×

ทางแยก 3 ทาง ไทยจะเดินไปทางไหนหลังเปิดประเทศ

01.11.2021
  • LOADING...
เปิดประเทศ

ในการแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวถึงการคาดการณ์สถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่หลังเปิดประเทศว่า เมื่อผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์จะมีทางแยก 3 ทาง ซึ่งในภาพประกอบจะเป็นกราฟ 3 เส้น คือสีเขียว-ผู้ติดเชื้อลดลง สีส้ม-ผู้ติดเชื้อทรงตัว และสีเทา-ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 

 

  • ทางแยกที่ 1 เส้นสีเขียว เป็นกรณีที่ทุกคน ‘การ์ดไม่ตก’ ค่าการระบาด (R) ลดลงประมาณ 25% เทียบกับก่อนล็อกดาวน์ ทุกภาคส่วนร่วมมือกับ 4 มาตรการหลักต่อเนื่อง ได้แก่ มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention), มาตรการความปลอดภัยระดับองค์กร (COVID-FREE Setting), มาตรการคัดกรองด้วยชุดตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง (ATK) และการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย

 

  • ทางแยกที่ 2 เส้นสีส้ม เป็นกรณีที่แต่ละคน ‘การ์ดตกนิดหน่อย’ ค่าการระบาด (R) ลดลงประมาณ 15% เทียบกับก่อนล็อกดาวน์ ซึ่งเป็นผลจากการคงมาตรการปิดสถานที่เสี่ยงมาก งดดื่มสุราในร้านอาหาร จำกัดการรวมกลุ่ม แต่การฉีดวัคซีนยังได้ตามเป้าหมายเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะทรงตัวอยู่ระหว่าง 10,000-15,000 รายไปจนถึงสิ้นปี 2564

 

  • ทางแยกที่ 3 เส้นสีเทา เป็นกรณีที่แต่ละคน ‘การ์ดตกมาก’ ค่าการระบาด (R) กลับไปเท่ากับก่อนล็อกดาวน์ เนื่องจากไม่มีมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล การผ่อนคลายมาตรการทั้งหมด และการฉีดวัคซีนต่ำกว่าเป้าหมาย ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นเป็นหลายหมื่นรายต่อวัน ซึ่งฟังจากน้ำเสียงที่โฆษก ศบค. ใช้เหมือนกำลังขู่ประชาชนโดยเปรียบเทียบกับ ‘การตั้งการ์ด’ อีกครั้ง

 

  • การติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อขึ้นกับพฤติกรรมการป้องกันตัวของแต่ละคน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมของประชาชนก็เป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐด้วย การคาดการณ์ข้างต้น กรมควบคุมโรคคำนวณจากค่าการระบาด (R) เทียบกับก่อนล็อกดาวน์ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยค่า R โดยทั่วไปหมายถึงจำนวนคนที่ได้รับเชื้อต่อจากผู้ติดเชื้อ 1 ราย ถ้าค่า R เพิ่มขึ้นแสดงว่ามีจำนวนผู้ได้รับเชื้อต่อเยอะขึ้น

 

  • แต่ในรายละเอียดค่า R จะขึ้นกับ 3 ปัจจัย ซึ่งสรุปเป็นสูตรคือ C x P x D โดย 
    • C คือความถี่ในการสัมผัส (Contact Rate) การแพร่เชื้อจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ติดเชื้อมาพบปะกับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ ยกตัวอย่างการโดยสารรถสาธารณะ การทำงาน กิจกรรมที่มีการรวมตัวกัน เช่น การรับประทานอาหาร การสังสรรค์ ถ้าความถี่ในการสัมผัสเพิ่มขึ้นจะทำให้ได้รับเชื้อต่อมากขึ้น 
    • P คือโอกาสของการแพร่เชื้อ (Transmission Probability) ผู้ติดเชื้อจะมีโอกาสแพร่เชื้อมากขึ้น หรือผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อจะมีโอกาสได้รับเชื้อมากขึ้น ถ้าไม่มีการป้องกันตัว เช่น ไม่สวมหน้ากาก พบปะกันในสถานที่ปิด เช่น ห้องปรับอากาศ จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อ-รับเชื้อต่อมากขึ้น 
    • D คือระยะแพร่เชื้อ (Duration of Infectiousness) ถ้าผู้ติดเชื้อมีระยะแพร่เชื้อนานจะทำให้แพร่เชื้อต่อได้มากขึ้น เช่น ผู้ติดเชื้อไม่ถูกแยกออกจากชุมชน (เพราะไม่มีการเฝ้าระวังหรือการตรวจหาเชื้อ) ผู้ติดเชื้อไม่ได้รับยาต้านไวรัส (หากในอนาคตมียาต้านไวรัสที่ลดระยะเวลาป่วยได้)

 

  • ดังนั้นการเปิดประเทศในเดือนพฤศจิกายนนี้ย่อมทำให้ค่า R เพิ่มขึ้น รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการ เช่น การเปิดโรงเรียน การจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากในพื้นที่จำกัด การแข่งขันกีฬา เพราะเพิ่มความถี่ในการสัมผัส และถ้าไม่มีการป้องกันตัวส่วนบุคคลจะเพิ่มโอกาสของการแพร่เชื้อในขณะที่การฉีดวัคซีนยังไม่ถึงเป้าหมาย ซึ่งลดโอกาสของการแพร่เชื้อและระยะแพร่เชื้อลงได้ส่วนหนึ่ง

 

แล้วค่า R ก่อนการเปิดประเทศเป็นเท่าไร? 

 

  • การคาดการณ์โดยใช้ค่า R กับช่วงก่อนล็อกดาวน์เป็นจุดอ้างอิงอาจทำให้หลายคนต้องคิด 2 ชั้น แต่ถ้าสังเกตจากเส้นสีส้มซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อทรงตัวก็พอจะบอกได้ว่าเป็นกรณีที่ค่า R ก่อนและหลังเปิดประเทศใกล้เคียงกัน (ซึ่งเริ่มเพิ่มขึ้นหลังจากคลายล็อกดาวน์เมื่อต้นตุลาคม 2564) ดังนั้นสถานการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้ต่อจากนี้คืออยู่ระหว่างเส้นสีส้มกับสีเทา

 

  • แต่กราฟนี้เป็นการคาดการณ์ ‘จำนวนผู้ติดเชื้อ’ ซึ่งเมื่อความครอบคลุมการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ตามแนวคิด ‘อยู่ร่วมกับโควิด’ (Living with COVID-19) จะยอมรับผู้ติดเชื้อได้มากขึ้นเพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่กลับมาดำเนินชีวิตใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด แต่จะยอมรับไม่ได้หาก ‘จำนวนผู้ป่วยหนัก’ เกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข เช่น ผู้ป่วยล้น ICU ซึ่งภาครัฐจะต้องการ์ดไม่ตกในเรื่องนี้

 

  • ทั้งการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มให้ครอบคลุมอย่างน้อย 80% ในทุกจังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือที่กระทรวงสาธารณสุขเรียกว่ากลุ่ม 608 การส่งเสริมให้ใช้ชุดตรวจ ATK ในการเฝ้าระวังกลุ่มอาชีพและสถานที่เสี่ยง การดูแลผู้ติดเชื้อก่อนที่จะมีอาการหนัก และการขีดเส้นจำนวนผู้ป่วยหนักในแต่ละจังหวัดว่าถ้าถึงระดับใดจะต้องปรับมาตรการควบคุมโรคเพิ่มขึ้นอย่างไร

 

  • ในทางทฤษฎี จำนวนผู้ติดเชื้อจะเริ่มเปลี่ยนแปลงหลังจากปรับมาตรการ 1-2 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนน่าจะเห็นแนวโน้มว่าประเทศไทยจะเดินทางไปทางไหน ส่วนผู้ป่วยหนักจะตามมาในสัปดาห์ที่ 3-4 อย่างไรก็ตามหากเป้าหมายคือการฉลองปีใหม่โดยไม่มีการกลับมาล็อกดาวน์ซ้ำเสียก่อน ทางแยก 3 ทางมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอด 2 เดือนนับจากนี้ 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising