ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) กำลังกลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยธุรกิจในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทั้งในส่วนของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และการเสริมสร้างการปรับตัวต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศ เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการชาร์จยานพาหนะไฟฟ้า (Electric Vehicles: EV) หรือคาดการณ์การเกิดไฟป่า นอกจากนี้ AI ยังดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาตลาดเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Climate Tech) โดยรวมจะลดความร้อนแรงลงไปบ้าง แต่การลงทุนใน AI ในตลาดยานพาหนะอัตโนมัติ รถแทรกเตอร์ไร้คนขับ บ้านอัจฉริยะ และพลังงานอัจฉริยะ กลับกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ความก้าวหน้าของ AI จึงกลายเป็นโอกาสสำคัญของผู้นำองค์กรในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดย AI สามารถช่วยจัดการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ลดการใช้พลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ ความสามารถของ AI ในการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลด้านความยั่งยืนยังตอบสนองต่อความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนและหน่วยงานกำกับดูแล โดยข้อมูลจากรายงาน State of Climate Tech 2024 ของ PwC ได้นำเสนอหลายประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวโน้มเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมจะขอนำหัวข้อบางส่วนที่ผู้บริหารควรทราบมาแลกเปลี่ยนกัน ดังต่อไปนี้
ความร้อนแรงของตลาดเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป
รายงานของ PwC ระบุว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมที่สูงขึ้นและสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนส่งผลกระทบต่อตลาดการศึกษาโอกาสการควบรวมหรือซื้อขายกิจการ (การทำดีล) โดยรวม เช่นเดียวกับการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยการจัดสรรเงินทุนในเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นลดลง 29% จาก 7.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างไตรมาส 4 ของปี 2022 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 เหลือ 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐใน 4 ไตรมาสถัดมา นอกจากนี้ การไหลเข้าของเงินทุนจากการร่วมทุน (Venture Capital: VC) และทุนบริษัทนอกตลาด (Private Equity: PE) ก็ลดลงด้วยในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้การระดมทุนในเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมลดลงจาก 9.9% ของการลงทุน VC และ PE เหลือ 8.3%
โซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วย AI ยังคงได้รับความนิยม
อย่างไรก็ดี AI ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่ดึงดูดจากลงทุนจากตลาด VC ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งความคึกคักของนักลงทุนที่มีต่อ AI นี้ยังขยายไปสู่เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยในปี 2023 สตาร์ทอัพที่ทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ AI คิดเป็น 7.5% ของการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในเพียง 3 ไตรมาสแรกของปี 2024 พวกเขายังสามารถระดมทุนได้ถึง 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 14.6% ของยอดรวมการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กลุ่มการระดมทุนหลัก ได้แก่ ยานพาหนะอัตโนมัติ (62% ของการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ AI) และการประยุกต์ใช้ AI ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เกษตรกรรม บ้านอัจฉริยะ และโซลูชันพลังงานอัจฉริยะ (20%)
ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีที่มุ่งเน้นไปที่การปรับตัวและสร้างความยืดหยุ่นต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation & Resilience: A&R) ก็กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น โดยรายงานของ PwC ชี้ว่า ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2024 ประมาณ 28% ของการทำดีลด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ทำงานเกี่ยวกับโซลูชันด้าน A&R ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น การประกันภัย, การทำความเย็นในเมือง (Urban Cooling), ไฟป่า, น้ำท่วม และความเครียดจากสภาพอากาศ ในยุคที่โลกประสบกับเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงและบ่อยขึ้น
บริษัทขนาดใหญ่กำลังขับเคลื่อนขนาดการลงทุนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม
บริษัทที่ดำเนินงานนอกภาคการเงินก็ถือเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีนี้หรือเข้าซื้อกิจการสตาร์ทอัพเพื่อแสวงหาประโยชน์จากการขยายตัวของโซลูชันด้านสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ พวกเขายังให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมผ่านงบดุลของตนเองหรือหน่วยงานร่วมลงทุนของบริษัท (Corporate Venture Capital: CVC) โดยรายงานของ PwC ระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่ที่มิใช่สถาบันการเงินได้เข้าร่วมในการทำดีลด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมประมาณ 1 ใน 4 หรือคิดเป็น 28% ของดีลใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2024 นี่ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว และมีเงินทุนไม่เพียงพอหรืออาจต้องการเงินทุนเฉพาะด้านจากบริษัทเหล่านี้
คุณผู้อ่านจะเห็นได้ว่าในขณะที่ภูมิทัศน์ของเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การผสานรวมเทคโนโลยี AI เข้ากับโซลูชันด้านสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวเพื่อสร้างความยืดหยุ่น จะช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมเชิงบวก ซึ่งทั้งผู้นำองค์กรและนักลงทุนควรต้องมีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อปรับประเทศไทยของเราไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำให้ได้อย่างแท้จริงในอนาคต
ภาพ: Nuttapong Punna / Getty Images
อ้างอิง: