โฆษณาที่ดีคืออะไร รูปร่างหน้าตาเป็นแบบไหน ถ้าโฆษณาช่วยเพิ่มยอดขายให้แบรนด์ได้จะถือว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ แล้วถ้ายอดขายไม่เพิ่ม แต่คนดูแล้วสนุก เราจะเรียกมันว่าโฆษณาที่ดีได้หรือเปล่า
ในวันที่แพลตฟอร์มดิจิทัลพองตัวจนเริ่มมีบทบาทเหนือช่องทางออฟไลน์ เราได้เห็นโฆษณาหลายรูปแบบ ไวรัลฮิตติดกระแสทั่วบ้านทั่วเมือง หรือแย่จนทนดูไม่ไหว ต้องกดปิด ขณะเดียวกันก็ยังมีคนเบื้องหลังงานโฆษณากลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าโฆษณาที่ดีต้องไม่ทำหน้าที่แค่ขายของอย่างเดียว แต่ต้องส่งเมสเสจอะไรบางอย่างกลับออกไปให้คนดูได้ด้วย
THE STANDARD มีโอกาสเข้าร่วมงานเสวนาหัวข้อ ‘โฆษณา ไม่ขายของ … อย่างเดียว’ ที่สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดขึ้น โดยมี เป็นเอก รัตนเรือง รับหน้าที่เป็นพิธีกรดำเนินรายการ พร้อมด้วยคนเบื้องหลังวงการโฆษณาไทยอย่าง กรณ์ เทพินทราภิรักษ์ อดีตผู้อำนวยการบริหารฝ่ายสร้างสรรค์ โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์, ภาณิศา สุวรรณรัตน์ ผู้จัดการแบรนด์ โดฟ แอนด์ เคลียร์ ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย และกิตติ ไชยพร ผู้ก่อตั้งและครีเอทีฟเอเจนซี มานะ แอนด์ เฟรนด์
ทั้ง 4 คนจะมาตั้งคำถามพร้อมหาคำตอบร่วมกันในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานโฆษณาเชิงสร้างสรรค์ ตั้งแต่นิยามของโฆษณาที่ดี การพบลูกค้าครึ่งทางกับแนวทางการทำโฆษณาที่ไม่ได้เน้นแค่ขายอย่างเดียว จนไปถึงเส้นบางๆ ระหว่างโฆษณาแบบฮาร์ดเซลล์และสร้างสรรค์ โดยคำถามส่วนใหญ่ที่เป็นเอกเตรียมมาเป็นคำถามจากประชาชนคนธรรมดาๆ ทั่วไป
การรับผิดชอบคือคนทำงานโฆษณาต้องไม่โกหก ไม่ขายของเกินจริง พูดแต่ความจริงเท่านั้น นี่คือจรรยาบรรณสำหรับคนทำโฆษณา
แบรนด์จริงใจแค่ไหนกับการสร้างโฆษณาที่ให้เมสเสจดีๆ สู่สังคม
ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการโฆษณามาอย่างยาวนาน เป็นเอกจึงเริ่มยิงคำถามแรกไปที่กรณ์ว่า ในความเป็นจริงแล้วการที่แบรนด์ต่างๆ หันมาทำโฆษณาแนว CSR (Corporate Social Responsibility) สอดแทรกเมสเสจบางอย่างให้สังคมมากขึ้น เป็นเพราะลูกค้า (แบรนด์) ‘จริงใจ’ อยากตอบแทนสังคมจริงๆ หรือมองว่าวิธีนี้น่าจะสร้างความประทับใจให้คนดูทางอ้อมเพื่อหวังเพิ่มยอดขายได้ดีกว่า
“ผมคิดว่าลูกค้าทุกรายที่ผมเคยร่วมงานมาปรารถนาดีต่อสังคมอยู่แล้ว ทำได้มากน้อยหรือไม่ได้เลยก็แล้วแต่เขา” กรณ์เล่าต่อว่า “แต่มันก็เป็นหน้าที่ของเราในฐานะครีเอทีฟที่ต้องทำงานออกมาให้ดีที่สุด โดยมีหลักการคือต้องเพิ่มมูลค่า (Added Value) ให้กับแบรนด์ ไม่ใช่แค่ทำโฆษณาเรื่องเดียวแล้วจบ การจะรีเช็กว่ามีการเพิ่มมูลค่าหรือไม่ต้องดูว่าประเด็นที่สื่อสารออกไปมันเพื่อคนดู ต้องเคารพเขา กระบวนการเล่าเรื่องที่ทำก็ต้องมาจากแกนกลางของสินค้าหรือโปรดักต์
“เมื่อเฉลยในตอนท้าย คนดูต้องเข้าใจได้ทันทีว่าแบรนด์ต้องการนำเสนออะไรให้เขา และถ้าต้องการให้หนังดังก็ต้องทำให้เป็นประเด็นเชิงถกเถียงกัน (Controversial) แต่ก็ต้องมั่นใจด้วยว่าไม่ได้ล่อแหลมจนคนติดภาพลบกันทั้งเมือง นอกจากนี้จากรีเสิร์ชของโอกิลวี่ในปี 1985 พบว่าเหตุผลลำดับแรกที่คนจะชอบโฆษณาตัวนั้นๆ คือมันต้อง ‘Meaningful’ มีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อชีวิตคนดู กระตุ้นให้เกิดอะไรบางอย่าง”
เป็นเอกที่เกิดความสงสัยจึงถามว่า “ถ้าอย่างนั้นการต่อยอดมูลค่าที่พี่ทำให้กับลูกค้าในงานโฆษณาอาจไม่จำเป็นต้องมีคุณค่าต่อสังคมก็ได้ถูกไหมครับ ถ้าผมดูโฆษณาตัวหนึ่งแล้วหัวเราะขี้แตก มันก็ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าใช่ไหม”
กรณ์เห็นด้วยและบอกว่าการโฆษณาต่อยอดมูลค่าให้กับแบรนด์ที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นประเด็นที่มีคุณค่าต่อสังคมเสมอไป ขอแค่โฆษณานั้นๆ ได้สะท้อนแง่มุมบางอย่างและสื่อสารเมสเสจในประเด็นนั้นๆ ออกไปโดยไม่รู้สึกว่าเป็นโฆษณาก็เพียงพอแล้ว
ฝั่งกิตติให้ความเห็นว่าโฆษณาที่ดีและต่อยอดมูลค่าให้แบรนด์ได้ต้องให้เมสเสจและแรงบันดาลใจบางอย่างกับคนดู คล้ายกับเวลาที่ผู้กำกับภาพยนตร์ต้องการสร้างทั้งความบันเทิงควบคู่ไปกับการสอดแทรกประเด็นบางอย่างลงไป
“ผมว่ามันเป็นรสนิยมของครีเอทีฟและลูกค้าด้วย อย่างโฆษณาหลายๆ ตัวที่ผมทำมาก็ไม่เคยมีลูกค้าคนไหนเดินเข้ามาหาผมแล้วบอกว่า ‘เดี๋ยวเราจะมาทำงานเพื่อสังคมกัน’ อย่างคนอร์ (โฆษณาชุดเมื่อปิ่นโตออกเดินทาง) เขามาพร้อมโจทย์ที่ว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้คนอยากทำอาหารกันมากขึ้น เพราะช่วงนั้นสินค้าขายไม่ค่อยดี คนไม่ค่อยทำอาหาร เพราะไปกินข้าวนอกบ้านกัน ตัวโจทย์มันดีอยู่แล้ว มันไม่ได้บอกว่าซื้อสินค้าเขาแล้วชิงโชครถได้
“ฉะนั้นในความเป็นจริงแล้วตอนบรีฟงานกันระหว่างลูกค้ากับเอเจนซีมันก็คือโฆษณาต้องขายของถูกไหม” เป็นเอกถามแกมย้ำว่าลูกค้าส่วนใหญ่ก็ต้องการขายของเป็นลำดับแรกกันทั้งนั้น มองการใส่เมสเสจดีๆ เป็นแค่เครื่องเคียง
“ใช่ครับ ลูกค้าบรีฟมาแบบนั้นเลย” ผู้ก่อตั้งเอเจนซี มานะ แอนด์ เฟรนด์ บอกต่อว่า “แต่เพราะเราคิดหาวิธีเล่าเรื่องได้โดยเอาวัตถุประสงค์ของโจทย์เป็นตัวตั้งก่อน ซึ่งบังเอิญมันมีเหตุผลที่ดีด้วย (โฆษณาชุดนั้นขายประเด็นอาหารรสมือพ่อแม่ กระตุ้นให้คนเห็นความสำคัญของอาหารที่ทำกินเอง) แต่ทุกวันนี้ก็ไม่ใช่ลูกค้าทุกคนที่จะซื้องานแบบนี้นะครับ บางคนก็ไม่เข้าใจ ไม่พร้อม จะพูดไปทำไม อยากขายของตรงๆ ไปเลยมากกว่า แต่ตัวเราเองก็พยายามจะสร้างสมดุลให้ได้ เพราะการเล่าเรื่องแนวนี้มันเป็นทางที่เราถนัด”
เป็นเอกเริ่มตั้งประเด็นคำถามอีกครั้ง โดยบอกว่าโฆษณาเชิงสร้างสรรค์ที่ไม่ได้เพียงแค่ให้ความบันเทิง แต่ทิ้งเมสเสจบางอย่างให้สังคมได้คิด มันจะช่วยสังคมได้จริงเหรอ แล้วจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อความคิดคนในสังคมได้ไหม
อดีตผู้อำนวยการบริหารฝ่ายสร้างสรรค์ โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ ตอบว่า “ถึงความตั้งใจคุณจะมหาศาล สุดท้ายแล้วมันก็เป็นแค่หนังโฆษณาเรื่องเดียว ถามว่ามันจะเวิร์ก (ต่อสังคม) ไหม เราก็หวังให้มันเป็นแบบนั้นที่สุด ถ้าอย่างน้อยมันจะช่วยยกระดับจิตวิญญาณคนดูให้สูงขึ้นได้อีกสักนิดก็โอเคแล้ว เราหวังอยู่แล้วว่าโฆษณาจะต้องออกมาดี แต่ถามว่ามันจะช่วยขับเคลื่อนสังคมได้หรือเปล่า ไม่ทราบ ยากมาก มันไม่ได้เหมือนกับแคมเปญก้าวคนละก้าวของตูน บอดี้สแลม ที่ครบถ้วนตอบโจทย์ได้ทุกอย่างเลย”
“คำตอบคือไม่ทราบ” เป็นเอกบอกต่อว่า “ซึ่งก็เป็นคำตอบที่ดีนะครับ พี่กรณ์เปรียบเทียบได้น่าสนใจ เพราะเมื่อเทียบกับแคมเปญของตูน บอดี้สแลม ก็จะพบว่าความตั้งใจไม่มีใครน้อยกว่าใครหรอก เพียงแต่ปัญหาอย่างเดียวสำหรับคนทั่วไปคือเวลาที่อะไรก็ตามมาในรูปแบบของโฆษณาหรือถูกแปะท้ายด้วยโลโก้ของแบรนด์ มันจะมีคนจำนวนหนึ่งที่สงสัยในความจริงใจของโฆษณา ขณะที่ตูนเขาทำในสิ่งที่สังคมไม่ได้คลางแคลงใจเลย มันน่าจะต่างกันตรงนี้ด้วย
“เพราะในแง่องคาพยพ ผมมองว่าอุตสาหกรรมโฆษณาพร้อมกว่าตูนเสียอีก เพียงแต่สาธารณชนและคนทั่วไปอาจจะสงสัยในตัวโฆษณาว่ามึงจะมาหลอกอะไรกูวะ” เป็นเอกสรุปทิ้งท้าย
โฆษณาท่ีดีหน้าตาเป็นอย่างไร
‘โฆษณาที่ดี’ ในความคิดของกรณ์และภาณิศาคือโฆษณาที่สามารถปลุกความรู้สึกของคนดู เปลี่ยนความคิดและความภักดี (Royalty) ที่ลูกค้าเคยมีต่อแบรนด์นั้นๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดของคนทั้งประเทศ ถ้าเปลี่ยนใครคนหนึ่งได้แล้วค่อยขยายการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ มันก็ถือเป็นความสำเร็จของโฆษณาที่ดีในระดับหนึ่ง
กิตติเสริมว่าสำหรับเขาจะมองโฆษณาเป็นช่องทางที่มีพลัง เห็นอยู่ทุกวันตลอดเวลาในทุกช่องทาง เมื่อเป็นสื่อที่มีพลัง มันก็คงน่าเสียดายถ้าโฆษณาแต่ละตัวถูกปล่อยออกไปแบบไม่ดี ดังนั้นมันจึงเป็นความท้าทายของคนทำงานโฆษณามากในการแอบสอดแทรกเมสเสจดีๆ บางอย่างลงไปในตัวหนังโฆษณา
“มันก็เหมือนการดูข่าวที่มักจะปิดรายการด้วยธรรมะวันละข้อ เราก็ไม่ได้ตั้งใจฟังหรอก แต่มันก็ซึมซับไปเรื่อย ในอดีตโลกโฆษณาจะถูกแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิงระหว่างโฆษณาเพื่อสังคมและโฆษณาขายของ แต่ปรากฏว่าพอได้มาทำงานจริงๆ แล้วประเภทแรกกลับไม่ค่อยมีคนเห็น ผมเลยรู้สึกว่ามันน่าเสียดาย
“ทุกครั้งที่ผมทำงานก็มักจะคิดถึงคน 3 คนเสมอ อันดับแรกคือคนที่ควักกระเป๋าจ่ายเงินให้เราทำโฆษณาหรือเจ้าของสินค้า ต่อมาคือคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะซื้อสินค้า แต่สุดท้ายเอาเข้าจริงเวลาปล่อยโฆษณาออกไป มันก็ยังมีคนที่ 3 ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร แต่อาจจะได้เห็นโฆษณาของเราไปด้วย ผมเลยมองว่ามันคงดีถ้าโฆษณาจะสามารถตอบโจทย์คนทั้ง 3 กลุ่มนี้ได้”
ถ้ายอดขายไม่กระเตื้อง แบรนด์จะยืนหยัดสร้างเมสเสจดีๆ ต่อสังคมต่อไปไหม แล้วเอเจนซีจะรับมือกับแบรนด์ที่อยากฮาร์ดเซลล์ด้วยวิธีไหน
ทุกวันนี้มีแบรนด์สินค้าอุปโภค-บริโภคจำนวนมากเริ่มใช้วิธีเล่าเรื่องเชิงสร้างสรรค์ ใส่เมสเสจบางอย่างลงไปในตัวโฆษณาสินค้าของตัวเอง บ้างก็ทำได้ต่อเนื่องยาวนาน บ้างก็ทำได้แค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง
คำถามก็คือหากแบรนด์ทราบว่าโฆษณาเมสเสจดีๆ ของตัวเองที่ไม่ได้เน้นการขายตรงแบบฮาร์ดเซลล์จ๋าไม่สามารถเพิ่มยอดขายให้กับบริษัทได้ พวกเขายังจะยึดมั่นในอุดมการณ์เดิมของตัวเอง ผลิตแต่โฆษณาแนวสร้างสรรค์ตอกย้ำค่าความเชื่อที่มีอยู่หรือไม่
ในฐานะลูกค้า ภาณิศาให้ความเห็นว่า “โฆษณาก็เหมือนการจีบผู้หญิง ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากได้เธอมากน้อยแค่ไหน จะสม่ำเสมอพยายามต่อไปเรื่อยๆ มันอยู่ที่ความมั่นใจกับความเชื่อของคนทำโฆษณา ถ้าเชื่อว่าสิ่งที่ทำตอบโจทย์ผู้บริโภคตั้งแต่แกน จุดยืนการสร้างแบรนด์ จนไปถึงการออกแบบสินค้า มันก็จะไหลไปสู่การทำการสื่อสาร มันต้องทำต่อไปเรื่อยๆ เพื่อโชว์สิ่งที่เรียกว่า ‘ความจริงใจ’
“เราต้องทำเรื่อยๆ จนคนเชื่อในจุดยืน ทำเพื่อให้เขาเข้าใจว่าเราเล็งเห็นสิ่งที่ผู้บริโภคอยากได้จริงๆ แล้วเมื่อวันนั้นมาถึง ยังไงยอดขายก็เพิ่มขึ้นมาแน่นอน มันอยู่ที่ว่าเรากล้าจะทนรอหรือเปล่า สมมติมอบป้ายบริจาคเงินทุกปีแล้วยอดขายสินค้าไม่เพิ่มขึ้น แบรนด์ต้องเริ่มถามตัวเองตั้งแต่ปีที่ 2 แล้วว่ามาถูกทางหรือเปล่า”
เป็นเอกถามต่อว่าเคยเจอกรณีนำบรีฟโฆษณาที่มีเมสเสจดีๆ ทั้งเพื่อการขายของ และให้ประโยชน์กับสังคมไปเสนอขายลูกค้าแล้วถูกปฏิเสธกลับมา แล้วรับมืออย่างไร
กิตติบอกว่า “ทุกวันนี้ก็ยังเจออยู่ มันเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ทุกแบรนด์จะรับไอเดียแบบนี้ได้ทั้งหมด เราก็ต้องลองหาวิธีอื่น ไม่ดันทุรัง สำหรับผมมันคือไอเดีย ถ้าลูกค้าไม่เอาแนวคิดที่เราให้จริงๆ มันก็จะกลับไปที่เรื่องของความจริงใจแล้ว คือเขาไม่ได้ซื้อแนวคิดของเราเพราะเขาเชื่อจริงๆ ต่อให้ผมขายได้ มันก็ไม่จริงใจอยู่ดี เขาอาจจะทำงานกับเราครั้งเดียวแล้วก็ไม่กลับมาหาเราอีกเลย ฉะนั้นผมก็จะใช้ 2 วิธีคือลองพยายามดู แล้วถ้าไม่เวิร์กก็ค่อยบอกลา”
“หมายถึงไม่ทำสินค้านั้นเลย” เป็นเอกถาม
“ใช่ครับ จริงๆ แล้วมันวัดได้ตั้งแต่ตอนที่เราไปรับบรีฟแล้ว ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ที่จะมาหาผมเขาก็จะรู้อยู่แล้วว่าผมทำงานแนวไหน เหมือนมีคนจะมาเอาเงินให้พี่ต้อม นายทุนเขาก็ต้องรู้อยู่แล้วว่า…”
“ต้องไม่อยากได้เงินคืน” ผู้กำกับวัย 56 ปีแซวตัวเอง
กิตติหัวเราะก่อนจะตอบกลับว่าส่วนใหญ่ลูกค้าก็จะทำการบ้านมาก่อน ฉะนั้นลูกค้าจะรู้อยู่แล้วว่าครีเอทีฟเอเจนซีแต่ละเจ้ามีลายเซ็นของงานเป็นแบบไหน ถ้าฮาร์ดเซลล์จนเกินไป มานะฯ ก็จะไม่ทำ
“ครั้งหนึ่งผมก็เคยรู้สึกเสียดายที่เราไม่ได้รับงานชิ้นหนึ่ง ตอนนั้นลูกค้าเป็นแบรนด์ลูกอมที่มาหาเราเพราะอยากโปรโมตว่าสินค้าของเขาใช้แล้วไม่มีกลิ่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตรวจวัดก็ไม่ขึ้น มองในแง่ของครีเอทีฟมันน่าทำมากนะครับ แต่สุดท้ายก็ปฏิเสธไป มาวันนี้ผมเสียดาย คิดว่าน่าจะลองรับงานมาแล้วบิดมุมนำเสนอโดยใช้กรรมวิธีของเรา ลองโน้มน้าวลูกค้าเพื่อหากลยุทธ์ร่วมกันใหม่”
กรณ์เชื่อเช่นกันว่าถึงคอนเทนต์จะเป็นพระราชา แต่สุดท้ายแล้วลูกค้าก็ยังเป็นพระเจ้าอยู่ดี (Content is king, but finally client is god.) “แบร์รี โอเวน ครีเอทีฟโฆษณา เจ้านายของผมที่เสียชีวิตไปแล้วเคยสอนผมว่าอาชีพเราคือขายของ ต้องขายให้ออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าลูกค้าไม่เอา อยากขายของเต็มที่ มันก็อยู่ที่สติปัญญาของคุณว่าจะนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเขาอย่างไรที่เขาจะรับได้ เพราะมันไม่ใช่เงินเรา”
เป็นเอกปิดท้ายการเสวนาโดยเลือกคำถามจากทางบ้านมาถามทิ้งท้ายว่า “เป็นความรู้สึกผิดของคนทำงานโฆษณาหรือไม่ที่มีอาชีพที่ต้องสร้าง ‘ความยาก’ และ ‘กิเลส’ ให้มนุษย์ เลยต้องมาจัดงานเสวนาพูดเรื่องขายของผ่านโฆษณาเพื่อให้อะไรกับสังคมด้วย คนที่มีหน้าที่ทำอะไรให้กับสังคม เช่น หมอ คุณครู คนเก็บขยะ ไม่เห็นต้องมานั่งพูดเรื่องแบบนี้เลย ถ้าพวกคุณคิดว่าอาชีพของตัวเองมีประโยชน์อยู่แล้วก็น่าจะทำโฆษณาขายของไปโดยไม่ต้องมีความรู้สึกเหล่านี้ ผมไม่ได้ถามเองนะครับ (ทุกคนในห้องเสวนาหัวเราะ)”
“มันคงเป็นการล้างบาปล่ะมั้งครับ เคยมีคนพูดว่างานพยาบาลในแต่ละวันช่วยชีวิตคนได้ 7 คน แล้วถ้าเทียบกับงานคนทำโฆษณาล่ะ ผมฟังแล้วก็รู้สึกสะอึกเหมือนกัน” กรณ์ตอบ
กิตติเสริมว่าคนทำงานโฆษณารู้สึกผิดแน่นอน ทั้งด้วยหน้าที่ของงานที่ต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อสื่อสารออกไปให้คนเชื่อในสิ่งนั้น “คงเป็นเพราะด้วยขนบและวิถีของอุตสาหกรรมโฆษณาด้วยล่ะมั้งครับ สำหรับผมเลยมองว่าโฆษณาเพื่อสังคม อันดับแรกมันต้องมีความรับผิดชอบก่อน โดยเฉพาะสมัยนี้ที่โลกออนไลน์มันโตมากขึ้น เราจะเห็นโฆษณาที่ไม่รับผิดชอบเกิดขึ้นมามากกว่าเดิมอีก
“การรับผิดชอบคือคนทำงานโฆษณาต้องไม่โกหก ไม่ขายของเกินจริง พูดแต่ความจริงเท่านั้น นี่คือจรรยาบรรณสำหรับคนทำโฆษณา เราไม่ต่างอะไรจากสถานีโทรทัศน์ที่มีหน้าที่นำเสนอเนื้อหาต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป อุตสาหกรรมโฆษณามีเม็ดเงินที่มหาศาลหมุนเวียนอยู่ หากเราสามารถนำเงินมาต่อยอดให้คนวิ่งไปซื้อสินค้าตลอดเวลาได้ ผมก็มองว่าเราน่าจะสามารถช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีๆ ได้บ้างด้วยเช่นกัน”
โดยสรุปแล้ว โฆษณาที่ดีคือต้องช่วยให้แบรนด์ขายของได้ ต่อยอดมูลค่าให้แบรนด์กลายเป็นที่จดจำ และนอกเหนือจากนั้นถ้ามันจะสามารถเปลี่ยนความเชื่อของคนบางกลุ่มและให้เมสเสจดีๆ บางอย่างกับสังคมเพื่อก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านความคิดในทางที่ดี มันก็คงจะเป็นผลดีกับทั้งตัวแบรนด์และคนเบื้องหลังงานโฆษณาแต่ละชิ้นอยู่ไม่น้อย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
- สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยได้จัดงานประกวดและแสดงผลงานคนวงการโฆษณา การสื่อสารการตลาด ‘Adman Awards & Symposium 2018’ ติดต่อกันเป็นปีที่ 15 เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพธุรกิจการสื่อสารการตลาดในประเทศไทย ธีมงานปีนี้มาในคอนเซปต์ ‘ความคิดสร้างสรรค์เพื่อแบ่งปันสู่สังคม’ จัดขึ้นในวันพุธที่ 24 ตุลาคมนี้ ที่เมืองไทย จีเอ็มเอ็ม ไลฟ์เฮาส์ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์