×

เมื่อ AI เฉิดฉายในเวทีโนเบล กับดาบสองคมที่อาจดิสรัปต์วงการและคุกคามมนุษยชาติ

โดย Mr.Vop
11.10.2024
  • LOADING...
AI เวทีโนเบล

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่กำลังมีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นไฮไลต์สำคัญหรือถือเป็นพระเอกของเวทีประกาศรางวัลโนเบลประจำปี 2024 เลยก็ว่าได้ หลังสาขาหลักทางวิทยาศาสตร์​ 2 สาขา อันได้แก่ ​ฟิสิกส์ และเคมี ต่างก็มีผู้ชนะรางวัล​ด้วยผลงานที่เกี่ยวข้องกับปัญญา​ประดิษฐ์​เป็น​หลัก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

เจฟฟรีย์ ฮินตัน วัย 76 ปี และ จอห์น ฮอปฟิลด์ วัย 91 ปี ผู้บุกเบิกด้านปัญญาประดิษฐ์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกัน จากผลงานเกี่ยวกับการเรียนรู้ของโครงข่ายประสาทเทียม คณะกรรมการโนเบลชื่นชมการมีส่วนร่วมของผู้เฒ่าทั้งสองต่อ AI สมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงข่ายประสาทเทียมที่เลียนแบบสมองของมนุษย์ ระบบเหล่านี้ช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้ได้เองจากข้อมูลต่างๆ ที่ไหลเข้ามา ซึ่งเป็นรากฐานของทุกสิ่ง ตั้งแต่การจดจำใบหน้าไปจนถึงรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ

 

ในส่วนของ​สาขาเคมีนั้น ครึ่งหนึ่งของแสงสปอตไลต์ส่องไปที่ จอห์น จัมเปอร์ และ เดมิส ฮัสซาบิส จาก Google DeepMind ที่นำเอา AI ในโครงการ AlphaFold2 มาทำนายโครงสร้างโปรตีนได้อย่างแม่นยำ ถือเป็นการปฏิวัติ​วงการจนในอนาคต​เราอาจสามารถพัฒนาตัว​ยาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว​ แสงอีกครึ่งส่องไปที่ เดวิด เบเกอร์ จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ที่เอา AI มาออกแบบโปรตีนชนิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนบนโลกใบนี้ได้สำเร็จ​ เปิดทางให้เกิดการทดลองสร้างโปรตีนที่สามารถใช้เป็นวัคซีน วัสดุนาโน และเซ็นเซอร์ขนาดเล็กขึ้นมาด้วย

 

อัจฉริยะ​ในตำนาน

 

คุณปู่จอห์น ฮอปฟิลด์ นั้นต้องถือเป็นตำนานตัวจริงในสาขาวิทยาศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์ ชื่อเขาถูกนำไปตั้งเป็นชื่อ ‘เครือข่าย​ฮอปฟิลด์​’ ที่คนในวงการรู้จักกันดี มันคือหน่วยความจำชนิดที่เราดึงข้อมูลที่ต้องการออกมาได้ทันทีโดยไม่ต้องระบุแอดเดรสที่เก็บข้อมูล เหมือนเราได้คำแปลจากดิกชันนารี​โดยบอกแค่คำที่ต้องการโดยไม่ต้องบอกเลขหน้าหนังสือ งานของจอห์น​เริ่มมาตั้งแต่ต้นยุค 80 ด้วยการพัฒนา​ระบบเรียนรู้​และจดจำเหมือนเครือข่าย​ประสาทเทียมที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเซลล์ประสาทจริงในสมองของสิ่งมีชีวิต​ ส่วนอีกคนคือ เจฟฟรีย์ ฮินตัน ได้หยิบใช้แนวคิดของฮอปฟิลด์​ไปต่อย​อด​ โดยปรับแก้จนโครงข่ายประสาทเทียมสามารถชี้และดึงสิ่งที่ต้องการในชุดข้อมูลที่ซับซ้อนขึ้นไปอีกเช่นจากรูปภาพ ความก้าวหน้าของอัจฉริยะ​ทั้งสองได้กลายมาเป็นศูนย์กลางของความสามารถของ AI ที่เราเห็นและคุ้นเคยในทุกวันนี้ ที่สามารถทำงานทั้งข้อมูลภาพและเสียงรวมทั้งสื่อชนิดอื่น ทำได้ทั้งการแก้ปัญหา จดจำ และแม้แต่สร้างเนื้อหาใหม่

 

“ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์​ทั้ง 2 คนในปีนี้ ได้ใช้เครื่องมือทางฟิสิกส์เพื่อพัฒนาวิธีการที่เป็นรากฐานการเรียนรู้ของเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน” นี่คือประโยค​ในคำแถลงการณ์ในพิธีมอบรางวัล​โนเบล​ “การเรียนรู้ของเครื่อง​จักร​ผ่านทางโครงข่ายประสาทเทียมกำลังปฏิวัติวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และชีวิตประจำวันของมนุษย์

 

“ผลงานของผู้ชนะรางวัลถือเป็นประโยชน์อย่างสูงด้านฟิสิกส์ เราใช้โครงข่ายประสาทเทียมในงานหลากหลายสาขา เช่น การพัฒนาวัสดุใหม่ที่มีคุณสมบัติเฉพาะ” เอเลน มูนส์ ประธานคณะกรรมการโนเบลสาขาฟิสิกส์กล่าว

 

เจฟฟรีย์ ฮินตัน เคยได้รางวัลด้าน AI มาก่อนแล้ว

 

ผู้ชนะรางวัลทัวริงในปี 2018 มี 3 คน ได้แก่ เจฟฟรีย์ ฮินตัน รับรางวัลร่วมกับลูกศิษย์ 2 คน ได้แก่ ยานน์ เลอคุน และ โจชัว เบนจิโอ รางวัลนี้มีผู้สนับสนุนหลักๆ คือบริษัท Intel และ Google พิจารณา​ผ่านสมาคมคอมพิวเตอร์​เอซีเอ็ม เน้นเจาะจงไปที่ผลงานด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์​

 

จะเห็นว่าฮินตันนั้นได้รับรางวัลอันเป็นเกียรติยศสูงสุดทั้งโนเบลและทัวริง แต่รายชื่อผู้ได้รับรางวัลร่วมคนอื่นๆ แตกต่างกัน อาจเป็นเพราะคณะกรรมการโนเบลมุ่งเน้นไปที่ความก้าวหน้าของ AI ที่มีที่มาจากโลกฟิสิกส์โดยเจาะจง แตกต่างจากคณะกรรมการทัวริงที่มองผลงานด้านวิทยาการ AI แบบไม่เจาะจงที่มา นอกจากนี้ยังอาจเป็นเรื่องของมุมมองส่วนตัวของคณะกรรมการทั้ง 2 รางวัลด้วย

 

ตัวฮินตันเองนั้นก็อยากให้ ‘เดวิด รูเมลฮาร์ต’ (David Everett Rumelhart) อดีตหัวหน้างานวิจัยที่ทำงานด้วยกันเมื่อปี 1982 ได้รางวัลโนเบล ทั้งคู่เคยถกเถียงกันว่า กลไกแบ็กโพรพาเกชันของรูเมลฮาร์ตหรือกลไกเครื่องจักรโบลต์ซมันน์ของฮินตันทำงานได้ไวกว่ากัน สุดท้ายรูเมลฮาร์ตก็เสียชีวิตไปก่อนจากปัญหาด้านสุขภาพ ก่อนที่ฮินตันจะยอมรับว่า กลไกแบ็กโพรพาเกชันของรูเมลฮาร์ตทำงานได้ไวกว่าจริงๆ แต่รางวัลโนเบลนั้นจะมอบให้กับนักวิทยาศาสตร์ที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น และฮินตันก็ได้รางวัลนี้ไปอย่างที่ทราบกัน

 

จากเกมกระดานสู่โครงสร้างโปรตีน

 

กลับมาดูผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาเคมี 2 คนที่ทำงานผ่านระบบ AlphaFold อันได้แก่ จอห์น จัมเปอร์ และ เดมิส ฮัสซาบิส ซึ่งก่อนหน้านี้ AlphaFold ของ Google DeepMind ถูกสร้างขึ้นมาในชื่อ AlphaZero ซึ่งมีจุดประสงค์ให้ AI ชนะการเล่นหมากรุกกับมนุษย์ และอีกโครงการคือ AlphaGo ซึ่งมีจุดประสงค์ให้ AI ชนะการเล่นหมากล้อมหรือโกะ

 

ในปี 2018 จอห์น จัมเปอร์ และ เดมิส ฮัสซาบิส ได้เข้ามาพัฒนาโครงการนี้ต่อไปโดยมีจุดหมายที่จะนำมาใช้ด้านวิทยาศาสตร์มากกว่าใช้เล่นเกม การพัฒนาเน้นด้านการเรียนรู้เชิงลึกของระบบ AI จนถือกำเนิดเป็น AlphaFold 1 ซึ่งเป็นเวอร์ชันแรกในปีนั้น และพัฒนาต่อมาจนกลายเป็น AlphaFold  2 ในปี 2020 ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่ทั้งคู่ใช้ในการทำนายโครงสร้างโปรตีนจนได้รางวัลโนเบลในครั้งนี้

 

แน่นอนว่าโครงการนี้ยังดำเนินต่อไป โดยเวอร์ชันล่าสุด AlphaFold 3 มีความสามารถถึงระดับทำนายโครงสร้างของ DNA และ RNA แล้ว ซึ่งทาง DeepMind ก็ได้ปล่อยตัวซอร์สโค้ดและฐานข้อมูลเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์นำไปใช้ประโยชน์โดยไม่คิดมูลค่า 

 

“ผมอุทิศอาชีพของผมเพื่อพัฒนา AI เนื่องจากมีศักยภาพที่ไม่มีใครเทียบได้ในการปรับปรุงชีวิตของผู้คนหลายพันล้านคน” เดมิส ฮัสซาบิส กล่าว

“โปรแกรม AlphaFold มีนักวิจัยทั่วโลกมากกว่า 2 ล้านคนใช้เพื่อพัฒนางานที่สำคัญด้านสุขภาพ ตั้งแต่การออกแบบเอนไซม์ไปจนถึงการค้นคว้ายา

“AlphaFold คือจุดพิสูจน์แรกของศักยภาพอันเหลือเชื่อของ AI ในการเร่งการค้นพบทางวิทยาศาสตร์” เขากล่าวเสริม​

 

วันเวลาที่หดสั้นลง

 

เมื่อก่อนงานวิจัยที่จะได้รับรางวัลโนเบลอันทรงเกียรติต้องใช้เวลา 20-40 ปี เนื่องจากจุดประสงค์ของรางวัลโนเบลคือการให้รางวัลแก่นักวิจัยที่ ‘ได้มอบผลประโยชน์สูงสุดให้กับมนุษยชาติ’ และคุณมักต้องใช้เวลาในการยืนยันผลกระทบของงานทางวิทยาศาสตร์​ค่อนข้างนาน แต่สำหรับ AlphaFold​ นั้น โลกของ AI ทำให้ทุกสิ่งเปลี่ยนไป​ วันเวลาหดสั้นลง ใช้เวลาไม่ถึง 10 ปีเพื่อได้รางวัล​โนเบล​

 

อย่าใช้ AI โดยประมาท

 

เจฟฟรีย์ ฮินตัน หรือในอีกฉายาที่รู้จักกันว่าเป็นเจ้าพ่อแห่ง​ AI ลาออกจากบริษัท Google ในปี 2023 หลังช่วยงานอยู่หลายปี โดยให้เหตุผล​ถึงความน่ากลัวของ AI จากตอนแรกที่ยังเชื่อมั่นและไว้ใจทางบริษัท​ แต่ในที่สุด​ฮินตันเริ่มตระหนัก​ได้ว่า ‘ภัยคุกคาม’ ที่ซ่อนเร้นอยู่​ได้ถาโถมเข้ามาสู่จิตใจเขาไม่หยุดหย่อน ตั้งแต่การเปิดตัว ChatGPT โดย OpenAI มาจนถึง Bard แชตบอตของ Google เองที่เปิดตัวออกมาหลังจากนั้น

 

“ผมคิดว่า Google น่าจะมีความรับผิดชอบสูงพอที่จะปล่อยแชตบอตตัวนี้ออกมา แต่สุดท้ายเราก็ต้องยอมรับให้ได้ว่า ในเมื่อพวกเราเกิดและโตท่ามกลางระบบทุนนิยม เราก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการแข่งขันอย่างเสรีกับแชตบอตของบริษัท​คู่แข่ง​”

 

ฮินตันแสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับระบบ AI ที่พัฒนาเกินกว่าการควบคุมของมนุษย์ ในการสัมภาษณ์หลังการประกาศรางวัลโนเบล ฮินตันย้ำข้อกังวลของเขาว่า AI อาจเหนือกว่าสติปัญญาของมนุษย์ ซึ่งนำไปสู่ผลที่ตามมาที่สังคมไม่พร้อมที่จะรับมือ

 

“เราไม่มีประสบการณ์ว่าการมีชีวิตอยู่ร่วมกับจักร​กลที่ฉลาดกว่าเรา โลกจะมีสภาพ​เป็น​อย่างไร” ฮินตันกล่าวทางโทรศัพท์จากโรงแรมแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย​ระหว่าง​งานมอบรางวัลโนเบล​ “โลกอาจพบเรื่องดีๆ ในหลายๆ ด้าน เช่น การดูแลสุขภาพ แต่เราก็ควรกังวลเกี่ยวกับผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นอีกหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคุกคามจากสิ่งที่อยู่​เหนือ​การควบคุม”

 

ขณะที่ฮอปฟิลด์ ผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกับฮินตัน ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับ AI เช่นกัน และมีความเห็นไปในทางเดียวกันกับฮินตันถึงความน่ากลัวในการมีชีวิตอยู่ร่วมกับจักรกลที่ชาญฉลาดแต่ไม่อยู่ในการควบคุม

 

การเปลี่ยนแปลงของโนเบลและดาบสองคม

 

รางวัลโนเบลในปีนี้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มหรือเทรนด์ใหม่ที่ไม่เพียง AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม แต่ยังรวมไปถึงรางวัลแห่งเกียรติยศสูงสุดของเหล่านักวิชาการด้วย เพราะตั้งแต่ไหนแต่ไรมา รางวัลโนเบลจะเน้นไปที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เป็นหลัก โดยมุ่งจับตาการค้นพบที่มีรากฐานมาจากกฎธรรมชาติและปรากฏการณ์ทางกายภาพ แต่ในวันนี้เส้นแบ่งระหว่างวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำลังจางลงเรื่อยๆ นักวิจัย AI กลายมาเป็นผู้ได้รับการยอมรับและได้รางวัลจากการสร้างเครื่องมือที่กำหนดวิธีที่เราจะใช้มันในการเข้าถึงและแก้ไขปัญหาทางวิทยาศาสตร์

 

รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์และเคมีปี 2024 เน้นย้ำถึงศักยภาพอันน่าทึ่งของ AI ในการแก้ปัญหาต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ที่มีมายาวนานด้วยเวลาอันรวดเร็ว แต่ AI ก็เหมือนดาบ 2 คม เนื่องจากมันก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อสายพันธุ์มนุษย์ ที่สำคัญเราได้รับคำเตือนจาก ‘บิดา’ ของ AI อย่าง จอห์น ฮอปฟิลด์ และ เจฟฟรีย์ ฮินตัน ที่ไม่ต่างจากการเตือนผู้คนให้ระวัง ‘บุตร’ ของตนเอง ว่าให้ใช้งาน AI อย่างระมัดระวัง เนื่องจากมันคือสมองที่ไร้มโนธรรม

 

ภาพ: Andrey Suslov via Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X