ฟันธงล่วงหน้า ซีรีส์สี่ตอนจบเรื่อง Adolescence สัญชาติอังกฤษซึ่งเผยแพร่ทางช่อง Netflix ตอนนี้ (และข่าวล่าสุดบอกว่า จำนวนคนดูซีรีส์เรื่องนี้มีมากถึงเกือบร้อยล้านคนทั่วโลก) จะเป็นผลงานที่เมื่อเข้าสู่เทศกาลประกวดรางวัล มันน่าจะถูกเสนอชื่อเข้าชิงหรือแม้กระทั่งเก็บกวาดรางวัลจากหลากหลายสถาบันอย่างเป็นกอบเป็นกำ
เหตุผลที่ทำให้เชื่อมั่นขนาดนั้นก็เพราะ Adolescence ผลงานสร้างสรรค์และเขียนบทโดย Jack Throne และ Stephen Graham เป็นซีรีส์แนวดราม่าอาชญากรรมผสมแง่มุมเชิงจิตวิทยาที่ในส่วนของเนื้อหา มันถูกบอกเล่าได้อย่างละเอียด ประณีต ลึกซึ้งและรัดกุม ข้อสำคัญ ผู้สร้างไม่ได้มองประเด็นปัญหาที่นำเสนออย่างฉาบฉวยหรือเหมารวม ทว่าชักชวนคนดูไปสำรวจและสอดส่องในระดับรากเหง้าและต้นตอ และมันยิ่งทำให้เมื่อนึกย้อนทบทวน สองอย่างที่สรุปได้แน่ๆ ก็คือ หนึ่ง สิ่งที่ซีรีส์ถ่ายทอดไม่ได้ห่างไกลจากโลกความเป็นจริง และอีกหนึ่งก็คือ ค่านิยม และ/หรือ ความเชื่อบางอย่างที่ฝังแน่นอยู่ในความนึกคิดของผู้คน บวกกับอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนทำให้เด็กหนุ่มจำนวนไม่น้อยกลายสภาพเป็นระเบิดเวลาที่รอคอยการจุดชนวน
ขณะที่ในส่วนของการนำเสนอ การเลือกถ่ายทำแบบ Long Take ตลอดทั้งอีพี (หรืออีกนัยหนึ่ง จำนวนช็อตของแต่ละตอนมีเพียงแค่หนึ่งเดียว) ก็นับว่าเป็นทั้งความทะเยอทะยาน หรือแม้กระทั่งดูกล้าบ้าบิ่นทีเดียว จริงๆ แล้ว พื้นฐานของการเป็นคนเขียนบทละครเวทีของ Jack Throne น่าจะทำให้การเล่นกับความต่อเนื่องลื่นไหล เป็นเหมือนกับความถนัดจัดเจน เพราะนั่นคือธรรมชาติของศิลปะการแสดงแขนงนี้อยู่แล้ว แต่ Adolescence ไม่ใช่บันทึกการแสดงสดบนเวทีละคร และมันเล่าเรื่องด้วยวิธีการของภาพยนตร์ ทั้งฉากหลังที่ดูสมจริง (ไล่เรียงตั้งแต่บ้านพักอาศัย สถานีตำรวจ ไปจนถึงโรงเรียนมัธยม) ทั้งการใช้ประโยชน์จากกลไกด้านภาพและเสียงนานัปการ (และอย่างเดียวที่ซีรีส์เรื่องนี้ไม่มีก็คือการตัดต่อ) อันนำพาให้ผลลัพธ์ที่ปรากฏเบื้องหน้าคนดูเป็นเรื่องน่าตื่นตะลึง
จริงๆ แล้ว การถ่ายแบบ Long Take ตลอดเรื่องก็ไม่ใช่ของแปลกแต่อย่างใด และคนทำหนังหลายคนท้าทายตัวเองด้วยวิธีการนำเสนอแบบนี้ (Birdman, 1917, บางตอนของซีรีส์เรื่อง The Bear) แต่ส่วนที่ทำให้ Adolescence พิเศษและโดดเด่นก็ตรงที่มันเป็นการถ่ายทำอย่างต่อเนื่องจริงๆ ไม่ใช่การแอบตัดหนังเป็นท่อนๆ และนำช็อตเหล่านั้นมาเชื่อมด้วยเทคนิคพิเศษทางด้านภาพยนตร์ สองในหลายฉากที่น่าทึ่งมากๆ อยู่ในช่วงท้ายของอีพีสอง ที่นักสืบผิวสีย้อนกลับมาที่ห้องเรียนเพื่อสอบถามข้อมูลจากเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ผู้ซึ่งมีท่าทีพิรุธตั้งแต่การพบปะครั้งแรก แล้วจู่ๆ เด็กหนุ่มก็กระโจนหนีออกนอกหน้าต่างห้องเรียน ปรากฏว่ากล้องที่ตามติดนักสืบมาโดยตลอด ก็เหาะผ่านกรอบหน้าต่าง และบันทึกเหตุการณ์ไล่ล่าระหว่างเด็กหนุ่มกับนักสืบที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว ไปบนบาทวิถีที่ทั้งแคบและคดเคี้ยวเป็นระยะทางยาวไกล
อีกฉากก็คือช่วงจบของอีพีเดียวกันที่กล้องเคลื่อนตามกลุ่มนักเรียนเดินข้ามถนนหลังเลิกเรียน ก่อนที่มันจะพาคนดูบินข้ามไปอีกฟากของเมือง เพื่อเล่าเรื่องของตัวละครอีกคนที่นำดอกไม้ไปวางเพื่อไว้อาลัยแด่ใครบางคนที่วายชนม์
แต่ก็นั่นแหละ การถ่ายแบบ Long Take ไม่ได้เป็นเพียงแค่แท็กติกหรือลูกเล่นเพื่อโชว์ความเก่งของตากล้องหรือเพื่อสร้างความหวือหวาทางด้านภาพ และมันเป็นกลวิธีที่แนบแน่นกับโครงสร้างการเล่าเรื่อง ที่แน่ๆ การดำเนินเรื่องแบบ Real Time หยิบยื่นความรู้สึกว่าทั้งหมดที่ปรากฏเบื้องหน้า ดูละม้ายคล้ายความเป็นจริง (ขณะที่การตัดต่อน่าจะทำให้แต่ละอีพีดูไม่เป็นธรรมชาติราบรื่นแบบนี้) อีกทั้งความต่อเนื่องของเหตุการณ์ที่ประดังเข้ามาก็เปรียบได้กับกาต้มน้ำร้อนที่ยิ่งเวลาผ่านพ้นไป อุณหภูมิก็เพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนที่น่าทึ่งก็คือกล้องไม่ได้เคลื่อนไปอย่างสะเปะสะปะ หรือเน้นแต่การบันทึกภาพกว้างเพียงอย่างเดียว และการจับภาพระยะโคลสอัพหลายครั้งก็กลายเป็นช่วงเวลาที่บีบคั้นและกัดเซาะทีเดียว
หนึ่งในนั้นได้แก่เหตุการณ์ในอีพีแรกที่เด็กหนุ่มซึ่งถูกจับกุมข้อหาฆ่าคนตาย ต้องเปลื้องผ้าเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจร่างกายอย่างละเอียด แต่แทนที่กล้องจะจับจ้องสิ่งที่เกิดขึ้น กลับไปหยุดที่ใบหน้าของผู้เป็นพ่อที่ต้องเบือนหนีเพราะไม่อาจจะทนเห็นลูกชายวัยเพียงแค่สิบสามต้องถูกปฏิบัติแบบเดียวกับอาชญากร อีกหนึ่งอยู่ในตอนจบของอีพีสามที่ภาพโคลสอัพใบหน้าของนักจิตวิทยา (Erin Doherty) อาจจะนับเป็นหนึ่งในโมเมนต์ที่เศร้าสร้อยที่สุดของซีรีส์ เนื่องจากหน้าที่การงานของเธอบีบบังคับโดยอ้อมให้เด็กหนุ่มต้องยอมเปิดบาดแผลทางจิตใจของตัวเอง และอนุมานได้ว่าสีหน้าสีตาของเธอช่วงท้ายบ่งบอกความรู้สึกผิดบาปที่เธอฉวยโอกาสและประโยชน์จากความจริงใจและจริงจังของหนุ่มน้อย
ตามเนื้อผ้า Adolescence เปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์ตำรวจบุกจู่โจมบ้านของหนุ่มน้อยวัยสิบสามปีที่ชื่อ Jamie Miller (Owen Cooper) ในตอนเช้าตรู่พร้อมกับแจ้งข้อหาฆ่าคนตายท่ามกลางความตกตะลึงพรึงเพริดของพ่อ (Stephen Graham) แม่ (Christine Tremarco) และพี่สาว (Amélie Pease) ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาไม่คาดฝันว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้
แล้วเนื้อหาจากนั้นก็เป็นเรื่องของขั้นตอนและกระบวนการสอบสวน ข้อมูลที่พวกเราสรุปได้ก็คือ เหยื่อเคราะห์ร้ายเป็นเด็กสาวร่วมชั้นเรียนของ Jamie ซึ่งถูกจ้วงแทงหลายแห่งจนเธอทนพิษบาดแผลไม่ไหว ขณะที่ Jamie ก็ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา กระนั้นก็ตาม ทิศทางที่ซีรีส์ Adolescence มุ่งหน้าไป ไม่ใช่การสืบเสาะว่าใครเป็นคนฆ่า เพราะยังไม่ทันที่อีพีแรกจะจบสิ้น หลักฐานอันได้แก่ภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดก็มัด Jamie แน่นหนา แต่คำถามที่ชวนให้ฉงนสนเท่ห์ก็คือ อะไรที่นำพาให้เด็กหนุ่มอย่าง Jamie ที่คนดูมองเห็นจะแจ้งว่าเขาเป็นคนละเอียดและอ่อนไหว มีไหวพริบและความฉลาดเฉลียว กระทำการอันอุกอาจเยี่ยงฆาตกร
ว่าไปแล้ว ความพิเศษและวิเศษของซีรีส์เรื่อง Adolescence อยู่ตรงนี้เอง เพราะก็อย่างที่เกริ่นข้างต้น ผู้สร้างไม่ได้พยายามอธิบายเรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นด้วยคำตอบง่ายๆ หรือสำเร็จรูป หรือเอาเข้าจริงๆ คนดูก็อาจจะเปรียบได้กับคณะลูกขุนที่ต้องวินิจฉัยต้นตอของความยุ่งยากและปัญหาทั้งมวลจากการรวบรวมสิ่งละอันพันละน้อยตลอดทั้งสี่อีพีของผู้สร้าง และอย่างหนึ่งที่สรุปได้แน่ๆ เหตุสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่เหนือน้ำ และส่วนที่เป็นเสมือนฐานด้านล่างก็ทับซ้อนไว้ด้วยเรื่องสารพัดสารพัน
ประเด็นหนึ่งที่น่าครุ่นคิดมากๆ เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่นั่นเอง แต่ก็อีกนั่นแหละ ผู้สร้างก็ไม่ได้นำเสนอแง่มุมดังกล่าวอย่างขอไปที แต่ชักชวนคนดูไปสำรวจสิ่งที่อาจเรียกว่า ‘ซับเซ็ต’ หรือสาขาย่อยของแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่ไม่ได้มองเห็นแต่เฉพาะความเหนือกว่าของผู้ชายเพียงอย่างเดียว แต่สายตาที่จ้องมองเพศหญิงก็ยังเจือปนท่าทีดูถูก เหยียดหยามและเกลียดชัง ซึ่งมันจะแปรเปลี่ยนเป็นการใช้ความรุนแรงทันทีในห้วงเวลาที่พวกเขามองเห็นว่าผู้หญิงคนนั้นๆ เหิมเกริม ไม่สำนึกหรือสำเหนียกในสถานะอันอ่อนด้อยของตัวเอง ไหนๆ ก็ไหนๆ นั่นไม่เพียงอธิบายถึงสาเหตุการตายของ Katie ซึ่งเป็นจุดปะทุของเรื่อง หากใครลองสังเกตบทบาทของแม่และพี่สาวของ Jamie ซึ่งไม่ค่อยมีปากมีเสียงเท่าไหร่นัก ก็บอกโดยอ้อมว่า ผู้หญิงในสังคมที่ผู้ชายคือเผด็จการสูงสุดของบ้านควรจะเจียมเนื้อเจียมตนอย่างไร
ส่วนที่นับว่ายอกย้อนก็คือ Eddie ผู้เป็นพ่อก็ไม่ใช่ผู้ชายประเภทใช้กำลังทุบตีลูกเมีย จริงๆ แล้วการไม่ใช่ความรุนแรง (เนื่องเพราะเขาไม่อยากส่งต่อพฤติกรรมแย่ๆ จากพ่อของเขาไปถึงรุ่นลูก) เป็นเสมือนความภูมิใจของเขาด้วยซ้ำ แต่นั่นก็ไม่ได้รับประกันแม้แต่น้อยว่า Jamie และคนอื่นๆ จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากสิ่งที่เรียกว่า toxic masculinity หรือภาวะชายแท้เป็นพิษที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสสังคมผ่านวิธีคิด วิธีพูด และวัตรปฏิบัติของผู้คนในชุมชนและสื่อออนไลน์
อีกหนึ่งที่เป็นแก่นสารน่าสนใจของซีรีส์ก็คือการวิพากษ์ระบบการศึกษาของประเทศอังกฤษที่โรงเรียนล้มเหลวในเชิงปฏิบัติโดยสิ้นเชิง เราได้เห็นนักเรียนบูลลี่กันเองต่อหน้าต่อตาครู ไปจนถึงครูหลายคนก็เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ หนึ่งในนั้นเดินเข้าๆ ออกๆ ห้องเรียนเหมือนคนรอเวลาเลิกงาน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของพลังงานมหาศาลของ Adolescence หลั่งไหลมาจากการแสดงของนักแสดงทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Owen Cooper ในบท Jamie ผู้ซึ่งเปรียบได้กับศูนย์ถ่วงของทั้งซีรีส์ กระทั่งกล่าวได้ว่าความสำเร็จหรือล้มเหลวเกี่ยวข้องกับแอ็กติ้งของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และความขึงขังจริงจัง เข้าถึงบทบาทอย่างน่าอัศจรรย์ของเขาทำให้คนดูหลงลืมอย่างง่ายดายว่านี่เป็นเพียงการแสดง และเราได้เห็นแต่เฉพาะหนุ่มน้อย Jamie ผู้ซึ่งอนาคตของเขากำลังจะดับวูบอย่างน่าเวทนา ส่วนที่ยิ่งเหลือเชื่อก็คือนี่เป็นผลงานการแสดงปฐมฤกษ์ของเจ้าตัว
อีกหนึ่งก็คือคนที่เกริ่นไว้ข้างต้น Erin Doherty ในบทนักจิตวิทยาผู้ซึ่งฉากปะทะสังสรรค์ระหว่างเธอกับ Owen Cooper ในอีพีสาม กลายเป็นช่วงเวลาที่คุกรุ่นเดือดพล่านอย่างชนิดไม่อาจละวางสายตา
กล่าวอย่างรวบยอดจริงๆ การวัดผลสัมฤทธิ์ของ Adolescence ในที่สุดแล้ว อาจจะไม่ใช่เรื่องของจำนวนคนดู ยอดสมัครสมาชิก เสียงแซ่ซ้องสรรเสริญจากทุกทิศทาง หรือชัยชนะบนเวทีรางวัล แต่บางที มันคือการที่ Netflix เห็นพ้องกับข้อเรียกร้องของนายกรัฐมนตรีอังกฤษในการเผยแพร่ซีรีส์เรื่องนี้ให้ดูฟรีในโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ ทำนองว่ามันน่าจะช่วยยับยั้งเรื่องเลวร้ายที่อาจจะเกิดในภายภาคหน้า หรือแม้กระทั่งช่วย ‘ปลดชนวนระเบิดเวลา’ และโดยอัตโนมัติ นั่นคือการแสดงออกในเชิงยอมรับว่างานศิลปะไม่เพียงกล่อมเกลาจิตใจผู้คน แต่ยังมีพลังอำนาจในการชักนำสังคมให้หันเหหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และนั่นถือเป็นความสำเร็จที่ประเมินค่าไม่ได้
Adolescence (2025)
สร้างสรรค์: Jack Thorne, Stephen Graham
กำกับ: Philip Barantini
ผู้แสดง: Stephen Graham, Ashley Walters, Owen Cooper, Erin Doherty ฯลฯ