เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 เพจศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (SiCRES) เผยแพร่ผลการวิจัยเบื้องต้นในการศึกษาความปลอดภัย และการตอบสนองของภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ในผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม ของคณะผู้วิจัยจากศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
งานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาในอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 หลังจากได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มมาแล้ว 2-3 เดือน โดยวัดระดับภูมิคุ้มกันชนิด IgG ต่อโปรตีนหนาม (anit-receptor binding domain: anti-RBD IgG) โดยวิธี CMIA เปรียบเทียบวัคซีนเข็มที่ 3 ทั้งหมด 4 รูปแบบ ได้แก่ Sinopharm, AstraZeneca, Pfizer เต็มโดส และ Pfizer ครึ่งโดส (½ Pfizer) พบว่า
- หลังได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม 8-12 สัปดาห์ อาสาสมัครมีระดับภูมิคุ้มกันชนิด anti-RBD IgG โดยเฉลี่ย 45-53 BAU/mL
- ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีน Pfizer ขนาดเต็มโดสมีระดับ anti-RBD IgG ขึ้นสูงที่สุด ค่าเฉลี่ย 5,723 BAU/mL รองลงมาเป็นวัคซีน Pfizer ขนาดครึ่งโดส ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 4,598 BAU/mL ซึ่งสูงกว่าการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
- ส่วนวัคซีน AstraZeneca กระตุ้นสูงขึ้นเฉลี่ย 1,599 BAU/mL และวัคซีน Sinopharm กระตุ้นได้น้อยที่สุด เฉลี่ย 218.9 BAU/mL
- ระดับ anti-RBD IgG จากการกระตุ้นด้วยวัคซีน AstraZeneca ไม่แตกต่างทางสถิติเทียบกับการฉีดวัคซีน Pfizer ครบ 2 เข็มที่ 4-8 สัปดาห์
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในการยับยั้งสายพันธุ์เดลตา (PRNT50) พบว่ามีแนวโน้มเหมือนกับ anti-RBD-IgG ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่พบจากการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เป็นแค่เล็กน้อยถึงปานกลางในทุกชนิด คณะผู้วิจัยสรุปว่า การใช้วัคซีน Pfizer เข็มที่ 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงที่สุด และครึ่งโดสอาจจะเพียงพอได้ ควรมีการศึกษาประสิทธิผลเพื่อยืนยันภูมิคุ้มกันจากการศึกษานี้
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
อ้างอิง:
- ผลการวิจัยเบื้องต้นในการศึกษาความปลอดภัยและการตอบสนองของภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ในผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม https://www.facebook.com/104663661197163/posts/370867381243455/