่นาน นานพอที่จะให้คนจดจำได้ แล้วก็เล่าถึงเรื่องไอ้ไข่ ในขณะที่มีโฆษณาขายไอ้ไข่ทางทีวี ไม่ต่างจากสินค้าชนิดหนึ่ง 

 

นอกจากเรื่องลุงพล น้องชมพู่ และเด็กชูสามนิ้วแล้ว ไอ้ไข่เป็นอีกเรื่องที่ผู้คนพูดถึงและอยากจะลองไปกันสักครั้ง ยิ่งใกล้วันหวยออกด้วยแล้ว ชื่อนี้น่าฟังมากกว่าชื่ออื่นๆ เป็นไหนๆ เรื่องนี้ฟังดูเป็นธรรมชาติของสังคมไทย แต่ก็มากกว่าปกติ

 

บางคนเปรียบเทียบว่า ‘ปรากฏการณ์ไอ้ไข่’ นี้ไม่ได้แตกต่างกันมากนักกับจตุคามรามเทพที่เคยเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2550 ถึงจะมีอะไรร่วมๆ กันอยู่บ้างก็ตาม แต่ไอ้ไข่กับจตุคามรามเทพนั้นมีความแตกต่างกันตรงที่ ไอ้ไข่นี้มีสถานะเป็นผี ไม่ใช่เทพ คนบูชาเพื่อขอหวยเป็นหลักชัดแจ้ง ที่สำคัญไอ้ไข่เกิดขึ้นในยุคโซเชียลมีเดียและการค้าออนไลน์อย่างเข้มข้น เรื่องของไอ้ไข่จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างมากในความคิดผม เพราะมันกำลังสะท้อนปัญหาหลายๆ อย่างในสังคมไทย 

 

ไอ้ไข่

 

ไอ้ไข่เป็นใคร เกี่ยวข้องกับหลวงปู่ทวดได้อย่างไร 

ไอ้ไข่เป็นความเชื่อท้องถิ่น ไม่ใช่ความเชื่อในศาสนาพุทธ หลังๆ มีคนยกย่องไม่เรียก ‘ไอ้’ แต่เรียก ‘ตา’ แทน เพราะถือว่าเป็นดวงวิญญาณที่มีอายุมากแล้ว และยังเป็นที่นับถือของคนทั่วไป แต่ทางวัดพอใจกับการให้เรียกว่าไอ้ไข่มากกว่า เพราะไม่ถือว่าไม่สุภาพ และเป็นการรักษาตำนานไว้ด้วย ส่วนชื่อ ‘ไข่’ ไม่ใช่ชื่อของ ‘ไอ้ไข่’ แต่เป็นคำที่คนทางภาคใต้ใช้เรียกเด็กเล็กๆ เพราะเชื่อกันว่าไอ้ไข่มีอายุสัก 9-10 ขวบ ไอ้ไข่จึงไว้จุก ซึ่งเป็นภาพจำของเด็กไทยโบราณ หรือกุมารทอง 

 

ตำนานเกี่ยวกับเรื่องไอ้ไข่นั้น มีคนเขียนและเล่ากันมาก แต่คนที่เล่าได้รายละเอียดดีที่สุดเห็นจะเป็นหมอบัญชา พงษ์พานิช คหบดีชาวนครศรีธรรมราช และผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ แต่ในที่นี้ผมขอผสมกับข้อมูลจากแหล่งอื่นด้วย และจัดเรียงลำดับเรื่องราวเสียใหม่ 

 

ในความทรงจำของท้องถิ่นบอกต่อกันมาว่า เดิมทีวัดเจดีย์เป็นวัดร้าง มีเด็กอยู่คนหนึ่งที่คอยติดตามขรัวทอง อดีตเจ้าอาวาสวัด ที่ไม่ทราบว่าตายเมื่อไร แต่ชาวบ้านนับถือกัน เพราะเป็นที่พึ่งของใครต่อใครเมื่อของหาย วัวควายหาย ก็ไปขอร้องบนบาน 

 

 

แต่สาเหตุที่ทำให้คนทั่วไปเริ่มรู้จักไอ้ไข่มากขึ้นนั้นเกิดขึ้นช่วงทศวรรษ 2510/2520 (โดยส่วนตัวคิดว่าคงก่อน 2523 เล็กน้อย) ซึ่งเป็นยุคของการเคลื่อนไหวของผู้คิดเห็นต่าง ทำให้มีทหาร และ ตชด. เข้ามาตั้งแคมป์อยู่ที่วัดร้าง เลยเริ่มมีเรื่องเล่ากันว่า ชอบมีเสียงของคนเดิน แกล้งทหาร แกว่งเปล วางปืนไว้ก็ถูกทำให้ไม่เป็นระเบียบบ้าง คล้ายกับมีเด็กมาเล่นมาแกล้ง เลยเริ่มเกิดเรื่องเล่าว่า ‘ไอ้ไข่ชอบทหาร’ ซึ่งกลายเป็นที่มาของรูปไอ้ไข่ใส่เสื้อชุดทหารทุกวันนี้ (แต่เป็นการใส่ให้ตอนหลัง ไม่ใช่ตั้งแต่ในสมัยนั้น) 

 

ต่อมาผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอินทร์ เกิดนิมิตว่ามีเด็กแก้ผ้ากับพระจีวรสีคล้ำเอ่ยปากบอกให้สร้างรูปของเราที เพื่อจะได้อยู่เป็นหลักแหล่ง ในนิมิตผู้ใหญ่เที่ยงได้ถามว่าเป็นใคร เด็กจึงได้ตอบไปว่าเป็น ‘ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์’ เมื่อราวปี พ.ศ.2523-24 ซึ่งน่าจะเป็นเหตุที่ทำให้ไอ้ไข่เริ่มมีตัวตนแบบจับต้องได้ ผู้ใหญ่เที่ยงไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นผู้มีวิชาอาคม เล่ากันว่าหักเหล็กได้ ยิ่งทำให้รูปแกะสลักนี้ยิ่งศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น 

 

หมอบัญชาได้เล่าว่า ไอ้ไข่ได้รับการปรังปรุงสถานะในสมัยที่อาจารย์เทิ่ม พระเกจิท้องถิ่นย่านท่าศาลา-สิชล ซึ่งได้ปลีกวิเวกมาบำเพ็ญเพียรที่วัดเจดีย์ร้าง เมื่อราว พ.ศ. 2495 (ถ้าจำตัวเลขไม่ผิด) และรู้เรื่องไอ้ไข่ จึงได้ทำเหรียญไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ขึ้นเป็นรุ่นแรกเมื่อ พ.ศ. 2526 แต่หลังจากนั้นไม่นาน อาจารย์เทิ่มก็ย้ายวัด เหรียญก็แจกๆ กันแต่ไม่ได้โด่งดังอะไร ยังเป็นเรื่องเฉพาะถิ่น

 

ส่วนเรื่องที่ไอ้ไข่กลายเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ทวดนั้นเริ่มต้นจากขุนพันธรักษ์ราชเดช ได้ไปร่วมพิธีปลุกเสกที่วัดช้างไห้ จึงได้ยินเรื่องของคนทางนั้นเล่าว่า หลวงปู่ทวดมีเกลออยู่ทางเหนือ และมีเด็กวัดอยู่คนหนึ่ง สุดท้ายขุนพันธ์ท่านก็เลยมาผูกกันว่าหลวงปู่ทวดนั้นคือ ขรัวทอง และเด็กวัดที่ว่านั้นคือ ไอ้ไข่ (เรื่องเล่าทำนองนี้พบได้หลายท้องที่ในไทย ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่ศาสนาพุทธผนวกความเชื่อท้องถิ่นเข้าไป บ้างผี บ้างปราบยักษ์) 

 

ในทัศนะของหมอบัญชา สาเหตุที่ทำให้ไอ้ไข่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ไม่ใช่เรื่องของท้องถิ่นและคนเล่นของแล้ว เป็นผลมาจากการจัดการของท่านแว่น (พระครูพุทธเจติยาภิมณฑ์) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ ท่านเป็นคนเมืองนคร บวชเป็นพระเมื่อ พ.ศ. 2540 หลังจากบวชได้สองพรรษา ปรากฏว่าทางวัดเจดีย์ขาดเจ้าอาวาส ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาส จึงได้เริ่มคิดพัฒนาปรับปรุงวัด 

 

เมื่อคิดดังนั้นจึงต้องหาบางสิ่งบางอย่างมาล่อใจให้คนเข้าวัด ท่านจึงเอาเรื่องไอ้ไข่มาเป็นเครื่องประกอบ และคิดเรื่องประชาสัมพันธ์ด้วยการไปทำข้อตกลงกับทางหลวง แล้วขึ้นป้าย วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่)เป็นป้ายแบบทางหลวง ป้ายชุดแรกทำจากประจวบคีรีขันธ์ลงไปจนถึงปัตตานี ทำให้คนเมื่อขับรถผ่านไปผ่านมาสงสัย และแวะเข้าไปวัด นานวันเข้าคนก็ไปกันมากขึ้น มีบางคนถูกหวย ก็ปากต่อปากจนทำให้ชื่อเสียงของไอ้ไข่เริ่มโด่งดังเมื่อสัก 5-6 ปีที่ผ่านมา จนป้ายไปถึงเชียงใหม่แล้ว 

 

สาเหตุอีกอย่างที่ทำให้ไอ้ไข่โด่งดังมากก็มาจากรายการทีวีต่างๆ โดยเฉพาะของมดดำเมื่อ 3 ปีก่อน การไปแก้บนของขอหวยของดารา พวก influencer และการใช้โซเชียลมีเดียเช่น เฟซบุ้ค ของคนในทุกระดับที่เพิ่มขึ้นด้วย

 

โดยสรุปแล้ว เดิมทีไอ้ไข่เป็นเพียงความเชื่อในระดับท้องถิ่น แต่การที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาอย่างมากมายได้นั้นเป็นผลมาจากการผูกโยงเรื่องราวเข้ากับบุคคลศักดิ์สิทธิ์ระดับชาติคือ หลวงปู่ทวด ประกอบกับแผนประชาสัมพันธ์ที่ทำให้วัดเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่ไอ้ไข่จะดังไม่ได้เลยหากไม่มีเงื่อนไขทางสังคมก็คือ วิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองที่ทำให้ไอ้ไข่คือความหวัง 

 

ไอ้ไข่

 

หวย ไอ้ไข่ และลัทธิแห่งความหวัง   

เท่าที่ผมจำได้เมื่อเทียบกันแล้ว คนมาบูชาไอ้ไข่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนคือ ขอเลขเด็ดเอาไปแทงหวย ในขณะที่คนบูชาจตุคามรามเทพนั้น อาจมีขอหวยกันบ้าง แต่ก็น้อยเต็มที โดยมากแล้วต้องการเช่ามาบูชาเพื่อให้ทำมาค้าขายดี เป็นเศรษฐีร่ำรวย มีโชคลาภ และมีเสน่ห์ให้คนรักเพื่อจะได้เจรจาธุรกิจได้ดี ซึ่งทั้งหมดนี้เราสามารถสังเกตได้จากชื่อรุ่นต่างๆ ของจตุคามรามเทพ เช่น รุ่นมหาเศรษฐีพันล้าน รวยทันใจ 

 

เช่นเดียวกันกับไอ้ไข่ที่มีออกมามากมายหลายรุ่น เช่น รุ่นคลังเศรษฐี รุ่นทรัพย์เหลือล้น รุ่นซูเปอร์รวย บ้างเป็นการโฆษณาในลักษณะของการบอกสรรพคุณ เช่น เป็นกุมารเรียกทรัพย์ บูชาแล้วจะทำให้ค้าขายร่ำรวย เจริญทรัพย์ ให้เงินทองไหลมาเทมา ส่วนรุ่นก็มีชื่ออื่นที่ไม่สื่อในทางนี้สักเท่าไร เช่น ที่ทางวัดทำเองมี ‘รุ่นสรงน้ำ’ มีทั้งในรูปของเหรียญ เนื้อผง รูปหล่อขนาดเล็ก-ใหญ่ ไม้สลัก ตะกรุด และยันต์ เรียกว่ามีโปรดักต์ทุกอย่างให้คนที่นิยมในทางนี้ได้บูชา 

 

ถึงจะมีรุ่น และรูปแบบของวัตถุมงคลอันหลากหลายนี้ แต่คนที่บูชาโดยมากก็หวังในเรื่องขอหวยอยู่ดี ทำไมต้องเป็นหวย คิดกันง่ายๆ เลยว่า หวยเป็นการลงทุนที่น้อยที่สุด แต่ได้รับผลตอบแทนหลายเท่า ถ้าโชคดีก็กลายเป็นเศรษฐีในชั่วข้ามวัน เคยมีคนคนหนึ่งโพสต์บอกว่า ทำไมคนจนไม่คิดเก็บเงินเอาไปลงทุนขายของ และเขาก็มีทัศนะว่าถ้าซื้อหวยเอาเงินไปเล่นหุ้นดีกว่า คิดแบบนี้ก็ไม่ผิด แต่คิดจากฐานของต้นทุนชีวิตที่ไม่เท่ากัน ผิดกับหวยที่ไม่ได้ต้องลงทุน ไม่ต้องใช้ความรู้อะไรมาก 

 

สังเกตว่าช่วงที่ไอ้ไข่โด่งดังจริงๆ นั้นก็ในช่วงโควิด-19 ระบาด ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ และไม่รู้ว่าสถานการณ์เช่นนี้จะจบลงเมื่อไร ทำให้ผู้คนในสังคมไร้ความหวัง ครั้นจะลงทุนทำอะไรสักอย่างมันก็เสี่ยงมาก แน่นอนครับ การซื้อหวยมีความเสี่ยง แต่ถ้าไม่ถูกอย่างมากก็แค่เจ็บใจ และปลอบใจตัวเองว่างวดหน้ายังมีหวัง ดังนั้น คำตอบมันจึงมาจบลงที่หวยครับ 

 

หลายปีแล้ว ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทย ได้ให้ข้อสังเกตว่า การบูชาจตุคามรามเทพนั้นเข้ากันได้ดีกับอุดมคติของคนชั้นกลางที่มุ่งแสวงหาการบูชาวัตถุมงคล ซึ่งเป็นการบริโภคเชิงสัญญะ เพื่อใช้สัญญะนั้นไปสู่การครอบครองทางรูปธรรมอีกทอดหนึ่ง ซึ่งถือเป็นลักษณะของลัทธิบริโภคนิยมแบบหนึ่ง ดังนั้น การบูชาจตุคามรามเทพจึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับศีลธรรม และไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา หากแต่เป็น ‘ศาสนารวย’ ที่ตอบสนองกับชนชั้นกลาง ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงภาวะความอ่อนแอของศาสนาพุทธ (อ่านได้ในประชาไท)

 

ลัทธิไอ้ไข่ก็มีอะไรหลายๆ อย่างละม้ายคล้ายกับจตุคามรามเทพ หากแต่มีความต่างตรงที่ไม่ใช่เป็นการบูชาเฉพาะชนชั้นกลางเท่านั้น ยังรวมถึงชนชั้นล่างในสังคมด้วย เพราะไม่ได้บูชาเพื่อหวังความร่ำรวยจากการลงทุนแบบชนชั้นกลาง หากแต่เป็นการเสี่ยงโชคด้วยทุนเพียงหลักร้อย ซึ่งชนชั้นล่าง (กระทั่งชนชั้นกลาง) พอมีเงินแบบนี้กำอยู่ในมือโดยไม่เสียดายอะไร 

 

และเมื่อลองพิจารณาถึงโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจบ้านเราแล้ว ผมว่าคนจนแทบจะไม่มีโอกาสร่ำรวยได้ง่ายๆ ในเมื่อพวกเขาต้องตกอยู่ภายใต้งานที่มีค่าแรงแสนถูก การสะสมทุนจึงไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เมื่อยิ่งนึกถึงประเทศที่เศรษฐกิจเอื้อให้กับทุนใหญ่และอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ด้วยแล้ว ชนชั้นล่างในบ้านเรานี่แทบจะหาโอกาสขยับฐานะทางสังคมไม่ได้

 

 

เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้คนจำนวนมากแห่แหนกันไปบูชาไอ้ไข่ ยอมซื้อบัตรคิวในราคาสูง เบียดเสียดกันชนิดจะเหยียบกันตาย ยอมเดินทางไกลๆ เพื่อไปที่วัด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นการลงทุนแบบหนึ่ง ทำให้ลัทธิบูชาไอ้ไข่มีสถานะเป็นทุนนิยม เพราะตั้งอยู่บนแนวคิดว่ายิ่งลงทุนมากก็ยิ่งน่าจะได้รับผลตอบแทนมากเช่นกัน 

 

ไม่ว่าจะมีความแตกต่างอย่างไรระหว่างจตุคามรามเทพและไอ้ไข่ในแง่ของวิชาการ แต่จุดร่วมสำคัญของปรากฏการณ์ทั้งสองนี้คือ การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อหวังความร่ำรวยและโชคลาภ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่สังคมเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ไอ้ไข่จึงเป็นความหวัง และความร่ำรวย 

 

 

ติดสินบนผี ไก่กู้ชาติ/ชีพ และเสียงแห่งความหวัง  

การแก้บนเป็นพิธีกรรมที่มีมาช้านาน เริ่มต้นจากความคิดที่ต้องการส่งอาหารให้กับผู้ตายที่เป็นปู่ย่าตายายหรือพ่อแม่ แต่บางครั้งเมื่อเกิดเหตุไม่สบายใจ หรือไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงหวังพึ่งพลังของผี ทำให้มีการบนบานศาลกล่าวด้วยอาหารและสิ่งของต่างๆ ที่ผู้ตายชอบ ด้วยแนวคิดนี้เองที่ทำให้เกิดการเซ่นไหว้ ถวายเครื่องเซ่นต่างๆ ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้เราอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่สาเหตุที่เราต้องพึ่งอำนาจของผีนั้น ก็เป็นผลมาจากการที่โครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจนั้นไม่เอื้อต่อปัจเจกชนในการต่อสู้ 

 

ดังนั้น ภายใต้ระบบของสังคมแบบนี้ ถ้าหากคุณไม่มีความสามารถอันโดดเด่น มีโอกาส และเส้นสายที่ดีพอก็เป็นเรื่องยากที่จะทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จได้ ยิ่งเศรษฐกิจในช่วงไม่กี่ปีมานี้ที่ตกต่ำลงหลังการปฏิวัติและซ้ำเติมด้วยโควิด-19 ด้วยแล้ว ก็มีโอกาสยากมากที่จะร่ำรวยขึ้นมาได้ (ต่อให้เชื่อมั่นในศักยภาพความเป็นมนุษย์เท่าใดก็ตาม) ทำให้คนต้องพึ่งพาสิ่งที่เรียกว่าเป็น โชค หรือ ลาภลอย จากอำนาจที่มีอยู่เหนือมนุษย์ ซึ่งปุถุชนมีอำนาจมากพอที่สามารถจะต่อรองได้ โดยสามารถยื่นข้อเสนอที่เราเรียกกันว่า ‘เครื่องเซ่น’ หรือ ‘ของแก้บน’ ให้ โดยที่ยังไม่ต้องให้ไปก็ได้หากไม่สำเร็จ ซึ่งต่างจากการระบบเส้นสายและระบบอุปถัมภ์ที่อาจต้องให้ของไปก่อน โดยที่ไม่รู้ว่าจะได้ผลตอบแทนกลับมาคุ้มหรือไม่ และอาจเสี่ยงต่อชีวิตอีกต่างหาก ข้อตกลงเช่นนี้เองที่ทำให้การบนบานและติดสินบนกับอำนาจเหนือธรรมชาติได้รับความนิยมในสังคมไทย

 

ตามซุ้มจำหน่ายของแก้บนในวัดเจดีย์ (หรือวัดอื่นๆ ด้วย) จะเห็นป้ายมักมีการระบุว่าไอ้ไข่นั้นชอบอะไรบ้าง ป้ายบางอันเขียนว่า ของที่ไอ้ไข่ชอบมีน้ำแดง ชุดทหาร ตำรวจ ขนมเปี๊ยะ ประทัด ไก่ปูนปั้น หนังสติ๊ก และลูกแก้ว ของพวกนี้ขายกันมาเกือบ 10 ปีแล้วที่หน้าวัด จนขยับกันไปสู่ร้านค้าออนไลน์ที่โฆษณากันมากมายไปกว่านี้ เช่น ไอ้ไข่ชอบนม นมเปรี้ยวยิ่งดี ชอบการละเล่นพื้นบ้านทุกชนิด ไม่ทราบว่าใครเป็นคนกำหนด แต่เหมือนจะเป็นเรื่องเล่าที่คาดเดากันจากเรื่องเล่าของไอ้ไข่และความเป็นเด็กว่าเด็กชอบอะไรบ้าง เครื่องเซ่นเหล่านี้ถ้ามองกันภายใต้กรอบของวัฒนธรรมไทยแล้ว นี่ก็เป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนกันภายใต้โครงสร้างของระบบอุปถัมภ์ที่คนหนึ่งใช้อำนาจ อีกฝ่ายลงทุนด้วยสิ่งของเงินทองเพื่อเป็นการตอบแทน ปริมาณของการบนบานที่มากมายเหลือล้นที่วัดเจดีย์และที่อื่นๆ จึงเป็นสภาพสะท้อนของความคุ้นชินต่อระบบอุปถัมภ์ของคนไทย แต่ก็อาจจะสบายใจมากกว่าการติดสินบนคน เพราะติดสินบนกับผีแล้วจบ แต่คนอาจไม่จบง่ายๆ และบางครั้งอาจลำเลิกบุญคุณอีกด้วย 

 

ถ้าดูจากรูปสลักดั้งเดิม คือ เป็นเด็กแก้ผ้า แบบเด็กไทยสมัยก่อน มีรูปภาพรูปหนึ่งที่วาดขึ้นภายหลัง ให้ไอ้ไข่สวมผ้า เป็นผ้าสะพายเหน่ง (ผ้าพาดตัว) จนกระทั่งเมื่อไอ้ไข่เริ่มโด่งดังเมื่อ 3-4 ปีมานี้ เมื่อมีคนไปขอหวยและถูกจึงไปแก้บนด้วยการถวายชุดทหารให้ ซึ่งทางวัดก็นำไปสวมให้กับไอ้ไข่ ไม่ช้าหลายคนก็เชื่อกันว่า ถ้าจะแก้บนไอ้ไข่นั้นต้องเอาชุดทหารไปถวาย จากนั้นจึงตามมาด้วยของเล่นต่างๆ อีกมากมาย ทั้งปืนเด็กเล่น รถถัง และของเล่นของผู้ชายต่างๆ ซึ่งล่าสุดก็คือมีข่าวลือว่าไอ้ไข่ชอบตัวละครในการ์ตูน/ภาพยนตร์เรื่อง The Avengers จึงมีคนเอาไปถวายกันมากมาย เมื่อพิจารณาจากเรื่องนี้แล้ว แสดงว่าในสมัยเมื่อผู้ใหญ่เที่ยงแกะสลักรูปไอ้ไข่นั้นยังไม่ได้มีจินตนาการที่ยึดโยงกับทหาร เรื่องการแกล้งทหารเป็นเรื่องเล่าที่บ่งบอกอิทธิฤทธิ์ของไอ้ไข่ที่สามารถแกล้งคนมีอำนาจได้ แต่การสวมชุดทหารนี้ก็เป็นเหมือนกับการ Embodiment (การแปลงรูป) ให้ไอ้ไข่เป็นส่วนหนึ่งของทหาร และการบูชาทหารไปพร้อมกัน (โดยจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม)  

 

 

นอกจากชุดทหารแล้ว ของแก้บนอีกอย่างที่นิยมกันมากคือ ไก่ชน ไก่ชนแก้บนนี้เริ่มต้นมาจากการใช้แก้บนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้วจึงลามมายังพระเจ้าตากสินมหาราช เพราะถือว่าเป็นผู้กู้ชาติเช่นกัน (มีเรื่องเล่าของทหารเรือว่าพระเจ้าตากก็ชอบการชนไก่เช่นกัน) ส่งผลทำให้ไก่ชนได้กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการแก้บน ซึ่งโยงกันได้ดีกับลัทธิการบูชาวีรบุรุษที่มีสถานะเกี่ยวข้องกับทหาร แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามาในกรณีของไอ้ไข่ก็คือ มีการคิดทำไก่เงินไก่ทองขึ้นมา ซึ่งสื่อถึงเรื่องความร่ำรวย ทำให้ไก่ชนบางตัวมีการเขียนคำว่า รวยเงิน รวยทอง หรือมั่งมีเงินทอง จากไก่กู้ชาติจึงเปลี่ยนสถานะไปสู่ไก่ในลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยม 

 

 

มีอีกสิ่งหนึ่งที่นิยมเอาไปแก้บนคือ ประทัด ชาวบ้านเล่ากันว่าไอ้ไข่ชอบประทัด เหมือนเด็กทั่วไปที่ชอบเล่นกัน ประทัดนี้ผูกโยงเข้ากับการเสี่ยงโชคด้วย เพราะมีตัวเลขอยู่ในกล่อง เอาไปซื้อหวยได้ มีเรื่องเล่าว่าคนถูกหวยกันทุกงวด ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจจากปริมาณของประทัด แน่นอนว่าจำนวนของประทัดมากมายราวภูเขานี้เป็นตัวบ่งบอกถึงการลงทุนและความสำเร็จ แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าสังคมนี้ผู้คนใช้ความหวังกันมากเท่าใด เสียงดังของประทัดจึงเป็นเสียงแห่งความหวังที่ไม่น่ารำคาญเอาเสียเลย  

 

เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่า การบูชาไอ้ไข่เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องในศาสนาพุทธ เพราะศาสนาพุทธเองนั้นโดยรากฐานเป็นศาสนาที่ปฏิเสธความมั่งคั่งจากวัตถุ (Anti-materialism) ดังเช่นที่ จอห์น คีสเชกค์ (John Kieschnick) นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาได้อธิบายว่า พระพุทธศาสนาแสดงทัศนะอย่างชัดเจนถึงการปฏิเสธและโจมตีต่อโลกวัตถุ (Material World) โดยให้ความสำคัญกับความเจริญทางด้านจิตใจและปัญญาเสียมากกว่า ดังเห็นได้จากในพุทธประวัติของศากยมุนีที่หนีห่างจากชีวิตของเจ้าชาย ความร่ำรวย และความพึงพอใจจากวัตถุ ทั้งนี้ก็เพื่อแสวงหาการตรัสรู้ และยกระดับของจิตวิญญาณ 

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าพุทธศาสนาจะปฏิเสธวัตถุไปเสียทั้งหมด หากแต่วัตถุดังกล่าวนั้นต้องมีหน้าที่ตามประโยชน์ใช้สอยอย่างพอเหมาะ และมีหน้าที่อันสัมพันธ์กับศาสนา ตัวอย่างเช่น กุฏิที่ทำขนาดพอดีตัว ระฆังที่ใช้ในพิธีกรรม ลูกปัดเพื่อใช้ในการสวดมนต์ คัมภีร์เพื่อใช้ในการร่ำเรียน พระพิมพ์พระเครื่องเพื่อใช้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าหรือขจัดความชั่วร้าย ที่สำคัญด้วยวัตถุพวกนี้จึงแนบไปพร้อมกับความหมายทางปรัชญา ไม่ใช่แค่เพื่อความสวยงามและการอวดความยิ่งใหญ่ 

 

ปรากฏการณ์แบบไอ้ไข่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการบูชาจตุคามรามเทพ  เทพทันใจ คนทรงเจ้า การบูชาพระพรหม พระคเณศ หรือไลลา ทั้งหมดเกิดขึ้นในยามที่สังคมนั้นเกิดวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้คนหวังโชคลาภและความร่ำรวย แต่เมื่อพิจารณากันให้ลึกขึ้นแล้วจะพบว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งนั้นล้วนสัมพันธ์กับการเมือง เช่น คนทรงเจ้าเกิดขึ้นหลังปฏิวัติปี 2557, ไลลานิยมในหมู่คนเจนใหม่ที่หวังความร่ำรวยอย่างรวดเร็วในช่วง 4-5 ปีที่แล้ว ในยุคทหารครองเมือง, จตุคามรามเทพเกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติปี 2549 เป็นต้น 

 

ผมคงไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ และไม่มีปัญหาอะไรกับความเชื่อ แต่ถ้าอยากให้สังคมไทยไม่ติดอยู่กับลัทธิของการบูชาความร่ำรวยแล้ว ผมว่ามี 3 สิ่งที่เราจำเป็นต้องปรับปรุงและจัดการคือ 1) การพัฒนาระบบการเมืองที่ดี ไม่ให้ชีวิตแขวนอยู่กับการปฏิวัติ 2) การสร้างระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้คนจนและชนชั้นกลางสามารถลืมตาอ้าปากได้ ไม่ใช่ปล่อยให้นายทุน (ทั้งเอกชน ทหาร และอภิสิทธิ์ชน) ครอบครองระบบเศรษฐกิจ 3) การทำให้ศาสนาพุทธหรือศาสนาใดก็ตามเป็นที่พึ่งทางปัญญาและใจได้ครับ 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X