เนื่องในโอกาส ‘วันการศึกษาสากล’ (24 มกราคม) เราควรมาพิจารณาถึงศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพลิกโฉมการศึกษา นับเป็นวาระอันสมควรยิ่งที่วันสำคัญดังกล่าวในปีนี้จะมุ่งประเด็นไปที่ AI เพราะว่าโลกปัจจุบันกำลังเผชิญกับวิกฤตการศึกษาครั้งใหญ่ จนกระทั่งก่อนโควิด ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีเด็ก 128 ล้านคนไม่ได้ไปโรงเรียน และมีเด็กอีกหลายล้านคนมีความเสี่ยงที่จะเลิกเรียนกลางคัน ในกลุ่มเด็กๆ ที่เรียนหนังสืออยู่ หลายคนเสี่ยงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นักเรียนครึ่งหนึ่งในเอเชีย-แปซิฟิกขาดทักษะการอ่านเขียนและการคำนวณขั้นพื้นฐานเมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษา
เราจำเป็นต้องจัดสรรการศึกษาที่มีคุณภาพซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในอนาคต ซึ่งรวมถึงการเตรียมพร้อมให้แรงงานแห่งอนาคตมีทักษะสีเขียว ในประเทศไทยมีนักเรียนจำนวนมาก อย่างเช่น ยุพารัตน์ จากจังหวัดเชียงใหม่ และ อธิชาติ จากจังหวัดสกลนคร ที่จินตนาการถึงโรงเรียนซึ่งเปิดรับเทคโนโลยี การเขียนโค้ด และ AI วิสัยทัศน์ของเด็กๆ ตอกย้ำว่าระบบการศึกษาจำเป็นที่จะต้องก้าวทัน ‘การปฏิวัติดิจิทัล’
ยุพารัตน์ นักเรียนวัย 15 ปีจากจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “โรงเรียนในอนาคตของหนูควรส่งเสริม Coding และ AI ให้ได้ฝึกปฏิบัติ ได้ลงมือทำ” เธอใช้รถเข็นสำหรับผู้พิการ และขณะให้สัมภาษณ์กับองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เธอเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมี “การเรียนรู้เฉพาะบุคคลและห้องเรียนที่มีความยืดหยุ่น”
อธิชาติ วัย 15 ปีจากจังหวัดสกลนคร เสริมว่า “ตอนนี้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน และผมคิดว่าเราต้องใช้มันมาช่วยทำให้ชีวิตเราดีขึ้น” อธิชาติเป็นหนึ่งในสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดในคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนของ UNICEF ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำแก่ UNICEF และภาคีเครือข่าย ซึ่งรวมถึงรัฐบาลไทย ในการปฏิรูปการศึกษา
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวไว้ว่า “การพัฒนา AI ควรให้ประโยชน์แก่ทุกคน” เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา บรรดาผู้นำโลกได้รับรอง ‘ข้อตกลงเพื่ออนาคต’ (Pact for the Future) ซึ่งหมายรวมถึงกรอบการทำงานสำหรับการกำกับดูแลเทคโนโลยีดิจิทัลระดับโลก (Global Digital Compact หรือ GDC) โดย GDC ระบุแนวทางใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ AI และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล โดยมีสหประชาชาติให้คำมั่นเป็นผู้นำความพยายามนี้ ในประเทศไทย สหประชาชาติกำลังร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อให้แน่ใจว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะให้ประโยชน์กับนักเรียนทุกคน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขาดโอกาส ความร่วมมือดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า AI จะเป็นเครื่องมือสำหรับการนับรวมทุกกลุ่มคน ไม่ใช่การกีดกันแบ่งแยก
AI มีศักยภาพที่จะลดช่องว่างทางการศึกษาด้วยการปรับการเรียนรู้ให้เข้ากับนักเรียนแต่ละคน ยกระดับประสิทธิภาพการสอน และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม เราจะต้องหาสมดุลระหว่างศักยภาพดังกล่าวและความเสี่ยงต่างๆ
รวมถึงความเสี่ยงว่าความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลจะขยายวงกว้างขึ้น แม้ว่ากว่า 97% ของโรงเรียนในประเทศไทยจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำสูงเมื่อเปรียบเทียบการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ระหว่างโรงเรียนในเมืองและโรงเรียนในชนบท นอกจากนี้ มีเพียง 16% ของครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน อีกทั้งนักเรียนจำนวนมากยังขาดทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง และมากกว่าครึ่งหนึ่งของวัยรุ่นอายุ 16-19 ปี ไม่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อช่วยในการทำงานนำเสนอ ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้อาจทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นอุปสรรค แทนที่จะเป็นตัวช่วยในการเรียนรู้
ครูมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์จากกรุงเทพฯ อธิบายว่า คุณภาพผลงานของนักเรียนมักจะบ่งบอกว่านักเรียนคนนั้นมีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้านหรือไม่ และนักเรียนหลายคนขาดทักษะพื้นฐานในการใช้ AI หรือเครื่องมือค้นหาข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
ธนวรรธน์กล่าวว่า “นักเรียนส่วนใหญ่ที่ใช้ ChatGPT ในการทำการบ้าน จะไม่เข้าใจคำตอบที่ได้มา” หลายคนไม่สามารถใช้เครื่องมือค้นหาข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะคัดลอกผลลัพธ์แรกที่พบ ธนวรรธน์เสริมว่า “ถ้านักเรียนไม่สามารถเลือกคีย์เวิร์ดสำหรับ Google ได้ แล้วจะเขียนพรอมต์ที่ชัดเจนหรือตรวจสอบความถูกต้องของคำตอบจาก ChatGPT ได้อย่างไร”
ครูหลายท่านเน้นย้ำถึงความสำคัญของการก้าวให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
นูรฮายาตี ดือราดอะ ครูโรงเรียนบ้านธารมะลิ จังหวัดยะลา กล่าวว่า “การเป็นครูต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งต้องมีการเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะดิจิทัล” อย่างไรก็ตาม เธอเผยให้เห็นถึงความท้าทายที่ครูในพื้นที่ห่างไกลต้องเผชิญ “ด้วยความที่โรงเรียนของเราล้อมรอบด้วยภูเขา เราจะมีปัญหาเกี่ยวกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต”
UNESCO สนับสนุนครูด้วยกรอบสมรรถนะทางปัญญาประดิษฐ์ (AI Competency Framework) ซึ่งมอบแนวทางที่เน้นชุดความคิดที่ให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง จริยธรรม AI ความรู้ขั้นพื้นฐาน และการแก้ไขปัญหาด้วย AI นอกจากนี้ โครงการ One Teacher Thailand ของ UNICEF ช่วยครูมากกว่า 5 แสนคนในการยกระดับความรู้เชิงเทคนิคของครู
รัฐบาลไทยดำเนินขั้นตอนต่างๆ ที่น่าชื่นชมในด้านนี้ เช่น โครงการ Coding for All และแผนยุทธศาสตร์ AI ระดับชาติ เพื่อส่งเสริมความพยายามเหล่านี้ สหประชาชาติสนับสนุนให้มีการลงทุนด้านการเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วย AI, การฝึกอบรมครู, โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่เสริมสร้างการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนจะมีความสำคัญในการยกระดับการเข้าถึงเครื่องมือและทรัพยากรด้าน AI เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยตอกย้ำความสำคัญของ ‘ระเบียบวิธีการประเมินความพร้อม’ (Readiness Assessment Methodology) ของ UNESCO ซึ่งเป็นเครื่องมือวินิจฉัยว่าประเทศต่างๆ มีความพร้อมมากน้อยเพียงใดในด้านโครงสร้างพื้นฐาน, การกำกับดูแล, การลงทุน, นโยบายด้านสังคม และสถาบันสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับ AI
ประเทศไทยกำลังเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับนานาชาติ ‘UNESCO Global Forum on the Ethics of AI’ ในเดือนมิถุนายน 2025 โดยงานนี้จะช่วยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกันระหว่างผู้กำหนดนโยบาย นักการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อให้แน่ใจว่า AI จะได้รับการพัฒนาและนำไปประยุกต์ใช้อย่างมีจริยธรรม นอกจากนี้ สหประชาชาติยังสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของประเทศไทยในระดับนโยบาย หากเราให้ความสำคัญกับการนับรวมทุกกลุ่มคน ความเสมอภาค และความเป็นธรรม เราจะสามารถสร้างระบบการศึกษาที่สนับสนุนให้เด็กทุกคนเติบโตได้อย่างสมบูรณ์
นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการสร้างความเสมอภาค การนับรวมทุกกลุ่มคน และการเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่สามารถหาหนทางของตนในโลกที่ซับซ้อนและขับเคลื่อนด้วย AI เราต้องให้ค่ากับวิสัยทัศน์ของนักเรียนอย่างยุพรัตน์และอธิชาติ และเราต้องทำให้แน่ใจว่าเด็กและผู้เรียนทุกคนจะพร้อมก้าวสู่ความสำเร็จในยุคดิจิทัล
ภาพ: UNICEF