เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สายตาคนทั่วโลกได้จับจ้องไปที่ดาวอส เมืองเล็กๆ ในเทือกเขาแอลป์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพราะสถานที่แห่งนี้กลายเป็น Global Village ที่คลาคล่ำไปด้วยผู้นำและนักธุรกิจรายสำคัญจากทั่วโลก ซึ่งมาร่วมประชุมกันเพื่อเซ็ตโทนทิศทางการเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่โลกจะมุ่งไปตลอดปี 2025 โดยมีเป้าหมายคือการส่งเสริมร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิม ท่ามกลางความผันผวนของภูมิรัฐศาสตร์และความท้าทายในยุค AI
ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมในหลายเซสชัน และนี่คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเวทีการประชุม World Economic Forum 2025 ในวันที่โลกต้องการความร่วมมือมากกว่าที่เคย
-
Collaboration for the Intelligent Age: ความร่วมมือบนโลกยุค AI
การประชุม WEF ปีนี้มาในธีมของ Collaboration for the Intelligent Age โดยเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนขยายความร่วมมือ เพื่อเตรียมความพร้อมในโลกยุค AI ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การทำงาน และการพัฒนาทักษะแรงงาน
ในปีนี้ AI ไม่ใช่แค่แนวคิดอีกต่อไป แต่เข้าสู่การใช้งานจริงในมิติต่างๆ ฉะนั้น การพูดคุยจึงต้องครอบคลุมรอบด้าน เน้นการปฏิบัติจริง ไม่ว่าจะเป็นอาชีพที่อาจหายไป การ Upskill แรงงาน ตลอดจนการลงทุนและการพัฒนา Artificial General Intelligence (AGI) รวมถึง Intelligent Age ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
-
Trump Era: สปีชทรัมป์เขย่าดาวอส
สิ่งที่โลกจับตาในปีนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือการกลับมาอีกครั้งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะทุกการขยับของเขาสร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างหนักไปทุกวงการ ทั้งด้านการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ นโยบายการต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งภาวะโลกรวน
ท่ามกลางการประชุมที่บรรดาผู้นำโลกและนักธุรกิจมาหารือกันในมิติของความร่วมมือ การสร้างงาน พลังงานสะอาด การโอบรับความหลากหลาย ซึ่งทุกฝ่ายมองตรงกันว่านี่คือค่านิยมที่เป็นประโยชน์ แต่ทรัมป์กลับเลือกเดินไปในทิศทางที่ตรงกันข้าม โดยในเวทีการประชุม WEF ทรัมป์พูดในลักษณะที่คล้ายคลึงกับในพิธีสาบานตนของเขาที่เน้นหลักการอเมริกาต้องมาก่อน ทรัมป์ใช้กำแพงภาษีเป็นเครื่องมือในการเจรจา พร้อมเน้นการปกป้องผลประโยชน์ในประเทศ
แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจับตาคือเรื่องความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนที่เปลี่ยนไป เพราะทรัมป์เชื่อว่าสหรัฐฯ กับจีนจะมีความสัมพันธ์ที่ดีมากต่อจากนี้ ทรัมป์บอกว่าชอบสีจิ้นผิงและชื่นชอบมาตลอด ซึ่งการที่สีจิ้นผิงโทรหาเขา ทรัมป์มองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ยอมรับว่าสองฝ่ายยังมีปัญหาขัดแย้งที่รอการแก้ไข โดยทรัมป์ย้ำอยู่บ่อยครั้งบนเวทีว่า เขามองว่ายังมีเรื่องที่ ‘ไม่แฟร์’ อยู่ สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการคือความเป็นธรรมและสนามแข่งขันที่เท่าเทียมกัน ทรัมป์บอกว่าตอนนี้ความสัมพันธ์กับจีนมีลักษณะไม่เป็นธรรม เพราะสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาล และไม่ใช่แค่กับจีนเท่านั้น แต่ทรัมป์มองว่าสหรัฐฯ เองยังขาดดุลการค้ากับประเทศอื่นๆ ในอัตราที่สูงมากด้วย
อีกประเด็นสำคัญคือเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างที่ทราบกันดีว่าทรัมป์ตั้งธงมาแต่แรกว่าเขาไม่สนใจเรื่องโลกรวน ทรัมป์ฉีกข้อตกลง Green New Deal ที่เป็นนโยบายให้ทุกภาคส่วนช่วยกันหยุดยั้งวิกฤตสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังพาสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส และย้ำบนเวทีดาวอสด้วยว่า สหรัฐฯ มีน้ำมันและก๊าซปริมาณมหาศาลมากกว่าประเทศอื่นใดในโลก และสหรัฐฯ จะขุดมาใช้ประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อและนำรายได้เข้าประเทศ ซึ่งสวนทางกับที่โลกกำลังมุ่งสู่พลังงานสะอาด
-
EU: ลดพึ่งพาพลังงานรัสเซีย พร้อมช่วยยูเครน ‘นานที่สุด’
อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) พูดไว้อย่างน่าสนใจถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเวทีโลกตลอด 25 ปีที่ผ่านมา เธอชี้ให้เห็นว่าโลกยุคปัจจุบันแตกออกเป็นเศษเสี้ยว เราได้เข้าสู่ยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ที่รุนแรง
เธอกล่าวด้วยว่า การแข่งขันกันของประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ในการเข้าถึงวัตถุดิบ เทคโนโลยีใหม่ๆ และเส้นทางการค้าทั่วโลกจะเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม เธอเตือนถึงการใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจ เช่น การคว่ำบาตร การควบคุมการส่งออก และภาษีศุลกากร ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของประเทศ พร้อมเรียกร้องให้มีการทำงานร่วมกันเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่บ่อนทำลายความสัมพันธ์ในเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ ฟอน แดร์ ไลเอิน ยังกล่าวด้วยว่า ยุโรปกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของการบูรณาการเพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมเน้นว่ายุโรปไม่สามารถพึ่งพาการค้าโลกและพลังงานราคาถูกจากรัสเซียเหมือนที่ผ่านมาได้อีกต่อไป โดยมีการนำเสนอแนวทาง 3 ด้าน คือ 1. ต้องบูรณาการตลาดทุนให้ลึกซึ้งขึ้น 2 ต้องลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย อีกทั้งยังพูดชัดเจนว่ายุโรปจะสนับสนุนยูเครนนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และ 3. เรียกร้องให้พัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ เพื่อเปลี่ยนการออมของครอบครัวในยุโรปให้เป็นการลงทุนที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพ และสนับสนุนเทคโนโลยีระยะเริ่มต้น พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของยุโรปให้มีความยืดหยุ่นและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ในอนาคต
-
Future of Growth: การเติบโตของเศรษฐกิจในโลกอนาคต
รายงาน Navigating Global Financial System Fragmentation เผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า การแยกตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดจากนโยบายรัฐศาสตร์ อาจทำให้เศรษฐกิจโลกนั้นสูญเสียมูลค่าระหว่าง 0.6 ล้านล้านดอลลาร์ ถึง 5.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5% ของ GDP โลก นอกจากนี้ยังอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 5% ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุดอาจจะรุนแรงกว่าปี 2008 และอาจจะรุนแรงกว่าช่วงโควิด
เมื่อเศรษฐกิจกำลังเผชิญความท้าทาย ฉะนั้น ถ้าอยากผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น โลกก็จะต้องหันมาใช้เทคโนโลยีต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ นักวิเคราะห์มองว่าโลกหลังจากนี้จะมี AI และนวัตกรรมเป็นหัวใจของการเติบโต โดย AI จะเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจและสร้างงานใหม่ๆ ซึ่ง คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า AI อาจช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกได้ถึง 0.8%
แต่ถึงเช่นนั้นก็ต้องไม่ลืมว่าโลกยังมีปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำด้าน AI โดยประเทศที่พัฒนาแล้วมีงานถึง 60% ที่อาจได้รับผลกระทบจาก AI ในขณะที่ประเทศที่รายได้น้อยตัวเลขนี้อยู่ที่เพียง 26% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าความพร้อมและศักยภาพในการรับมือกับ AI แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มประเทศเหล่านี้
-
Climate Change: เปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่ออนาคต
ที่ประชุม WEF มีการถกเรื่องโลกรวนในหลากประเด็นด้วยกัน โดยเวทีที่มีความโดดเด่นคือสปีชของอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ใช้เวลากว่า 4 ทศวรรษเตือนโลกถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ข้อมูลจาก Climate Trace ที่ใช้ดาวเทียมกว่า 300 ดวงติดตามแหล่งที่มาของมลพิษ ชี้ว่าโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศวันละ 175 ล้านตัน และปัจจุบันปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สะสมไว้สามารถกักเก็บความร้อนได้เทียบเท่ากับระเบิดปรมาณูรุ่นแรก 750,000 ลูกที่ระเบิดขึ้นบนโลกทุกวัน ขณะที่มลพิษจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 8.7 ล้านคนต่อปี
เราจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร นอกจากการขยับปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้รักษ์โลกมากขึ้น หนึ่งในคำตอบที่เป็นไปได้ก็คือภาคเอกชนมีส่วนสำคัญมาก ถ้าไม่มีการลงทุน ถ้าภาคธุรกิจไม่ขยับเรื่องโลกรวน เราจะไม่มีวันแก้ไขในเรื่องนี้ได้ ขณะที่ในเรื่องของ Climate Finance มีเพียง 1 ใน 6 ของเงินทุนที่จำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิโอกาสเท่านั้น ทำให้ต้องเร่งสร้างโมเดลการลงทุนใหม่ที่ดึงดูดภาคเอกชน
ปัญหาในปัจจุบันคือโลกยังขาดการลงทุนในนวัตกรรมที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ ฉะนั้นเราต้องทำให้การลงทุนในสภาพภูมิอากาศเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ไม่ใช่แค่การทำการกุศลเท่านั้น
และนี่คือภาพรวมทั้งหมด ไว้พบกันใหม่ปีหน้าครับ
นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
บรรณาธิการบริหาร THE STANDARD