วานนี้ (16 สิงหาคม) ครบรอบ 1 ปี กลุ่มตาลีบันกลับขึ้นมากุมอำนาจในเกมการเมืองระดับชาติของอัฟกานิสถาน หลังบุกกรุงคาบูลและโค่นล้มรัฐบาลอัฟกันภายใต้การนำของประธานาธิบดี อัชราฟ กานี ได้สำเร็จ เป็นเหตุให้อดีตผู้นำที่ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาชาติตะวันตกต้องลี้ภัยไปยังอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
โดยกลุ่มตาลีบันยังคงปกครองประเทศด้วยความหวาดกลัวตลอด 1 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่กองทัพสหรัฐฯ ถอนทัพออกจากอัฟกานิสถานในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2021 ยุติบทบาทการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในประเทศแห่งนี้ที่ดำเนินมานานเกือบ 2 ทศวรรษลงในที่สุด และเปิดโอกาสให้กลุ่มตาลีบันกลับขึ้นมาเรืองอำนาจอีกครั้ง
รัฐบาลตาลีบันเคยบริหารประเทศอัฟกานิสถานมาแล้วในช่วงปี 1996-2001 ซึ่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในแง่ของการเป็นรัฐเคร่งศาสนา รวมถึงลิดรอนสิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง โดยเฉพาะในมิติของการทำงานและการเข้าถึงการศึกษา ส่งผลให้การกลับขึ้นมามีอำนาจในครั้งนี้สร้างความกังวลให้กับนักสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก
ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมือง มีชาวอัฟกันจำนวนไม่น้อยที่ต่างเร่งเดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากไม่ต้องการใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน จึงเกิดเป็นภาพสุดสะเทือนใจที่ผู้คนจำนวนมากต่างพยายามวิ่งตามเครื่องบิน ต้องการที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่นอกประเทศ และไม่ต้องการกลับไปสู่ยุคมืดดังเช่นที่เคยเป็นมาอีกแล้ว
หลังจากความโกลาหลที่เกิดขึ้น รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจอายัดทรัพย์สิน รวมถึงยุติการส่งมอบงบสนับสนุนให้กับรัฐบาลอัฟกัน ประกอบกับเหตุก่อความไม่สงบบ่อยครั้งจากบรรดากลุ่มก่อการร้าย ยิ่งทำให้สถานการณ์ภายในอัฟกานิสถานย่ำแย่ลง ไม่มีเสถียรภาพทั้งทางด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ
รัฐบาลตาลีบันกลับมาปกครองประเทศด้วยความหวาดกลัว มีกองกำลังติดอาวุธกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเมืองหลวง เพื่อตรวจตราความสงบเรียบร้อย อีกทั้งยังจัดตั้งตำรวจศาสนาและกระทรวงที่ดูแลงานเรื่องการสนับสนุนศีลธรรม ป้องกันการประพฤติผิด รวมถึงกำกับดูแลการตีความหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามอย่างจริงจัง
รัฐบาลตาลีบันนี้ยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ดำรงตำแหน่งสำคัญใดๆ เลยแม้แต่คนเดียว การลิดรอนสิทธิและการไม่ได้รับความเป็นธรรมส่งผลให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิชุมนุมประท้วงกันบ่อยครั้งยิ่งขึ้น เด็กผู้หญิงเริ่มถูกจำกัดสิทธิในการเข้าชั้นเรียน ลูกจ้างของรัฐจะต้องไว้หนวดเครา ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจำเป็นต้องสวมฮิญาบตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่สาธาณะ เพื่อผลักให้คนกลุ่มนี้อยู่แต่ที่พักอาศัยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สนับสนุนตาลีบันจำนวนหนึ่งออกมาร่วมเฉลิมฉลองบนท้องถนนในกรุงคาบูล พร้อมร้องตะโกน “อิสลามจงเจริญ สหรัฐฯ จงพินาศ” เพื่อยืนยันจุดยืนว่า อัฟกานิสถานดำเนินไปทิศทางที่ควรจะเป็นแล้ว หลังจากที่ถูครอบงำโดยชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน
บรรดานักเคลื่อนไหวต่างเฝ้าจับตามองสถานการณ์ภายในอัฟกานิสถานว่าจะดำเนินไปอย่างไร วิกฤตในมิติต่างๆ ของประเทศแห่งนี้จะบรรเทาลงได้มากน้อยแค่ไหน แม้จะมีความพยายามให้กลุ่มตาลีบัน ผู้แทนภาคประชาสังคมของอัฟกานิสถาน และเจ้าหน้าที่ทางการทูตของบรรดาชาติตะวันตก ได้หารือกันที่กรุงออสโล เมืองหลวงของนอร์เวย์ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ประสบผลเท่าที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้
ภาพ: Paula Bronstein / Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/gallery/2022/8/15/photos-afghanistan-taliban-marks-one-year-in-power-amid-diplomatic-isolation
- https://www.aljazeera.com/gallery/2022/8/15/photos-afghanistan-taliban-marks-one-year-in-power-amid-diplomatic-isolation
- https://www.washingtonpost.com/world/2022/08/15/celebration-uncertainty-fear-grip-kabul-one-year/