×

มองอนาคตหญิงอัฟกันใต้เงาตาลีบัน หลังให้สัญญา ‘เคารพสิทธิสตรีตามกรอบกฎหมายอิสลาม’ เชื่อได้ไหม? เปิดกว้างแค่ไหน?

18.08.2021
  • LOADING...

“ประเด็นเรื่องสตรีนั้นมีความสำคัญมาก รัฐอิสลามให้สิทธิสตรีภายใต้กรอบของชารีอะห์ (กฎหมายอิสลาม) พี่สาวน้องสาวของเรา คนของเรา มีสิทธิเหมือนๆ กัน พวกเขาสามารถได้ประโยชน์จากสิทธิของตนเอง พวกเขาสามารถทำกิจกรรมในภาคส่วนต่างๆ และพื้นที่ต่างๆ บนพื้นฐานของกฎระเบียบและข้อบังคับของเรา การศึกษา สุขภาพ และด้านอื่นๆ พวกเขาจะทำงานร่วมกับเรา เคียงบ่าเคียงไหล่กับเรา หากประชาคมระหว่างประเทศมีข้อกังวล เราขอรับรองกับพวกเขาว่าจะไม่เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง แต่แน่นอนว่าอยู่ภายในกรอบที่เรามี ผู้หญิงของเราเป็นมุสลิม พวกเขายังจะมีความสุขที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในกรอบของชารีอะห์ของเรา” 

 

ข้อความดังกล่าว คือส่วนหนึ่งของถ้อยแถลงที่ ซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกกลุ่มตาลีบัน แถลงที่กรุงคาบูลเมื่อวานนี้ หลังจากที่สามารถบุกยึดเมืองและโค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือนได้สำเร็จ ซึ่งใจความของการแถลงเป็นไปอย่างประนีประนอม และแสดงออกถึงความพยายามปรับตัวเข้าหาประชาคมโลก โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิสตรี ที่ตาลีบันให้สัญญาว่าจะให้ความเคารพสิทธิสตรี แต่ต้องเป็นไปภายใต้กรอบกฎหมายชารีอะห์ หรือกฎหมายอิสลาม ซึ่งนานาชาติมีความกังวลถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากพฤติการณ์ในอดีตของตาลีบันที่ขึ้นชื่อเรื่องการ ‘กดขี่’ ผู้หญิง ในระหว่างที่ปกครองอัฟกานิสถานช่วงปี 1996-2001 

 

อะไรคือกฎหมายอิสลาม ‘ชารีอะห์ (Sharia)’ 

‘ชารีอะห์’ แปลว่า ‘ทาง’ คือประมวลข้อปฏิบัติต่างๆ ของกฎหมายศาสนาสำหรับศาสนาอิสลาม ครอบคลุมวิถีการดำเนินชีวิตของบุคคลและสาธารณชนในด้านต่างๆ ทั้งการปกครอง เศรษฐกิจ การบริหารธุรกิจ การธนาคาร ระบบการทำสัญญา ความสัมพันธ์ในครอบครัว หลักความสัมพันธ์ทางเพศ หลักการอนามัย และปัญหาสังคม 

 

พื้นฐานของชารีอะห์ มาจากหลักการของศาสนาอิสลามที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน และบันทึกชีวิตของศาสดามูฮัมหมัด ประกอบกับหลักนิติศาสตร์ (Jurisprudence) ซึ่งตีความโดยนักกฎหมาย นักบวช และนักการเมืองชาวมุสลิม 

 

ร่างของหลักกฎหมายอิสลามที่นักวิชาการมุสลิมสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยของศาสดามูฮัมหมัดนั้น เป็นที่รู้จักในชื่อ ‘ฟิกห์’ ซึ่งหมายถึง ‘ความเข้าใจ’ และมักใช้แทนด้วยคำว่า ‘ชารีอะห์’

 

อะไรคือการ ‘เคารพสิทธิสตรีตามกรอบกฎหมายอิสลาม’

หลักคำสอนของศาสนาอิสลามนั้นให้การคุ้มครองต่อเด็กหญิงและสตรีที่ในอดีตถูกมองเป็นเพียงทรัพย์สิน ซึ่งคำสอนของศาสดามูฮัมหมัดและคัมภีร์อัลกุรอานระบุว่า ผู้หญิงนั้นมีสิทธิในการเลือกสามีและทำงานได้

 

ข้อความในพระคัมภีร์อัลกุรอานระบุว่า ทั้งชายและหญิงต่างถูกสร้างมาจากแก่นสารเดียวกัน บางข้อความระบุไว้ว่า ผู้ชายนั้นเป็น ‘กอวามุน (Qawwamun)’ หรือผู้ปกป้องดูแลผู้หญิง แต่บางข้อความระบุว่า หญิงผู้มีศรัทธานั้นจะเป็นผู้เชื่อฟัง และหากดื้อดึงไม่เชื่อฟัง ผู้ปกป้องชายนั้นสามารถทุบตีเพื่อลงโทษได้

 

สำหรับกฎหมายชารีอะห์นั้นถูกอ้างอิงให้เป็นแหล่งที่มาของรัฐธรรมนูญในหลายประเทศมุสลิม โดยผู้หญิงนั้นเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ในบทบัญญัติที่เกี่ยวกับครอบครัวหรือสถานะส่วนบุคคล 

 

ซึ่งหมายความว่าผู้หญิงนั้นไม่มีสิทธิเหมือนหรือเท่ากันกับผู้ชายในหลายเรื่อง เช่น การแต่งงาน การหย่าร้าง และการรับมรดก โดยบางประเทศมุสลิมที่ใช้กฎหมายชารีอะห์เป็นรากฐานรัฐธรรมนูญอย่างเข้มงวด เช่น อิหร่านและซาอุดีอาระเบีย ล้วนมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสตรีในด้านต่างๆ ตั้งแต่สิ่งที่ควรสวมใส่ การเดินทาง การขับขี่รถยนต์ และการทำงาน

 

หนึ่งในแนวทางปฏิบัติสำคัญสำหรับผู้หญิงตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานและกฎหมายชารีอะห์ คือผู้หญิงไม่ควรเปิดเผยความงามต่อชายที่ไม่ใช่คนในครอบครัว ซึ่งนักกฎหมายอิสลามตัดสินโดยยึดจากข้อความว่า ผู้หญิงต้องปิดผมและใบหน้าเมื่อออกนอกบ้าน

 

ขณะที่กฎหมายชารีอะห์นั้นให้สิทธิแก่ผู้หญิงในด้านกฎหมายและการเงิน รวมถึงสิทธิในการรับมรดก แต่การทำสัญญาหรือข้อตกลงใดๆ ที่ต้องมีพยานร่วมด้วยจะให้ค่าต่อผู้หญิงเพียงครึ่งเดียวของผู้ชาย โดยอ้างอิงจากคำสอนในคำภีร์อัลกุรอาน ที่ระบุว่า “และถ้าไม่มีชายสองคน (ว่าง) ก็ให้ (นำ) ชายและหญิงสองคนจากคนที่เจ้ายอมรับมาเป็นพยาน” ซึ่งในส่วนนี้นักวิชาการบางคนโต้แย้งว่าข้อความดังกล่าวไม่ใช่การลดทอนคุณค่าและความน่าเชื่อถือของผู้หญิง เนื่องจากในช่วงเวลาที่เขียนข้อความลงในพระคัมภีร์อัลกุรอานนั้น เป็นเรื่องยากที่ผู้หญิงจะมีประสบการณ์ทำธุรกิจ 

 

ชะตากรรมหญิงอัฟกันใต้การปกครองของตาลีบัน

ข้อสงสัยที่ทั่วโลกตั้งคำถาม คือเป็นไปได้จริงหรือที่ตาลีบันจะเปลี่ยนแนวคิดและให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้หญิงมากกว่าในอดีต

 

โดยหากย้อนไปในช่วงปี 1996-2001 ที่ตาลีบันเรืองอำนาจนั้น พบว่าชะตากรรมของหญิงชาวอัฟกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต่างมีชีวิตที่ถูกจำกัดสิทธิด้านต่างๆ เช่น

 

  • ผู้หญิงและเด็กหญิงอายุตั้งแต่ 8 ขวบขึ้นไป จะต้องสวมใส่ ‘บูร์กา’ (Burka) หรือผ้าที่ใส่คลุมเสื้อผ้าชั้นนอก ซึ่งคลุมทั้งร่างกายและใบหน้า 
  • ต้องมีญาติที่เป็นชายคอยดูแลหากต้องออกนอกบ้าน
  • ห้ามสวมรองเท้าส้นสูง
  • บ้านที่มีหน้าต่างบนพื้นดินและชั้นหนึ่งต้องทาสีทับ 
  • ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปบนระเบียงบ้าน
  • ห้ามถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ หรือแสดงภาพผู้หญิงในหนังสือพิมพ์ หนังสือ ร้านค้า หรือในบ้าน
  • ชื่อของสถานที่ที่มีชื่อผู้หญิงรวมอยู่ต้องถูกเปลี่ยน
  • ห้ามไม่ให้ผู้หญิงปรากฏตัวทางวิทยุ โทรทัศน์ หรืองานรวมตัวในที่สาธารณะ

 

ซึ่งโทษจากความผิดของผู้หญิงในเรื่องต่างๆ นั้น รุนแรงตั้งแต่เฆี่ยนประจาน ไปจนถึงตัดนิ้วหรือประหารชีวิต เช่น

 

  • ผู้หญิงที่ฝ่าฝืนกฎ เช่น ออกนอกบ้านแม้จะไม่มีญาติผู้ชายให้พาออกไป จะถูกเฆี่ยนตีกลางถนน ในสนามกีฬาหรือศาลากลางจังหวัด
  • ผู้หญิงจะถูกลงโทษตัดนิ้วโป้ง เพราะใช้สีทาเล็บ
  • ถูกลงโทษปาหินจนตาย หากปฏิเสธจะประกาศความภักดีต่อกลุ่มตาลีบัน
  • ใครก็ตามที่ฝ่าฝืนกฎ อาจถูกดูหมิ่นหรือประจานให้อับอาย ถูกเฆี่ยนตีในที่สาธารณะโดยตำรวจศาสนาของตาลีบัน หรือโทษหนักสุดคือประหารชีวิต

 

ตาลีบันจะทำตามสัญญาเรื่องสิทธิสตรีไหม?

คำตอบของคำถามนี้คือ ‘อาจจะทำและไม่ทำ’ โดยหลังจากได้รับชัยชนะและกลับคืนสู่อำนาจ ท่าทีของกลุ่มตาลีบันดูจะนุ่มนวลและเปิดรับสังคมโลกมากขึ้น ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเพราะพวกเขาต้องการได้รับการยอมรับจากนานาประเทศให้เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย

 

ซึ่งก่อนหน้านี้ ช่วงต้นปีที่ผ่านมา กลุ่มตาลีบันเปิดเผยว่า ต้องการระบบปกครองบ้านเมืองแบบอิสลามที่แท้จริงสำหรับอัฟกานิสถาน เพื่อให้การดูแลสิทธิของสตรีและชนพื้นเมืองเป็นไปตามกรอบประเพณีและวัฒนธรรมและกฎระเบียบทางศาสนา

 

ขณะที่ถ้อยแถลงของโฆษกกลุ่มตาลีบันที่ออกมาหลังได้รับชัยชนะ ยืนยันว่าผู้หญิงอัฟกันจะได้ทำงานและได้เรียนหนังสือถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่ยังมีความไม่เชื่อมโยงนักกับสิ่งที่สมาชิกตาลีบันกำลังทำอยู่ 

 

โดยในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏรายงานข่าวว่า กลุ่มตาลีบันวางแผนที่จะปิดโรงเรียนสหศึกษาที่มีทั้งชายและหญิงเรียนรวมกัน นอกจากนี้มีรายงานว่านักรบตาลีบันบังคับให้ผู้หญิง 9 คนออกจากการทำงานในธนาคารและกลับไปบ้าน ก่อนจะให้ญาติของพวกเธอที่เป็นชายไปทำงานแทน 

 

ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch เผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้บัญชาการของตาลีบันในพื้นที่ต่างๆ มักจะใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดโดยอ้างหลักกฎหมายอิสลาม เช่น ห้ามผู้หญิงไปสถานพยาบาลที่ผู้ชายให้บริการ และสั่งปิดโรงเรียนสำหรับผู้หญิงทั้งหมด รวมไปถึงโรงเรียนระดับชั้นประถม ผู้ที่ฝ่าฝืนล้วนต้องเผชิญกับบทลงโทษที่รุนแรง

 

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทั่วโลกรับรู้และมองเห็นมาโดยตลอด แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่ากลุ่มตาลีบันจะเปลี่ยนท่าทีต่อนโยบายสิทธิสตรี หรือเปิดกว้างให้ผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพเหมือนกับประเทศมุสลิมต่างๆ ได้มากแค่ไหน

 

ภาพ: Photo by Paula Bronstein / Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X