×

สังคมสูงวัย: ผลกระทบต่อผู้ประกอบการ การปรับตัว และบทบาทของภาครัฐ

22.01.2022
  • LOADING...
ผู้สูงอายุ

หนึ่งในความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันคือ การเข้าสู่สังคมสูงวัย แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สัดส่วนของผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนกำลังแรงงานที่จำเป็นต่อภาคเศรษฐกิจจริง การออมและการลงทุน รวมถึงภาระทางการคลังของรัฐบาลในอนาคต ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางจนถึงระยะยาว ซึ่งหากปราศจากการปรับตัวที่เหมาะสมจากสถานประกอบการและการสนับสนุนที่ทันท่วงทีจากภาครัฐ การเข้าสู่สังคมสูงวัยอาจทำให้กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในตลอดหลายสิบปีสะดุดลง 

 

จากงานวิจัยชิ้นล่าสุดของ อาชนัน เกาะไพบูลย์ และคณะ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ (มส.ผส.) พบว่า ภาคเศรษฐกิจทางการ (Formal Economy) ซึ่งหมายถึงภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ มีบทบาทในการรองรับ ‘แรงงานสูงอายุ’ ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากสัดส่วนการจ้างแรงงานสูงอายุ (แรงงานที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป) ในสถานประกอบการมีค่อนข้างน้อย ในจำนวนแรงงาน 100 คน จะพบแรงงานสูงอายุไม่ถึง 5 คน ซึ่งสาเหตุที่การจ้างงานแรงงานสูงอายุมีน้อยมีด้วยกันหลายสาเหตุ 

 

ข้อแรก มาจากลักษณะของงานในบางประเภทที่ต้องการความแข็งแรงด้านร่างกาย เช่น การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องยืนต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน 

 

ข้อสองคือ ลักษณะของช่วงเวลาการทำงานที่ขาดความยืดหยุ่น (ต้องเดินทางไปทำงาน และ/หรือ ทำงานทั้งวัน) 

 

ข้อสามคือ ประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น 

 

สำหรับงานบางประเภทนั้นแรงงานสูงอายุจึงมีประสิทธิภาพต่ำกว่าแรงงานวัยหนุ่มสาว ขณะเดียวกันต้นทุนการจ้างแรงงานสูงอายุสูงกว่าแรงงานวัยหนุ่มสาว ผลการศึกษาพบว่า ประสิทธิภาพแรงงานเริ่มลดลงตั้งแต่อายุ 45-50 ปีขึ้นไป ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่แรงงานเหล่านี้จะถูกเลิกจ้างก่อน หรือขอลาออกก่อนวัยเกษียณอายุ    

 

หนึ่งในคำถามสำคัญก็คือ แล้วการเข้าสู่สังคมสูงวัยส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างไร ซึ่งผลกระทบเป็นได้หลายอย่าง เช่น ต้นทุนการจ้างงาน การปรับเปลี่ยนในองค์กร การขาด/ลางาน ความกระตือรือร้นของแรงงานในการใช้เทคโนโลยีใหม่ เป็นต้น ประเด็นที่ผู้ประกอบการเห็นด้วยมากที่สุดจากการสำรวจแบบสอบถามคือ ผลกระทบด้านการไม่ตื่นตัวต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ เนื่องจากแรงงานสูงอายุจำนวนมากไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยีใหม่ จึงทำให้สถานประกอบการมีโครงการเกษียณล่วงหน้า หรือ Early Retirement เพื่อลดผลกระทบในส่วนนี้ 

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวต้องวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนว่าเทคโนโลยีใหม่ที่เรากำลังพูดถึงคืออะไร ถ้าเป็นเทคโนโลยีต่อยอดจากทักษะเดิม (Upskilling) แรงงานสูงอายุจะยินดีที่จะเรียนรู้มากกว่าเทคโนโลยีใหม่ถอดด้าม (Reskilling) และเป็นเรื่องยากที่จะให้คนสูงวัยเรียนอะไรใหม่ๆ ที่ใช้ในการทำงานได้ไปอีก 10-20 ปีข้างหน้าในวัยขณะนี้ ดังนั้น Upskilling และ Reskilling เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องแยกออกจากกัน เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นเรื่องเดียวกัน และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

ดังนั้นมาตรการที่ถูกใช้มากที่สุดเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าวคือ การนำระบบอัตโนมัติ (Automation) และเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ เพื่อทดแทนการพึ่งพาแรงงาน และ/หรือ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานที่มีอายุสูงขึ้น ผนวกกับการเตรียมความพร้อมด้วยการจัดอบรมให้แรงงานรุ่นใหม่มีทักษะงานในหลายๆ ด้าน เพื่อให้สามารถทดแทนแรงงานสูงอายุได้ทันท่วงที ในขณะที่มาตรการที่ไม่ค่อยได้รับความนิยม ได้แก่ การเร่งหาแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานสูงอายุ การว่าจ้างให้บริษัทภายนอกรับทำกิจกรรมบางส่วนเพิ่มขึ้น และการขยายเวลาเกษียณอายุ ซึ่งสะท้อนข้อจำกัดของสถานประกอบการ หรืออาจหมายความถึงการขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ 

 

นอกเหนือจากการปรับตัวของผู้ประกอบการ มาตรการที่ภาครัฐสามารถใช้เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการจ้างแรงงานผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 

 

  1. การให้สถานประกอบการสามารถนำเอาค่าจ้างแรงงานสูงวัยมาหักภาษีได้ จำนวน 2 เท่า แต่มีข้อกำหนดว่าแรงงานจะต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และต้องทำงานเต็มเวลาเท่านั้น 
  2. การส่งเสริมให้สถานประกอบการเปลี่ยนเครื่องจักรและนำเอาระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในสถานประกอบการ โดยสถานประกอบการได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน 
  3. การอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ กรณีที่การนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ได้รับการรับรองจากสถาบันไทย-เยอรมนี  
  4. การส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายใต้โครงการ Center of Robotic Excellence หรือ CORE โดยเฉพาะการบ่มเพาะกลุ่มที่ทำ System Integrator (SI) ซึ่งเป็นโครงการที่มีเป้าหมาย ลดการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 

 

มาตรการที่กล่าวมาข้างต้นมีความท้าทายอยู่มาก หากดูในบริบทของสังคมไทยจะพบว่า มาตรการที่เกิดขึ้นนั้นอาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสที่แรงงานในสังคมไทยจะทยอยออกจากสถานประกอบการก่อนอายุ 60 ปียังมีอยู่มาก จากการศึกษาพบว่า แรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่มีระบบการออม ทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและระบบประกันสังคม มักจะตัดสินใจออกจากงานก่อนเกษียณเพื่อรับผลประโยชน์ต่างๆ และหันไปทำธุรกิจส่วนตัวที่มักอยู่ในภาคบริการ ในขณะที่แรงงานอีกกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการออมได้อย่างเหมาะสมหรือมีรายได้อยู่ในระดับที่ต่ำ การออกจากงานก่อนเกษียณจึงเป็นไปได้ยาก เรื่องดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต 

 

นอกจากนี้จากโครงการ CORE ยังพบว่า System Integrator ในประเทศไทยมีปัญหาคือ ไม่สามารถลงทุนทำทั้งระบบได้ เนื่องจากเผชิญกับต้นทุนที่สูง มีปัญหาในเรื่องของความสามารถตอบสนองเป้าหมายของผู้ประกอบการที่มีความสามารถน้อยมาก ไม่มีการคิดแบบ Integrate รวมกับการรองรับผู้สูงวัยในไทย รวมไปถึงโครงการยังประสบปัญหาทางด้านงบประมาณของโครงการ เนื่องจากถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพิ่มเติมที่ได้จากการศึกษา เพื่อปรับปรุงมาตรการจูงใจให้สถานประกอบการรองรับแรงงานสูงวัยและกลุ่มแรงงานที่กำลังจะเข้าสู่แรงงานสูงวัยเพิ่มขึ้น ได้แก่ 

 

  1. การลดข้อกำหนดตามพระราชกฤษฎีกา โดยยินยอมให้สถานประกอบการนำรายจ่ายในการพัฒนาฝีมือแรงงานที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปมาลดหย่อนภาษีเงินได้ และการลดหย่อนครอบคลุมไปถึงกรณีการทำงานบางเวลา (Part-Time) 
  2. การจัดตั้งกองทุนสำหรับเป็นแหล่งทุนระยะยาว เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการในการปรับเปลี่ยนเป็นเครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติ นำไปสู่การเพิ่มสภาพคล่องให้สถานประกอบการในประเทศได้ และวางแผนโครงการ CORE ให้มีการพิจารณาในมุมมองของความเชื่อมโยงระหว่างการใช้ระบบอัตโนมัติกับปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ในประเทศไทย 
  3. การส่งเสริมให้สถานประกอบการและแรงงานใช้ประโยชน์จากการทวีความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ​ผ่านการเปิดหลักสูตรการใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้เข้าถึงการพัฒนาศักยภาพตนเองผ่านการเรียนการสอนออนไลน์ โดยสามารถขอความร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น Lazada, Shopee, Central หรือ JD ฯลฯ ให้เข้ามามีส่วนร่วม หรืออาจขอความร่วมมือกับบริษัทขนาดใหญ่ผ่านกรอบกิจกรรมบรรษัทบริบาล 

 

การเข้าสู่สังคมสูงวัยได้สร้างความท้าทายให้กับเศรษฐกิจไทย ความท้าทายนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะสวัสดิการของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่รวมถึงการปรับตัวของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน และบทบาทของภาครัฐที่สามารถช่วยดึงแรงงานให้อยู่ในระบบ เพื่อชะลอและลดผลกระทบอันเกิดจากการเป็นสังคมสูงวัย ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างไม่สะดุด

 

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนโดย รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์, ดร.วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์, ภัทรวดี นิรฉัตรสุวรรณ และ วยุลดา เหมบัณฑิต 

 

1 ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 639) พ.ศ. 2560 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 290) ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฉบับที่ 1 และ 2 พ.ศ. 2564 และประกาศกรมสรรพากรฉบับที่ 391 พ.ศ. 2563

 

2 ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 639) พ.ศ. 2560

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X