องค์การสหประชาชาติ (UN) ร่วมมือกับจีนและสหรัฐฯ ในความพยายามที่จะปิดช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระหว่างประเทศพัฒนากับประเทศกำลังพัฒนา ให้ทั้งสองกลุ่มประเทศมีโอกาสได้ประโยชน์จาก AI อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น
AP รายงานว่า สืบเนื่องจากมติ AI ฉบับแรกของสหประชาชาติที่นำโดยสหรัฐฯ ร่วมกับประเทศ 123 ประเทศ ซึ่งมีจีนเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วม เมื่อเดือนปลายเดือนมีนาคม มติดังกล่าวได้รับการอนุมัติแล้วในวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อแสดงถึงความพยายามระดับนานาชาติกับการสร้างมาตรฐาน AI ที่ ‘ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และไว้ใจได้’ ให้ทุกประเทศได้ประโยชน์ร่วมกัน
ความร่วมมือที่ไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมายนี้แสดงให้เห็นว่า แม้สหรัฐฯ กับจีนจะเป็นคู่แข่งกันในหลายมิติ แต่ทั้งสองก็มุ่งที่จะเป็นผู้เล่นหลักในการกำหนดทิศทางเทคโนโลยี AI และมติล่าสุดก็แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันในก้าวแรกระหว่างสองชาติมหาอำนาจ
Fu Cong เอกอัครราชทูตประจำ UN ประเทศจีน กล่าวกับสำนักข่าว AP ว่า “เรารู้สึกชื่นชมกับบทบาทของสหรัฐฯ ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ทั้งหมด” โดยสหรัฐฯ จะเป็นผู้นำในการวางรากฐานภาพรวมเกี่ยวกับ AI ในขณะที่ประเทศต่างๆ ที่เป็นผู้นำนโยบายมาใช้ จะเน้นเรื่องการเสริมสร้างศักยภาพการใช้งาน AI
นอกจากนี้ Fu Cong ยังมองไปถึงอนาคตกับการร่วมมือที่แน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีนมากขึ้น รวมถึงกับประเทศอื่นๆ ในการกำหนดทิศทางของ AI ท่ามกลางการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีนี้
ทางด้าน Nate Evans โฆษกฝั่งสหรัฐฯ ประจำ UN กล่าวว่า “เราทำงานร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนา เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่า AI จะเคารพสิทธิมนุษยชน สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสในโลกดิจิทัล และการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน”
อย่างไรก็ตาม Fu Cong แสดงความเห็นต่อข่าวเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมากับรายงานที่ว่า กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เตรียมจะยกระดับกำแพงการค้ากับจีน ด้วยการเพิ่มข้อจำกัดเม็ดเงินที่บริษัทและชาวอเมริกันจะสามารถนำไปลงทุนในจีนได้ โดยจุดประสงค์หลักก็เพื่อลดศักยภาพไม่ให้จีนสร้างฐานเทคโนโลยีล้ำสมัย อย่างเช่น ชิปเซมิคอนดักเตอร์ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงกับฐานะผู้นำเบอร์หนึ่งของสหรัฐฯ ได้
“เราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับกำแพงการค้านี้ เพราะมันไม่เพียงแต่จะลดประสิทธิภาพการพัฒนาระบบนิเวศ AI แต่จะส่งผลลบทำให้เกิด AI ที่เป็นสองมาตรฐาน รวมทั้งการกำกับดูแลที่ไม่เท่าเทียมกัน” Fu Cong กล่าว พร้อมแนะให้สหรัฐฯ พิจารณายกเลิกนโยบายดังกล่าวและสร้างสนามการแข่งขันที่เปิดกว้าง เป็นธรรม และไม่แบ่งแยก
ทั้งนี้ สหรัฐฯ และจีนต่างเตือนถึงภัยคุกคามของ AI แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาต่างก็ชูศักยภาพของมันในการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและชีวิตของคนทั่วโลก
สหรัฐฯ ตระหนักดีว่าการกำกับดูแล AI ยังอยู่ในช่วงเริ่มแรกและกำลังพัฒนาไปสู่ขั้นถัดไป ซึ่งจำเป็นต้องมีการหารือเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลเพิ่มเติม และทางสหรัฐฯ ยังมีมติเร่งให้ประเทศต่างๆ ตรวจสอบให้มั่นใจว่าการใช้ AI จะไม่ทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล ปกป้องสิทธิมนุษยชน และตรวจสอบความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งาน
จีนเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญที่สหประชาชาติควรมีในการกำกับดูแล AI ในฐานะเวทีระหว่างประเทศที่มีผู้แทนมากที่สุดและครอบคลุมที่สุด
มติของจีนมีความมุ่งมั่นที่จะปิดช่องว่างด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างและภายในประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงการแบ่งปันความรู้และถ่ายทอดนวัตกรรมไปยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
อ้างอิง: