×

อาจไม่ใช่ True! บริษัทแม่ปรับนโยบายการรับพรีเซ็นเตอร์ของ ‘ลิซ่า BLACKPINK’ จะรับเฉพาะแคมเปญระดับ Global หรือ Regional เท่านั้น

07.06.2022
  • LOADING...
ลิซ่า BLACKPINK

กลายเป็นเรื่องที่ถูกจับตาขึ้นมาทันทีว่า ใครคือผู้ที่สามารถคว้าตัวศิลปินระดับท็อปอย่าง ‘ลิซ่า BLACKPINK’ หลัง AIS ยืนยันว่าไม่มีการต่อสัญญา ซึ่งหลายคนประเมินว่าอาจเป็นค่ายคู่แข่งอย่าง True หากเบื้องหลังอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป 

 

AIS ซึ่งปัจจุบันมีฐานลูกค้า 44.6 ล้านเลขหมาย แจ้งว่าได้ยื่นข้อเสนอไปก่อนหน้านี้ประมาณ 3-4 เดือน ก่อนได้รับแจ้งยืนยันปฏิเสธการต่อสัญญาของลิซ่าจาก YG Entertainment เนื่องจากมีดีลกับรายใหญ่ที่มี Conflict of Interest กับ AIS โดยไม่ได้เปิดเผยว่าเป็นแบรนด์ใด

 

แน่นอนเมื่อบอกว่า Conflict of Interest ย่อมต้องพุ่งเป้าไปที่ True แต่หากมองในอีกแง่มุม ‘ลิซ่า BLACKPINK’ กลายเป็นภาพจำของ AIS ไปแล้ว การที่ True จะดึงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับ TrueMove H อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีมากนัก เพราะต้องใช้เงินจำนวนมากในการเปลี่ยนการรับรู้ของผู้บริโภค

 

ลิซ่า BLACKPINK

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ขณะที่ TrueMove H นั้นก็มีพรีเซ็นเตอร์ระดับแม่เหล็กอยู่ในมือหลายคนอยู่แล้วทั้ง ‘แต้ว-สุดาพร สีสอนดี’ นักกีฬามวยสากลสมัครเล่นหญิงทีมชาติไทยซึ่งคว้าเหรียญให้กับทัพนักกีฬาไทยในโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ที่ถูกดึงเข้ามาช่วยโปรโมต 5G ร่วมกับ ไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี, เจ เจตริน, เจ้านาย จินเจษฎ์, เจี๊ยบ ลลนา, เฌอปราง อารีย์กุล และ อเล็กซ์ เรนเดลล์ เป็นต้น (ข้อมูลปี 2564)

 

อาจไม่ใช่ True 

อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวที่อยู่ในแวดวงเอเจนซีให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH ว่าตอนนี้บริษัทแม่ปรับนโยบายการรับพรีเซ็นเตอร์ของ ‘ลิซ่า BLACKPINK’ จะรับเฉพาะแคมเปญระดับ Global หรือ Regional เท่านั้น ไม่รับแคมเปญที่เป็น Local

 

“เมื่อ 2-3 เดือนก่อน ลูกค้าของเราที่เป็นแบรนด์ Global แต่ทำตลาดในเมืองไทยได้ติดต่อเพื่อดึง ลิซ่า BLACKPINK มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ก็ได้รับคำปฏิเสธกลับมา โดยบอกว่าจะรับแคมเปญระดับ Global หรือ Regional เท่านั้น ทั้งๆ ที่บริษัทแม่เรียกค่าตัวมา 60-70 ล้านบาทเราก็พร้อมที่จะจ่าย”

 

ก่อนหน้านี้แหล่งข่าวที่อยู่ในแวดวงเอเจนซีให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH ว่าหากต้องการจ้างลิซ่ามาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์จะอยู่ที่ประมาณ 1-2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 34-67 ล้านบาท ซึ่งเป็นแค่ ‘ค่าตัว’ ยังไม่รวมรายจ่ายอื่นๆ อีก 

 

“ราคาดังกล่าวถือเป็นราคาเบื้องต้นเท่านั้น บทสรุปแล้วจะต้องจ่ายที่เท่าไรก็อยู่ที่เงื่อนไขที่ตกลงกับค่าย เช่น แบรนด์ที่จะจ้างนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมที่แข่งขันสูง ราคาก็อาจเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะค่ายต้องคิดค่าเสียโอกาสของศิลปินด้วย” แหล่งข่าวกล่าว “แต่หากต้องการจ้างทั้งวง ราคาก็จะเพิ่มไปประมาณ 30-40%”

 

เมื่อตีความจากคำพูดของแหล่งข่าวจึงมีความเป็นไปได้สูงที่คำว่า Conflict of Interest กับ AIS อาจจะไม่ได้เป็นแบรนด์ True ส่วนจะเป็นแบรนด์อะไรนั้นคงต้องติดตามกันต่อไป

 

ลิซ่า BLACKPINK

 

พลังในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

ด้านแหล่งข่าวในแวดวงการตลาดให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เหตุที่แบรนด์ต่างสนใจที่จะดึง ‘ลิซ่า BLACKPINK’ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์เพราะสร้างความคุ้มค่าใน 2 เรื่องคือ ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เป็นผู้นำ และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

 

ดังนั้นแม้จะต้องจ่ายเงินมากถึง 100 ล้านบาท เมื่อรวมค่าตัว ผู้ติดตาม โปรดักชันที่ต้องได้มาตรฐานที่บริษัทเกาหลีกำหนด แบรนด์ยักษ์ใหญ่ก็พร้อมที่จะทุ่มจ่ายหากมองแล้วว่า ‘คุ้มค่า’

 

“เชื่อว่าในช่วง 2 ปีต่อจากนี้ ลิซ่า BLACKPINK ก็ยังเป็นศิลปินระดับท็อปที่แบรนด์ไทยอยากดึงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ด้วยอิมแพ็กที่เกิดขึ้นมหาศาล”

 

ขณะเดียวกันการใช้ศิลปินเกาหลีนั้นก็มีความเสี่ยงอยู่บ้าง เพราะทุกอย่างต้องผ่านบริษัทแม่หมดเลย ไม่เหมือนศิลปินไทยที่เวลาจะทำอะไรทางค่ายจะแจ้งให้แบรนด์รับทราบก่อน

 

โดยหากเป็นศิลปินไทยระดับท็อปค่าตัวอาจอยู่ที่ราว 8-10 ล้านบาท ดาราที่มีชื่อเสียงและแฟนคลับก็อาจขยับขึ้นมาราว 3 ล้านบาท ส่วนดาราหน้าใหม่ที่เป็นกระแสจะอยู่ที่ราว 1 ล้านต้นๆ ทั้งหมดนี้รวมการถ่ายภาพ โฆษณา งานแถลงข่าว และกิจกรรมกับแฟนคลับแล้ว 

 

‘แฟนด้อม’ ฐานพลังของศิลปิน

ล่าสุดสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน หรือฮิลล์ อาเซียน เปิดตัวผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอาเซียน (ASEAN Sei-katsu-sha) ล่าสุด ในหัวข้อ ‘เจาะลึกเรื่องแฟนด้อม: ฐานพลังคนกลุ่มใหม่ สู่การขับเคลื่อนสังคมอาเซียน’ พบว่า เมื่อสอบถามถึงกลุ่มแฟนด้อมที่ชื่นชอบมากที่สุดในตอนนี้ คำตอบที่พบมากที่สุดคือ ฟุตบอล, ซีรีส์, ยูทูบ, กลุ่มศิลปินไอดอล, K-Pop, ภาพยนตร์ไซไฟ และแบรนด์เทคโนโลยีต่างๆ 

 

ส่วนแฟนด้อม 3 อันดับแรก ที่ผู้คนในแถบอาเซียน (ไทย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์) คลั่งไคล้มากที่สุดในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด คือ K-Pop, เกม และการทำอาหาร

 

เมื่อสอบถามถึงวัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมแฟนด้อม คำตอบที่พบมีหลากหลาย ตั้งแต่เป็นเพราะต้องการความตื่นเต้น ความสนุกสนานในชีวิต อยากคลายเครียดจากชีวิตประจำวัน หรือไม่ก็เพื่อฆ่าเวลา แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดสำหรับชาติอาเซียนนั้น คือผู้คนจำนวนมากเข้าสู่โลกแห่งแฟนด้อม เพราะต้องการ ‘มีปฏิสัมพันธ์เชื่อมต่อกับผู้อื่น’ ไม่ใช่แค่เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินส่วนตัว

 

แฟนด้อมในอาเซียนส่วนใหญ่มีปฏิสัมพันธ์ภายในชุมชน ด้วยการแชร์ข้อมูลข่าวสารกับเพื่อนสมาชิกและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ผ่านกลุ่มบนเครือข่ายสังคมออนไลน์

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ สมาชิกแฟนด้อมชาวอาเซียนประมาณ 83% ตอบว่า พวกเขามีแบรนด์ในดวงใจที่คลั่งไคล้เอามากๆ โดยปัจจัยหลัก 3 ประการที่ทำให้พวกเขากลายเป็นแฟนคลับของแบรนด์ คือ 

 

  1. ผลิตภัณฑ์และบริการมีคุณภาพสูง ออกแบบมาอย่างดี
  2. มีคุณค่าด้านอารมณ์ความรู้สึก และให้ความสำคัญกับการกระทำ
  3. มีชุมชนแฟนคลับที่น่าดึงดูดใจ

 

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หากศิลปินในดวงใจได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ของแบรนด์ใด พวกเขาก็พร้อมที่จะสนุบสนุน ซึ่งมาพร้อมกับอำนาจการซื้อที่มหาศาล


ภาพ: Edward Berthelot / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X