×

อสส. ตั้งทีมสอบความเร็วรถคดี บอส วรยุทธ พร้อมแจ้งความเสพโคเคนเป็นคดีแยก ขีดเส้นส่งสำนวน 20 ส.ค. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
10.08.2020
  • LOADING...

วันนี้ (10 สิงหาคม) อิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา พร้อมด้วย ชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการสูงสุด (อสส.) และ ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แถลงข่าวความคืบหน้าการแจ้งให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อดำเนินคดี บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา ที่สำนักงานอัยการสูงสุด หลังแถลงข่าวเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา 

 

โดยอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะทำงานดำเนินคดีเพื่อพิจารณาคำสั่งคดีอาญาทั้งหมด 6 คน โดยมี อิทธิพร แก้วทิพย์ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมี ชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ เป็นรองคณะทำงาน ซึ่งให้คณะทำงานมีหน้าที่ในการเรียกสำนวนคดีของวรยุทธมาเพื่อพิจารณาสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมหากมีการซักถาม โดยคณะทำงานได้เรียกประชุมและตรวจสำนวนโดยละเอียดแล้ว

 

โดยอิทธิพรระบุว่า จากการที่คณะทำงานได้ตรวจสอบกรณีความเร็วรถของวรยุทธ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่าความเร็วที่ปรากฏในสำนวนอาจไม่ใช่ความเร็วที่จะทำให้สำนวนยุติได้ คณะทำงานพิจารณาแล้วจึงมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบสวนพยานเพิ่มเติมคือ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในประเด็นเรื่องเคยร่วมตรวจสอบความเร็วของรถ ณ จุดที่ชนหรือไม่ หากเคย ความเร็ว ณ จุดที่ชนอยู่ที่เท่าไร, มีวิธีการคำนวณความเร็วรถอย่างไร และเคยส่งรายงานให้กับพนักงานสอบสวนหรือไม่ ทั้งนี้ หากมีเอกสารการคำนวณ ให้จัดส่งมาเพื่อประกอบในสำนวนด้วย

 

นอกจากนี้คณะทำงานยังให้สอบสวนเพิ่มเติมนายกสภาวิศกรถึงประเด็นใบประกอบวิชาชีพของ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ที่ขาดการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จะมีผลต่อการออกเอกสารรับรองมากน้อยเพียงใด และการคำนวณของ รศ.ดร.ประสิทธิ์ มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

 

ส่วนกรณีพบสารโคเคนในร่างกายวรยุทธนั้นเห็นว่า ในสำนวนมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ได้ จึงให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับวรยุทธเป็นคดีใหม่

 

โดยคำสั่งทั้งหมดคณะทำงานได้สั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 สิงหาคมนี้

 

ทั้งนี้ ชาญชัยกล่าวด้วยว่า กรณีดังกล่าวเป็นการที่พนักงานอัยการมีความเห็นให้พนักงานสอบสวนสอบสวนเพิ่มเติมใน 2 ประเด็นสำคัญคือ ประเด็นการตรวจวัดความเร็ว เนื่องจากมีเหตุเชื่อได้ว่า หากได้พยานหลักฐานใหม่จะสามารถดำเนินคดีลงโทษผู้ต้องหาได้ 

 

ส่วนพยานหลักฐานในการตรวจวัดความเร็ว จะใช้ผลตรวจที่เผยแพร่ตามสื่อมวลชนหรือใช้วิธีการอื่นในการคำนวณความเร็วใหม่ ก็สามารถกระทำได้ รวมทั้งหากพบคลิปภาพความเร็วของรถ ซึ่งจะสามารถนำมาตรวจวัดใหม่ ก็สามารถทำได้เช่นกัน เพราะจะถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งการที่ความเร็วเปลี่ยนแปลง ไม่ได้หมายความว่าความเห็นเดิมจะเป็นเท็จ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ยุติในการคำนวณความเร็วที่น่าเชื่อถือได้ โดยยืนยันว่า ไม่มีธงในการทำสำนวน แต่จะเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงให้ปรากฏ

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising