การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ ‘ธุรกิจโรงแรม’ เข้าสู่สภาพโคม่า เพราะเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวที่เป็นลูกค้าเข้าก็ไม่มีเงินหมุนสู่ธุรกิจ ทำให้โรงแรมไหนที่ ‘สายป่าน’ ไม่ยาวจึงไม่อาจประคองธุรกิจให้ผ่านช่วงวิกฤตไปได้ โดยเฉพาะโรงแรมในกรุงเทพฯ ที่มากกว่า 90% พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ ทางออกของเรื่องนี้จึงหนีไม่พ้น ‘การขายกิจการ’
บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เป็นหนึ่งในบริษัท ‘เนื้อหอม’ ที่ได้รับการเสนอดีลเข้าซื้อกิจการ เพราะมีศักยภาพสูง โดยเป็นหนึ่งในบริษัทในเครือของ ‘เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี’ ซึ่งวันนี้มี ‘วัลลภา ไตรโสรัส’ ลูกสาวคนที่ 2 นั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่อยู่
ที่บอกว่า ‘เนื้อหอม’ เพราะมีนับ 100 โครงการที่เข้ามาเสนอ ซึ่งมีตั้งแต่หลักร้อยล้านบาทไปจนถึงหมื่นล้านบาท และไม่ใช่บริษัทธรรมดาเท่านั้น แต่บริษัทที่ห้อยท้ายนามสกุลว่า ‘มหาชน’ ก็มีเข้ามาเสนอขายเช่นกัน
เพื่อรองรับโอกาสที่เข้ามา วัลลภาจึงสนใจที่จะตั้ง ‘กองทุน’ ขึ้นมาเพื่อที่จะเข้าซื้อโรงแรมที่ขาดสภาพคล่อง เพราะต้องการพยุงภาพรวมธุรกิจโรงแรมไทยให้เสียหายน้อยที่สุดจากการต้องปิดกิจการลง
เบื้องต้นกองทุนดังกล่าวอยู่ในระหว่างพูดคุยกับนักลงทุนสถาบันของ AWC จำนวน 3-4 ราย และกำลังเจรจากับสถาบันการเงินอยู่เช่นกัน คาดว่าจะสามารถสรุปดีลตั้งกองทุนได้ต้นปีหน้า โดยคาดว่ากองทุนดังกล่าวจะมีมูลค่าหลัก ‘หมื่นล้านบาท’ ด้วยกัน
วัลลภากล่าวกับ THE STANDARD ว่า ในกว่าร้อยโครงการที่เข้ามาเสนอ มีอยู่ราว 30% ที่แมตช์กับโพสิชันนิงของ AWC ซึ่งปกติแล้ว AWC จะลงทุนในโครงการระดับกลางถึงบนหรือโรงแรม 4-5 ดาว โดยโรงแรมที่จะซื้อต้องเป็นโครงการที่อยู่ในเมืองเป้าหมายของนักท่องเที่ยว และโรงแรมต้องมีศักยภาพที่จะสามารถรีแบรนด์หรือทรานส์ฟอร์มใหม่ได้ ส่วนโครงการที่เหลือคาดว่า T.C.C Group ซึ่งเป็น Holding Company ของ ‘ตระกูลสิริวัฒนภักดี’ จะพิจารณาในการเข้าซื้อ
ส่วนแผนธุรกิจในระยะยาว 5 ปี (2564-2568) AWC ยังยืนยันใช้งบลงทุนต่อเนื่อง 30,000 หมื่นล้านบาท แต่ช่วงเวลาที่เปิดตัวอาจจะขยับออกเพราะภาวะการท่องเที่ยวของไทยยังไม่สนใจเท่าที่ควร ตัวอย่างโครงการที่จะเลื่อน เช่น ‘อิมพีเรียลแม่ปิง’ ที่จะรีโนเวตเป็น ‘อินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง’ และการรีโนเวตอิมพีเรียล หัวหิน
เดิมทั้งสองโครงการมีกำหนดแผนดำเนินการไว้ในปี 2564 หากสถานการณ์ปรับตัวได้ดีขึ้นในช่วงต้นปีหน้า คาดว่าจะเลื่อนไปจากเดิมประมาณ 1 ปี แต่ถ้าต้นปีหน้ายังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทย แผนก็จะขยับเป็น 2 ปี ขณะเดียวกันในช่วงปีหน้าจะมีโรงแรม 1 แห่งที่กำลังจะเปิด โดยสถานการณ์ทั้งหมดจะมีการประเมินอีกครั้งในช่วงต้นปี 2564
ส่วนแผนพัฒนาโครงการใหม่ เช่น ‘โครงการอควอทีค พัทยา’ เมกะโปรเจกต์ด้วยมูลค่าการลงทุน 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีทั้งช้อปปิ้งมอลล์และโรงแรม 4 แห่ง เช่น โรงแรมเจดับบลิว แมริออท เดอะ พัทยา บีช รีสอร์ต แอนด์ สปา และโรงแรม พัทยา แมริออท มาร์คีส์ ฯลฯ รวมทั้งหมด 1,900 ห้องจะเดินหน้าพัฒนาต่อ
อย่างไรก็ตาม มีสองเรื่องที่วัลลภาได้เรียนรู้จากการระบาดของโรคโควิด-19 เรื่องแรกคือกลยุทธ์การปรับตัวต้องเป็นแบบไดนามิก เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงทุกวัน และเรื่องที่สองคือการบริหารความเสี่ยงจากการกระจายธุรกิจให้มีความหลากหลาย
“ตอนที่ AWC กำลังจะเข้าตลาด นักลงทุนถามว่าเอาออฟฟิศมาทำไม เพราะไม่หวือหวาเท่ากับโรงแรม ซึ่งในช่วงนั้นการท่องเที่ยวกำลังบูมเป็นอย่างมาก แต่ส่วนตัวมองว่าออฟฟิศเป็นรายได้ที่เข้ามาสม่ำเสมอ ซึ่งวันนี้ได้มีคำตอบให้กับนักลงทุนแล้วว่าการมีออฟฟิศอยู่ในพอร์ตช่วยกระจายความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากธุรกิจโรงแรม”
ที่ผ่านมารายได้ของธุรกิจโรงแรมคิดเป็นสัดส่วนหลักกว่า 50% ในขณะที่ออฟฟิศมีสัดส่วนรายได้เพียง 30% แต่วันนี้โดยเฉพาะไตรมาส 2-3 ปี 2563 ธุรกิจออฟฟิศได้กลายเป็นรายได้หลักที่เข้ามาหล่อเลี้ยงบริษัทแทนที่ธุรกิจโรงแรมที่ช่วงไตรมาส 2 ต้องปิดชั่วคราว ส่วนไตรมาส 3 นั้นยังไม่ฟื้นตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง
แต่ถึงแม้ธุรกิจออฟฟิศจะได้รับความสนใจในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ AWC ก็ยังไม่สนใจที่จะปรับพอร์ตของธุรกิจออฟฟิศให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น เพราะในอีก 4-5 ปีต่อจากนี้จะมีซัพพลายเพิ่มเข้ามาอีก 1-2 ล้านตารางเมตร โดยซัพพลายส่วนใหญ่จะเป็นออฟฟิศเกรด A ที่ตั้งอยู่ใน One Bangkok เมกะโปรเจกต์มูลค่า 1.2 แสนล้านของ ‘เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด’ ซึ่งมี ‘ปณต สิริวัฒนภักดี’ เป็นหัวเรือใหญ่
ส่วนกรณีที่ Market Cap ของ AWC หลุดจากมูลค่า 1.85 แสนล้านบาท จนเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมลดลงเหลือ 9.6 หมื่นล้านบาท หายไปเกือบ 50% จากราคา IPO วัลลภาให้มุมมองต่อเรื่องนี้ไว้ว่า
“หุ้นของ AWC เป็นหุ้นที่มีคุณค่าระยะยาว ซึ่งตอนนี้ผ่าน Bottom Out หรือจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 ไปแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ขณะเดียวกัน AWC มีจุดเด่นด้วยที่ดินกว่า 90% เป็นที่ดินฟรีโฮลด์ และยังเดินหน้าการลงทุนตลอดจนมีทิศทางที่ชัดเจน ดังนั้นในระยะยาวจึงยังมีโอกาสอีกมาก อยู่ที่ใครจะมองเห็นและคว้าโอกาสได้ก่อนกัน”
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์