วันนี้ (2 กรกฎาคม) ที่กระทรวงสาธารณสุข สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 17 (ครั้งที่ 1/2563) โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สาธิตกล่าวว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการขายเครื่องดื่มทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ที่มีการขายพร้อมโปรโมชันพิเศษและจัดส่งให้ถึงหน้าบ้าน โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านอายุ เวลา และสถานที่ ส่งผลให้ผู้บริโภคเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย และทำให้การบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เป็นไปได้ยาก และยังเป็นการทำลายกรอบการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกรูปแบบ อาทิ เด็กหรือวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถสั่งซื้อได้ สั่งซื้อในเวลาและสถานที่ที่ห้ามขาย ทำให้รัฐเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี เพราะตรวจสอบยอดขายยาก
ร่างประกาศฯ ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันผู้บริโภคเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย ซึ่งต้องมีมาตรการควบคุมเน้นไปที่วิธีการและลักษณะการขาย อาศัยอำนาจตามมาตรา 30 (6) เพื่อออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดลักษณะและวิธีการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื้อหาจะมุ่งเน้นไปที่กระบวนการทำนิติกรรมสัญญาเป็นหลัก โดยเริ่มตั้งแต่การทำคำเชิญชวน การทำคำเสนอซื้อ และการสนองรับการขาย เพื่อเป็นการควบคุมในเรื่องวิธีการและลักษณะการขายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน นพ.สุวรรณชัย กล่าวเสริมว่าสำหรับข้อยกเว้นของประกาศฯ ฉบับนี้ ในอนาคตร้านค้าหรือร้านอาหารอาจมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการภายในร้าน มีการสั่งเครื่องดื่มผ่านทางหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ จะไม่ถือว่าเป็นความผิดตามประกาศฯ ฉบับนี้ เนื่องจากเป็นการซื้อขายโดยตรงที่ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ที่ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เป็นการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์
ทั้งนี้ปัจจุบันมีระบบเฝ้าระวังการละเมิดกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (TAS) ประชาชนสามารถร้องเรียนผ่านระบบดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ tas.go.th หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา โทร. 0 2590 3342
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์