×

‘Agree to Disagree’ บางครั้งการเห็นต่างไม่จำเป็นต้องทะเลาะกันเสมอ

โดย Lilac Sky
13.11.2020
  • LOADING...
‘Agree to Disagree’ บางครั้งการเห็นต่างไม่จำเป็นต้องทะเลาะกันเสมอ

ทีมฟุตบอลทีมไหนเจ๋งสุด? ฟังเพลงแนวไหนเรียกว่าเทสต์ดี? อาหารร้านนี้อร่อยกว่าร้านนั้นอย่างไร? คุณเคยถกประเด็นเหล่านี้กับเพื่อนที่เห็นต่างกันแบบสุดโต่งไหม ซึ่งสุดท้ายเราทั้งคู่ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากอาการปวดหัวตึ้บๆ ที่ขมับข้างขวาแทน

 

ข้อถกเถียงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน เพราะเมื่อเราก้าวขาออกไปเจอสังคม ไม่สิ แม้กระทั่งเปิดหน้าจอโทรศัพท์มือถือเข้าโซเชียลมีเดีย เราก็ได้พบปะกับผู้คนที่เต็มไปด้วยทัศนคติและความคิดเห็นแตกต่างกันออกไป 

 

ไม่ว่าจะรสนิยมส่วนตัว เช่น เพลงที่ฟัง หนังที่ชอบ หนังสือที่อ่าน ไปจนถึงประเด็นใหญ่ๆ อย่างมุมมองทางการเมือง ซึ่งแม้จะเถียงให้ตายอย่างไรก็หาข้อสรุปไม่ได้สักที หรือแบบนี้เราจะต้องทำเป็นเห็นด้วยเพื่อเห็นต่างดี?

 

เห็นด้วยว่ามันเปล่าประโยชน์ที่จะเถียงต่อ

หลายคนอาจจะเคยได้ยินประโยคนี้ในภาพยนตร์บ่อยๆ “Let’s just agree to disagree.” ซึ่งเมื่อแปลออกมาแล้วก็จะได้ประมาณว่า “ถ้าอย่างนั้นเห็นด้วยก็ได้ เรื่องจะได้จบๆ” ฟังดูแล้วก็เป็นประโยคที่ดูหน้ามึนดีเหมือนกัน เพราะมันคือการต่อต้านหรือปฏิเสธความเห็นของอีกฝ่ายด้วยวิธีเออออห่อหมกไปกับเขา

 

วิธีการแสดงความเห็นต่างแบบ ‘Agree to Disagree’ คือการที่เราเข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายแสดงออกมา และยอมรับว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดหรือเปลี่ยนใจใครได้ ทำให้เราอยากหยุดการถกเถียงนั้น และแยกย้ายกันไปทำอย่างอื่นต่อโดยไม่ตีกันตายไปเสียก่อน

 

ซึ่งที่เราเห็นด้วยเพื่อเห็นต่างนั้นเป็นเพราะเราเข้าใจดีว่าผู้คนมักจะมีความเห็นส่วนตัวในแต่ละข้อถกเถียงเสมอ และความเห็นนั้นอาจไม่ได้มาจากตรรกะหรือเหตุที่ฟังขึ้นสักเท่าไร แต่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ ประสบการณ์ อคติ และความพึงพอใจส่วนตัวของเขาด้วยต่างหาก ทำให้เกิดเป็นหลายความเห็นที่ไม่มีใครถูกและไม่มีใครผิด เหมือนอาหารจานหนึ่ง ที่บางคนชิมแล้วอาจจะบอกว่าถูกปาก แต่บางคนอาจจะคายทิ้งแล้วบอกว่าไม่ได้เรื่องเอาเสียเลย

 

ด้วยเหตุนี้ในบางประเด็นข้อถกเถียง เราจึงไม่จำเป็นจะต้องหาว่าใครถูกหรือผิด หรือพิสูจน์ความจริงอะไร เพียงแค่รับฟังความเห็นที่แตกต่างของผู้คนก็พอแล้ว ซึ่งถ้าหากมันกลายเป็นเรื่องบานปลายจนเกือบจะทะเลาะกันจนแตกหัก เราก็แค่ Agree to Disagree ก็พอ

 

เห็นด้วยไม่ได้แปลว่าแพ้

ยอมแพ้แล้วเหรอ? ไม่มีอะไรจะเถียงล่ะสิ? เชื่อว่าประโยคเหล่านี้น่าจะตามมาหลังจากที่เราบอกไปว่า “โอเค เห็นด้วยก็ได้” เพราะมันทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเขาน่าจะชนะในแมตช์นี้แล้ว ดูจากการที่เราไม่เถียงอะไรต่อ

 

ซึ่งจริงๆ แล้วเรารู้อยู่แก่ใจว่าเราไม่ได้ยอมแพ้กับความคิดของเราหรอก เพราะเรายังคงเชื่อว่าสับปะรดไม่ควรอยู่บนหน้าพิซซ่า และเพลงบลูส์ก็เป็นเพลงที่ทำให้ผ่อนคลายที่สุด แต่แล้วอย่างไรต่อล่ะ เถียงกันจนตะวันตกดิน เราก็ยังคงเชื่อในแบบเดิม แต่เราจำเป็นจะต้องเถียงกันจนเหนื่อยเลยหรือเปล่า? ถ้าอย่างนั้นขอเห็นด้วยแบบแกล้งๆ ก็แล้วกัน จะได้จบๆ ไป ไม่เสียเวลา

 

ซึ่งช่วงแรกเราอาจจะหัวเสียหน่อยกับการที่ถูกมองว่าขี้แพ้ แต่ในท้ายที่สุด เราจะรู้ว่าตัวเองก็เก่งดีเหมือนกันที่ผ่านเรื่องนี้ไปได้อย่างไม่มีการบาดหมาง เพราะบางความสัมพันธ์มีค่าเกินกว่าจะแลกไปเพราะการถกเถียงในเรื่องไม่เป็นเรื่อง 

 

ถึงแม้การเห็นต่างเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องทำให้มันกลายเป็นเรื่องใหญ่โตเสมอไป การประนีประนอมบ้าง เคารพความเห็นต่างของอีกฝ่ายบ้าง อาจช่วยถนอมความสัมพันธ์ให้อยู่ได้นานมากยิ่งขึ้น

 

ใช้ผิดประเด็น อาจเป็นโทษกับตัวเอง

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น การผ่อนปรนต่อความเห็นต่างของคนอื่นบ้างอาจมีประโยชน์กับเรื่องเล็กน้อย ไร้สาระ และหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ถ้าในกรณีของเรื่องที่ซีเรียสกว่านั้น อย่างเรื่องที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพ หน้าที่การงาน ความมั่นคงของชีวิต หรือเรื่องที่อาจนำไปสู่การถูกเอารัดเอาเปรียบในอนาคต การเห็นด้วยเพื่อเห็นต่างอาจไม่ใช่วิธีที่ดีนัก

 

ยกตัวอย่างเช่น เจ้านายไม่ขึ้นเงินเดือนให้ ทั้งๆ ที่ทำผลงานดีมาตลอด เพื่อนที่ยืมเงินไปก็เบี้ยวนัด ไม่ยอมคืนอีกแล้ว ในเรื่องที่ควรเห็นต่าง ควรปฏิเสธ หรือควรยืดหยัดเพื่อตัวเองเช่นนี้ ย่อมอาศัยการแสดงความเห็นออกมาบ้าง เพราะการเลือกที่จะเงียบในเรื่องที่เราถูกเอาเปรียบ มีคนเดียวที่ได้รับผลกระทบก็คือตัวเราเท่านั้น 

 

อีกทั้งการปฏิเสธการแสดงความเห็น หรือยอมอีกฝ่ายไว้ก่อน อาจนำไปสู่พฤติกรรมเพิกเฉยต่อการตัดสินใจ (Dismissive Behaviour) อีกด้วย

 

ฉะนั้นลองพิจารณาแต่ละหัวข้อให้ดี และเลือกที่จะ ‘แกล้งเห็นด้วย’ ในหัวข้อที่รู้สึกว่าไม่ควรเสียแรงทะเลาะ ไม่ใช่เห็นด้วยเพียงเพราะกลัวจะเกิดความขัดแย้งขึ้นในอนาคต ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วอาจมีแต่ความเสียใจและความเสียดายก็ได้

 

ภาพ: Shutterstock

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X