×

งานศึกษาล่าสุดชี้ การผลิตเนื้อสัตว์ นม และข้าว มีส่วนทำลายเป้าหมายที่จะไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

07.03.2023
  • LOADING...

งานศึกษาล่าสุดชี้ว่า การผลิตอาหารอย่างเนื้อสัตว์ นม และข้าว ดั่งเช่นในปัจจุบัน มีส่วนทำลายเป้าหมายที่จะควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ถ้าหากไม่มีการจัดการกับการผลิตอาหารที่เกี่ยวพันกับก๊าซมีเทนเหล่านี้

 

งานศึกษาชิ้นนี้วิเคราะห์และประเมินว่า ถ้าหากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวพันกับระบบการผลิตอาหารดั่งเช่นทุกวันนี้ยังคงดำเนินต่อไป จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างน้อย 0.7 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 หลังจากที่เพิ่มสูงขึ้นมาแล้วราว 1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม 

 

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า แค่ผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากมิติการผลิตอาหารเพียงอย่างเดียว ยังไม่นับรวมผลกระทบด้านอื่นๆ โดยเฉพาะการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ก็มีส่วนที่จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเรียบร้อยแล้ว

 

งานศึกษายังชี้อีกว่า 75% ของความร้อนที่เกี่ยวพันกับการผลิตอาหารมาจากอาหารที่เป็นแหล่งผลิตก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่ออุณหภูมิเฉลี่ยและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก โดยเฉพาะการทำปศุสัตว์และการปลูกข้าว แต่อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเราสามารถตัดทอนความร้อนที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นนี้ได้ราว 55% หากบรรดาประเทศมั่งคั่งลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง รวมถึงปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำฟาร์มปศุสัตว์ และหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น

 

โดยบรรดางานศึกษาก่อนหน้านี้ต่างชี้ให้เห็นถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงของการผลิตอาหารต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการผลิตเนื้อสัตว์และข้าว ขณะที่งานศึกษาชิ้นใหม่คาดการณ์ตัวเลขอุณหภูมิที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวอาจสะท้อนถึงการประเมินสถานการณ์ที่ตำ่เกินไป เนื่องจากใช้ข้อสันนิษฐานที่ว่า อัตราการบริโภคเนื้อสัตว์จะยังคงอยู่ในระดับเดียวกันนี้ต่อไปอีกในอนาคต ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ตัวเลขการบริโภคเนื้อสัตว์ดังกล่าวอาจเพิ่มสูงขึ้น 70% ภายในปี 2050

 

ทางด้าน แคเทอรีน อิวาโนวิช ผู้นำในงานศึกษาชิ้นนี้จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า มีเทนมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการผลักดันภาวะโลกร้อนอันเนื่องมาจากระบบการผลิตอาหาร โดยการรักษารูปแบบและระบบการผลิตอาหารที่เรามีในปัจจุบันนี้ ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายที่จะควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างมากที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาหารที่มีการปล่อยก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศโลก และเราจำเป็นที่จะต้องตั้งเป้าหมายด้านประชากรโลกอย่างยั่งยืน ให้สอดคล้องกับอนาคตด้านสภาพภูมิอากาศโลกที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

 

งานศึกษาที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Nature Climate Change นี้ได้จำแนกก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดออกจากอาหารจำนวน 94 ชนิด เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของการผลิตอาหารต่อสิ่งแวดล้อม โดยแบบจำลองด้านสภาพภูมิอากาศในงานศึกษาชิ้นนี้บ่งชี้ว่า ระบบการผลิตอาหารในปัจจุบันจะมีส่วนทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างน้อย 0.7 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 หากอัตราการเติบโตของจำนวนประชากรโลกอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 0.9 องศาเซลเซียส หากอัตราการเติบโตของจำนวนประชากรโลกอยู่ในเกณฑ์สูง

 

โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาในประเด็นนี้ชี้ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่เพิ่มขึ้นจากระบบการผลิตอาหารสามารถตัดทอนลงได้ หากผู้คนปรับลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง โดยอนุญาตให้รับประทานสัตว์เนื้อแดงได้เพียง 1 มื้อต่อสัปดาห์ ก็อาจจะช่วยลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยลงได้ราว 0.2 องศาเซลเซียส ขณะที่การใช้อาหารสัตว์ที่ผ่านการปรับแต่งและมีการจัดการด้านมูลสัตว์ที่ดี ก็อาจช่วยลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยลงได้ราว 0.2 องศาเซลเซียสเช่นเดียวกัน ส่วนการหันมาใช้พลังงานสีเขียวในการผลิตอาหารก็อาจปรับลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยลงได้ราว 0.15 องศาเซลเซียส

 

ปัจจุบันมีประเทศเพียงราว 1 ใน 3 ของประชาคมโลกเท่านั้นที่รวมนโยบายการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรมลงในแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของตนที่ต้องยื่นต่อสหประชาชาติ ตามแนวทางที่ให้ไว้ในความตกลงปารีส

 

ภาพ: Stephen Butler / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising