ไตรมาสแรกของปี 2564 เม็ดเงินใน ‘อุตสาหกรรมโฆษณา’ ก็ยังไม่พ้น ‘ตัวแดง’ เสียที ข้อมูลจาก นีลเส็น ประเทศไทย ระบุว่า ในเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564 มูลค่าเม็ดเงินโฆษณาหดตัวลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมูลค่าอยู่ที่ 26,701 ล้านบาท
สื่อทีวียังคงเป็นสื่อที่มีสัดส่วนของการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดอยู่ที่ 59% หรือ 15,701 ล้านบาท ทว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนได้ลดลง 5% สื่ออื่นๆ เองก็ลดลงกันถ้วนหน้า ทั้งสื่อนอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ 2,773 ล้านบาท ลดลง 18%, สื่อในโรงภาพยนตร์ 1,153 ล้านบาท ลดลง 19%
สื่อสิ่งพิมพ์ 779 ล้านบาทลดลง 17%, สื่อวิทยุ 735 ล้านบาท ลดลง 22% และสื่ออินสโตร์ 159 ล้านบาท ลดลง 21% โดยมีเพียง ‘สื่อดิจิทัล’ เพียงกลุ่มเดียวที่สามารถเติบโต 20% ด้วยมูลค่า 5,700 ล้านบาท
ด้านภาพรวมใช้เม็ดเงินโฆษณาอุตสาหกรรมหลัก อาทิ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) มูลค่า 4,791 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% และกลุ่ม Media & Marketing ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจการขายตรงมูลค่า 3,056 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8%
ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง (Personal Care & Cosmetic) มูลค่า 3,696 ล้านบาท ลดลง 4% และกลุ่มยานยนต์ (Automotive) มูลค่า 1,853 ล้านบาท ลดลง 12% สุดท้ายในกลุ่มที่มีการลดลงอย่างเห็นได้ชัดและต่อเนื่องจากปีที่แล้วคือ กลุ่มการท่องเที่ยว (Travel) มูลค่า 289 ล้านบาท ลดลง 72%
ส่วนบริษัทที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดของไตรมาสแรกได้แก่ ยูนิลีเวอร์ มูลค่า 1,183 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 15% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาคือ บรีส เอกเซล ชนิดน้ำ ทางสื่อทีวีมูลค่า 44 ล้านบาท รองลงมาคือ โดฟ ใหม่ แอนตี้ แฮร์ฟอล นอริชเม้นท์ ทางสื่อทีวีมูลค่า 31 ล้านบาท
รองลงมาเป็น เนสท์เล่ มูลค่า 888 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 110% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาคือ เนสกาแฟ อเมริกาโน่ ทางสื่อทีวีมูลค่า 25 ล้านบาท รองลงมาคือ S-26 ของขวัญวันเกิด ทางสื่อทีวีมูลค่า 21 ล้านบาท
ลำดับที่ 3 คือ พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ประเทศไทย) หรือ P&G มูลค่า 613 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 25% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาคือ ดาวน์นี่ ใหม่หอมติดทนนาน ทางสื่อทีวีมูลค่า 25 ล้านบาท รองลงมาคือ รีจอยส์ ผมนุ่มสลวยยาวนาน ทางสื่อทีวีมูลค่า 21 ล้านบาท