วันนี้ (19 กุมภาพันธ์) โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงความคืบหน้าของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ว่าสำหรับกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ยังจะมีผลบังคับใช้วันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้
ทั้งนี้ ตามนโยบายของ นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด ที่ให้ยกระดับปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานในการคุ้มครองสิทธิประชาชน ใช้กฎหมายในการคุ้มครองสังคม อัยการต้องยกระดับปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้ดีและมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีการเตรียมความพร้อมในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมานการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยได้มีการเตรียมการตั้งแต่ก่อนกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา
โดยตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในส่วนของสำนักงานอัยการสูงสุดตามคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ 1642/2565 ลงวันที่ 22 กันยายน 2565 ซึ่งคณะทำงานได้ประชุมยกร่างระเบียบในการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว ตลอดจนกำหนดแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการของพนักงานอัยการ
จนนำไปสู่การประกาศใช้ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2566
โกศลวัฒน์กล่าวต่อไปว่า สำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดโครงการสัมมนาการดำเนินการของพนักงานอัยการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อให้พนักงานอัยการได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ ในการนำกฎหมายใหม่นี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน คุ้มครองสิทธิของประชาชนได้อย่างถูกต้อง
แม้กฎหมายนี้จะต้องมีอุปกรณ์สนับสนุนการทำงานในการบันทึกภาพถ่าย และยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนตามที่กฎหมายประกาศใช้ แต่สำนักงานอัยการสูงสุดก็พร้อมที่จะบริหารการจัดการความยุติธรรมให้กฎหมายมีประสิทธิภาพได้ในทันที พร้อมปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายทุกมาตรา
มีรายงานว่า สำหรับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ ดังกล่าวได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอเลื่อนเวลาบังคับใช้ ระบุเหตุผลเรื่องงบประมาณและความพร้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยล่าสุด คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเลื่อนบังคับใช้มาตรา 22-25 พ.ร.บ. ฉบับนี้แล้ว และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
โดยมาตราที่ได้มีการขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป มีสาระสำคัญ ดังนี้
มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว
มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน