วันนี้ (10 กันยายน) สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก เอ้ สุชัชวีร์ ถึงสถานการณ์น้ำท่วม ในหัวข้อ ‘ไม่มีปั๊ม ไม่มีเซ็นเซอร์ ไม่เปิดประตูน้ำ ไม่ระบายน้ำ ไม่รอด’
โดยระบุว่า พูดในฐานะชาวบ้าน คนกรุงเทพฯ ธรรมดาที่เดือดร้อน สถานการณ์น้ำท่วมอย่าสาหัสมากในพื้นที่เขตลาดกระบังมาหลายวัน โดยเสนอหลักแก้ปัญหาในฐานะวิศวกรธรณีเทคนิค ที่เราทำงานเรื่องดิน เรื่องน้ำมาทั้งชีวิต มีข้อสังเกตที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างด่วนที่สุด 5 ข้อ
- ไม่มีเครื่องสูบน้ำ ถนนลาดกระบัง-หลวงแพ่ง- หัวตะเข้ หลายกิโลเมตรที่น้ำท่วมขัง ทั้งฝั่งเข้าและฝั่งออก ผมเห็นเครื่องสูบน้ำเพียงไม่กี่เครื่อง น้อยมาก และสูบย้อนไปย้อนมา กลับมาท่วมที่เดิม ขอแนะนำให้นำเครื่องสูบน้ำจากพื้นที่ที่ยังปลอดภัย ขอยืมมาระดมสูบน้ำ และต้องวางแผนการสูบ ไม่ใช่การสูบโยนไป-โยนมา ชาวบ้านเดือดร้อนเพิ่ม
- ติดตามระดับน้ำบนคลองประเวศบุรีรมย์ทุกวัน ไม่มีลด ดูรูปประกอบ ระดับล้นตลิ่งคลองหลัก คลองแขนง ฝั่งหัวตะเข้-ลาดกระบัง ล้นมา 3 วัน เกิน 100% ที่จะรับได้ พูดง่ายๆ น้ำทะลักแล้ว ไม่มีการช่วยระบายน้ำเพื่อพร่องคลองประเวศฯ ที่เป็นคลองสายหลักของกรุงเทพฯ ตะวันออกเลย และไม่พร่องคลองแขนง เช่น คลองลำปลาทิว ดังนั้นต่อให้มีเครื่องสูบน้ำก็สูบไปไหนไม่ได้ เพราะคลองรับไม่ได้แล้ว ถ้าไม่พร่องน้ำก็สูบหลอก สูบย้อนไปย้อนมา ทะลักเข้าบ้านเรือนชาวบ้านอีก
- ไม่ทราบว่ามีการประสานกับจังหวัดฉะเชิงเทราหรือไม่ อย่างไร เพราะน้ำท่วมต้องระบายออกทางตะวันออกบ้าง เพื่อพร่องน้ำในคลองหลักและคลองแขนง ระบายในระดับที่เพื่อนบ้านไม่เดือดร้อน ทำได้ครับ แม่น้ำบางปะกงติดอ่าวไทย ไหลระบายลงเร็วมาก ช่วยได้ทันที แทนที่จะปล่อยเขตลาดกระบังและกรุงเทพฯ ตะวันออกให้จมมิดสนิท
- แทบไม่เปิดประตูน้ำคลองประเวศฯ ให้น้ำผ่านไปขึ้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีสูบน้ำพระโขนง เพราะเมื่อไม่ระบายทางตะวันออก ก็มีทางน้ำออกทะเลทางเดียวคือทางเจ้าพระยา ที่ไกลมากกว่า 20 กิโลเมตรจากที่นี่ ดังนั้นกว่าจะถึงพระโขนง ระดับน้ำในคลองก็ถูกลดระดับ เฉลี่ย จนแทบไม่มีผลกระทบต่อเขตชั้นใน ลองคำนวณเพิ่มได้ ประตูน้ำถูกสร้างมาเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่กลับมาสร้างปัญหาน้ำท่วม ไม่น่าเลย
- ไม่มีเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำอัตโนมัติ? ในพื้นที่ลาดกระบัง จากที่ติดตามข้อมูลของสำนักระบายน้ำ น่าตกใจที่สุด ที่พื้นที่เสี่ยงที่สุด กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่มีข้อมูลจากสถานีตรวจวัด ในการจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ เพราะเมื่อไม่มีเซ็นเซอร์ ไม่มีระบบการวัดระดับน้ำอย่างละเอียด ก็เหมือนคนตาบอด แก้ปัญหาไม่ตรงตามสถานการณ์ สูบน้ำก็พลาด เปิดประตูน้ำก็ผิดช่วงเวลา
- เห็นกระสอบทรายมากั้นท่อระบายน้ำ ผิดที่ ผิดเวลา ไม่กล้าวิเคราะห์จริงๆ จะให้น้ำลงไปทางไหน ท่วมถนนจมขนาดนี้ เครื่องสูบก็แทบไม่มี
“ฝนกำลังมาอีกระลอก ผมแนะนำด้วยความห่วงใย ไม่ทำเดี๋ยวนี้ก็จะจมต่อไป จากนั้นถนนจะพัง ดินจะทรุด บ้านเรือนจะเสียหาย ไฟฟ้าจะดูด ผลกระทบต่อเนื่องน่ากลัวกว่าที่คิดครับ” สุชัชวีร์ระบุ