×

ADVANC ลุ้นเศรษฐกิจฟื้นดันรายได้ปีหน้าพุ่ง ปักกลยุทธ์ ‘สร้างความต่าง’ สู้ศึกค่ายมือถือ ปูทางสู่ยุค 5G

19.11.2020
  • LOADING...
AIS

ผลการดำเนินงานกลุ่มเทคโนโลยีการสื่อสารในไตรมาส 3/63 ประกาศออกมาแล้ว พบว่าทั้ง 3 ค่ายผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมล้วนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยทั้งรายได้รวมและกำไรสุทธิต่างปรับลดลง

 

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่าภาพรวมผลการดำเนินทั้งปีนี้ก็น่าจะล้อไปกับ GDP ของไทย ทั้งนี้ โดยปกติแล้วอุตสาหกรรมโทรคมนาคมขยายตัวมากกว่า GDP ราว 1-2% แต่ในปีนี้ ภาพรวม GDP น่าจะติดลบประมาณ 6% อ้างอิงจากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ประมาณการไว้ ฉะนั้นผลการดำเนินงานของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในปีนี้น่าก็จะติดลบประมาณ 4-5% 

 

สาเหตุหลักที่ทำให้รายได้ปรับลดลงมี 2 ประการหลักคือ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยปรับลดลง ส่งผลให้รายได้ด้านโรมมิ่งหายไปประมาณ 10% ของรายได้รวม และกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ซึ่งส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงในกลุ่มผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องการแข่งขันด้านราคา 

 

ส่วนปัจจัยบวกจากเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปโดยหันมาติดต่อสื่อสารกันด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น แม้จะเป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง โดยมีการใช้เทคโนโลยีสื่อสารทดแทนการพบปะกันเพิ่มขึ้นถึง 20% แต่ก็ไม่ชดเชยรายได้ที่หดหายไป 

 

ลุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัวดันรายได้โตต่อ 

สมชัยกล่าวเพิ่มว่าภาพรวมเศรษฐกิจปีหน้าเชื่อว่าน่าจะฟื้นตัวราว 4-5% และแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกัน เนื่องจากมีความคืบหน้าเรื่องการค้นพบวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และอาจกลับเข้าสู่ภาวะปกติในที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนก็ยังคงมีอยู่ และอาจกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ในที่สุด ฉะนั้นจึงยังต้องติดตามเพิ่มว่าการแพร่ระบาดระลอกสองจะเกิดขึ้นในประเทศไทยหรือไม่ 

 

อีกประเด็นที่น่าติดตามคือโครงสร้างรายได้ของประเทศไทยจะมีการปรับเปลี่ยนหรือปรับตัวไปในรูปแบบใด เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนภาพชัดเจนว่าประเทศไทยไม่อาจพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลักได้อีกต่อไป 

  

เชื่อการแข่งขันด้านราคายังสูง

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมปีหน้า สมชัยกล่าวว่าในมุมของผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานค่อนข้างชัดเจนว่าเน้นการใช้บริการดาต้ามากกว่าบริการวอยซ์ ฉะนั้นการแข่งขันในอุตสาหกรรมจะยังคงมุ่งไปทางบริการดาต้า 

 

โดยภาพรวมการแข่งขันจะยังคงรุนแรง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคที่ปรับลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้กลยุทธ์ด้านราคาเข้าจูงใจและกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมประเมินว่ากลยุทธ์ด้านราคาไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้องค์กรสามารถสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนได้ โดยมองว่ากลยุทธ์การสร้างความแตกต่างน่าจะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการแต่ละรายเลือกใช้

 

เขากล่าวเพิ่มว่า AIS นั้นมุ่งเน้นการสร้างความแตกต่างเพื่อสร้างการรับรู้ในจุดยืนของแบรนด์ โดยเริ่มตั้งแต่การสร้าง Digital Platform ให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มของ AIS อย่างครบครันด้วยการสร้างความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ธุรกิจที่หลากหลาย เช่น ประกัน โมบายล์แบงกิ้ง และบริการด้านคอนเทนต์อื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดอีโคซิสเต็มในที่สุด โดยโมเดลธุรกิจนี้จะช่วยให้ AIS ได้รับคือส่วนแบ่งรายได้จากพาร์ตเนอร์อย่างต่อเนื่อง 

 

นอกจากนี้ AIS ยังมีการลงทุนในเรื่องคอนเทนต์ AR และ VR (Augmented และ Virtual Reality) ซึ่ง​ทำให้ลูกค้ารับรู้ถึงบริการบางอย่างที่ AIS แตกต่างจากคู่แข่งอย่างแท้จริง 

 

คาด 5G ใช้เวลา 2 ปีจึงจะบูม

ในส่วนของเทคโนโลยี 5G สมชัยมองว่าอาจต้องใช้เวลา 2 ปี โดยเทคโนโลยี 5G แม้จะทำให้ผู้ให้บริการเร่งปรับตัว แต่ในส่วนของผู้บริโภคนั้นเชื่อว่าต้องใช้เวลาและรอให้ปัจจัยสำคัญเกิดขึ้นตามมาเสียก่อน นั่นก็คือราคาของอุปกรณ์ต้องจับต้องได้ เข้าถึงง่าย ราคาเฉลี่ยต่อเครื่องควรจะอยู่ที่ 3,000-6,000 บาท 

 

“ส่วนตัวประเมินว่าเทคโนโลยี 5G จะไม่ได้ปลุกตลาด และไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม รวมถึงไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เนื่องจากมองว่าอาจต้องใช้เวลาในการสร้างตลาดประมาณ 2 ปี โดยที่ต้องมีปัจจัยด้านราคาเข้ามาเกื้อหนุน ถ้าราคาของอุปกรณ์ไม่ลดลงมาระดับ 3,000-6,000 บาท ตัว 5G ก็ยังไม่แมส การจะแมสและเกิด Economy of Scale ได้ ราคาเครื่องก็ต้องเข้าถึงได้ด้วย” 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X