ย้อนกลับไปในการแข่งขันรายการเบอร์ลินมาราธอน ที่นอกจากจะเป็นหนึ่งในสุดยอดการแข่งขันวิ่งมาราธอนที่ได้รับการยอมรับสูงสุดของโลกสำหรับเหล่านักวิ่งระดับ Elite จากทั่วโลกที่จะมาร่วมลงชิงชัยความเป็นหนึ่งกันแล้ว
อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นที่จับตาเสมอในทุกปีคือ เรื่องของการสร้างสถิติใหม่ ด้วยความที่สังเวียนในประเทศเยอรมนีเป็นสังเวียนที่ค่อนข้างเอื้อต่อการทุบทำลายและสร้างสถิติกับเรื่องราวตำนานบทใหม่ขึ้นมา
เพียงแต่ตำนานนั้นไม่ได้เป็นของนักวิ่งเพียงอย่างเดียว แต่มันยังเป็นการสร้างตำนานสำหรับ ‘ผู้สร้างรองเท้าวิ่ง’ ด้วยเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘Super Shoes’ กำลังทำให้คุณค่าของการแข่งมาราธอนหายไปหรือไม่?
- จุดจบของ คานเย่ และ Yeezy กับเหตุผลที่ adidas และแบรนด์ต่างๆ ไม่ขอจับมือ…
- เผาทิ้งหรือโละมาขาย? ปัญหาหนักอกของ adidas กับชีวิตหลัง Yeezy …
เหมือนเช่นการแข่งขันประจำปี 2023 ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ชัยชนะของ ติกิสต์ อัสเซฟา สุดยอดนักวิ่งปอดเหล็กสาวชาวเอธิโอเปีย ผู้ประกาศศักดาวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก ก็กลายเป็นชัยชนะของ adidas บริษัทกีฬายักษ์ใหญ่ของเยอรมนีไปด้วย
เพราะรองเท้า adidas Adizero Pro Evo 1 คู่สีขาวตัดด้วย 3 แถบสีดำสุดคลาสสิกนั้นถูกมองว่า มีส่วนสำคัญในการช่วยทำให้เธอคว้าชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในระดับทุบสถิติโลกเดิมลงได้อย่างราบคาบ
ชัยชนะครั้งนี้ทำให้สถานการณ์ในสงครามรองเท้าระดับเทพ ‘Super Shoes’ อาจจะเริ่มเปลี่ยนแปลง
จากคนที่เคยเป็นผู้ตาม adidas ทำอย่างไรจึงสามารถเริ่มกลับมาแซงชนะ Nike เจ้าวงการ ได้บ้างในสนามนี้ และชัยชนะครั้งนี้มีความหมายแค่ไหนต่อบริษัทผู้ผลิตรองเท้าทั่วโลก
และการที่ Nike ตอบโต้ด้วยรองเท้ามหัศจรรย์รุ่นใหม่ Alphafly 3 กับการทุบสถิติโลกในประเภทชายของ เคลวิน คิปตัม จะนำไปสู่อะไรต่อ?
ประวัติแบบย่นย่อของรองเท้าวิ่ง
ตามบันทึกประวัติศาสตร์ของรองเท้าวิ่งแล้ว รองเท้าวิ่งรุ่นแรกของโลกที่มีการค้นพบและเก็บรักษาไว้ถูกสร้างขึ้นในปี 1865
รองเท้าวิ่งคู่นี้ถูกสร้างขึ้นในเมืองนอร์ทแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการผลิตรองเท้า โดยผู้ที่เป็นเจ้าของรองเท้าวิ่งในตำนานคู่นี้เชื่อกันว่าเป็นของ ลอร์ด สเปนเซอร์
หน้าตาของรองเท้าวิ่งรุ่นนี้ หากมองด้วยตาจะพบว่าไม่ได้ต่างอะไรไปจากรองเท้าสำหรับสุภาพบุรุษทั่วไป ยกเว้นว่ามี ‘ตะปูรองเท้า’ (Spikes) อยู่ที่พื้นรองเท้าข้างละ 4 จุด ทีนี้หากหยิบจับขึ้นมาก็จะพบว่ารองเท้าคู่นี้มีน้ำหนักที่ค่อนข้างเบา ทำจากหนัง และมีแถบอยู่ด้านข้างเพื่อช่วยซัพพอร์ตรองเท้า
ว่ากันว่ารองเท้ารุ่นนี้ถูกออกแบบมาให้ ลอร์ด สเปนเซอร์ ใช้วิ่งออกกำลังแบบครอสคันทรี
นับจากนั้นเป็นต้นมารองเท้าวิ่งก็ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ในช่วงปี 1917 ที่เริ่มมีการใช้พื้นที่ทำจากยาง ก่อนจะเข้าสู่ยุคที่วงการรองเท้าได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในประเทศเยอรมนีกับสองพี่น้องตระกูลดาสส์เลอร์ ที่ต่อมาแยกกันไปก่อตั้ง adidas (โดย อดิ ดาสส์เลอร์) และ PUMA (โดย รูดอล์ฟ ดาสส์เลอร์)
ก่อนที่ บิลล์ โบเวอร์แมน หัวหน้าโค้ชทีมวิ่งของมหาวิทยาลัยออริกอน จะคิดค้นรองเท้าวิ่งที่มีน้ำหนักที่เบากว่าเดิม ก่อนจะร่วมกับ ฟิล ไนท์ ก่อตั้งบริษัท Blue Ribbon Sports ซึ่งต่อมากลายเป็น Nike ที่มีรองเท้ารุ่นทีเด็ดคือ Cortez ซึ่งมีพื้นฐานการออกแบบมาจากรองเท้าของบริษัท Onitsuka
แล้วการแข่งขันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับรองเท้าวิ่งก็วิ่งไม่หยุดเหมือนนักกีฬา บริษัทผู้ผลิตรองเท้าต่างพยายามที่จะคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อที่จะสร้างชื่อและเป็นแรงดึงดูดสำคัญสำหรับลูกค้าที่ให้ความมั่นใจแบรนด์ใดก็ตามที่ทำให้พวกเขามั่นใจว่า รองเท้าคู่นี้จะทำให้พวกเขาไปได้ไกลกว่าและไวกว่าเดิม
จาก Waffle ในยุค 1970 โลกมาถึงยุคของ Flyknit ของ Nike และ Boost Technology ของ adidas
ก่อนจะมาถึงมหาสงครามเทคโนโลยีรองเท้าวิ่งครั้งยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน
Super Shoes Wars
ในปี 2016 Nike เปิดตัวรองเท้ารุ่นใหม่ ‘Nike Vaporfly 4%’ และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามของรองเท้าระดับสุดยอดที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘Super Shoes’
โดยนับจากการเปิดตัวรองเท้าในการแข่งขันรอบคัดเลือกกีฬาโอลิมปิก นักกีฬาที่ใช้รองเท้าวิ่งของ Nike แทบจะครองวงการมาราธอนเลยทีเดียว นำโดย เอเลียด คิปโชเก นักวิ่งมาราธอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล
คิปโชเกสร้างสถิติโลกของการวิ่งมาราธอนเอาไว้ในการแข่งขันเบอร์ลินมาราธอนในปี 2018 โดยทำเวลาได้เร็วกว่าสถิติเดิมถึง 1 นาทีเศษ
แต่ไม่เพียงแค่คิปโชเกเท่านั้น มีการบันทึกเอาไว้ว่า ในการแข่งขันมาราธอน 6 รายการใหญ่ (Majors) นักวิ่งของ Nike ครองโพเดียมติดอันดับ 1-3 มากถึง 31 จาก 36 อันดับในปี 2019 ซึ่งเรียกได้ว่าแทบจะครองวงการแต่เพียงผู้เดียว
ในช่วงนั้นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมว่า รองเท้าแบบ Super Shoes นี้สร้างความได้เปรียบมากเกินไปหรือไม่ จนเป็นเหตุที่ทำให้ต้องมีการจัดระเบียบเกี่ยวกับเรื่องของเทคโนโลยีที่ใส่ลงไปในรองเท้า
โดยหัวใจของรองเท้าวิ่งแบบ Super Shoes มีอยู่ 3 สิ่งหลักด้วยกัน อันประกอบไปด้วย
- โฟม หรือ Pebax Foam ที่นำมาทำพื้นรองเท้า ซึ่งจะช่วยดูดซับพลังจากการวิ่งลงบนพื้นส่งต่อกลับมาถึงนักวิ่ง พูดง่ายๆ คือช่วยเสริมแรง
- วัสดุที่บางเบา วัสดุในส่วนของหน้าผ้าที่ลดน้ำหนักลงเพื่อให้เบาที่สุด แต่ยังต้องสวมใส่สบายด้วย
- แผ่นคาร์บอน (Carbon Plate) ตัวตีบวกรองเท้าที่นอกจากจะมีน้ำหนักเบาแล้ว ยังช่วยสะท้อนพลังกลับมาได้มากยิ่งขึ้น เรียกว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบ
ในเรื่องนี้ทางองค์กรกรีฑาโลกได้มีความพยายามในการ ‘จัดระเบียบ’ เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันมากเกินไป เช่น การกำหนดให้ความหนาของพื้นรองเท้าวัดจากพื้นแล้วต้องไม่สูงเกินกว่า 40 มิลลิเมตร
ความได้เปรียบเสียเปรียบนี้เป็นเรื่องที่มีการพูดกันอย่างกว้างขวางโดยไม่มีคำว่าผิดหรือถูก เพราะแม้ว่าจะมีการทดสอบทางวิทยาศาสตร์แล้วพบว่า รองเท้าแบบนี้จะสร้างความแตกต่างให้กับนักกีฬาในระดับ Elite ชายได้ราว 3-4 นาที (ขึ้นอยู่กับว่าวิ่งได้ใกล้กับ 2 ชั่วโมงแค่ไหน) ขณะที่นักวิ่งสมัครเล่นที่ปกติวิ่ง 3.30-4 ชั่วโมง หากใส่รองเท้า Super Shoes จะทำเวลาได้ดีขึ้นมากกว่า 5 นาที
แต่สุดท้ายแล้วการปรับแก้กฎระเบียบเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเท่านั้น เพราะสงครามที่แท้จริงคือ การทำอย่างไรก็ได้ให้ไม่เพียงแต่จะไล่ตาม Nike ได้ทัน แต่ยังต้องแซงเอาชนะให้ได้ด้วย!
Adizero Pro Evo 1 ผู้พิชิต
ในระยะเวลาร่วม 7 ปีที่ผ่านมานับจากที่ Nike Vaporfly 4% ได้รับการเปิดตัวและมีการพัฒนารุ่นอื่นตามมาอีกมากมาย ทั้ง ‘Nike Alphafly NEX%’ ที่มีส่วนช่วยให้คิปโชเกสร้างตำนานวิ่งมาราธอนต่ำกว่าเวลา 2 ชั่วโมงได้เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์โลก ถือเป็นช่วงเวลาที่บริษัทผู้ผลิตรองเท้าแบรนด์อื่นต้องอดทนเป็นอย่างยิ่ง
ความอดทนนั้นเพื่อการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) เพื่อสร้าง Super Shoes ของตัวเองขึ้นมา ซึ่งแม้จะใช้ระยะเวลายาวนาน แต่ดูเหมือนในที่สุดโลกก็มีรองเท้าที่ไม่เพียงแต่จะสามารถท้าชนกับรองเท้าจาก Nike ได้
แต่เรามีรองเท้าที่สามารถสยบได้อีกด้วย!
โดยรองเท้าที่ถูกจับตามองว่ากำลังจะเป็นจุดเปลี่ยนของสงคราม Super Shoes คือ รองเท้า adidas ‘Adizero Pro Evo 1’ ที่ได้รับการพัฒนามาจนแทบจะก้าวไปสู่การเป็นรองเท้าอีกขั้น ด้วยแนวคิดที่ออกแบบมาเพื่อการคว้าชัยชนะให้ได้สถานเดียว
ที่บอกแบบนั้นเพราะ adidas บอกในตอนเปิดตัวรองเท้ารุ่นนี้เมื่อเดือนที่แล้วว่า Adizero Pro Evo 1 ถูกออกแบบมาให้มีน้ำหนักเบาที่สุดเพียงข้างละ 138 กรัม เบากว่ารองเท้ารุ่นอื่นที่ adidas เคยผลิตมาถึง 40% อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีระดับสุดยอด เพื่อเข้าถึงเส้นชัยให้ได้เร็วที่สุด
แต่ก็ต้องแลกมากับการที่จะสามารถใช้รองเท้าคู่นี้ได้เพียงแค่ครั้งเดียว (Single-Use) หรือพูดง่ายๆ คือ เป็นรองเท้าแข่งแบบ ‘ใช้แล้วทิ้ง’ ก็ว่าได้
เบื้องหลังกว่าที่จะเกิดรองเท้ารุ่นนี้นั้น ทีมออกแบบผลิตภัณฑ์ของ adidas ที่สำนักงานใหญ่ในเยอรมนีถึงกับต้องเปลี่ยนแปลงวิธีในการพัฒนารองเท้าเลยทีเดียว จากเดิมที่รองเท้าจะถูกออกแบบเพื่อลูกค้าคนทั่วไป แต่สำหรับรองเท้ารุ่นนี้พวกเขาเปลี่ยนวิธีคิดมาเป็นการออกแบบเพื่อตอบโจทย์นักวิ่งในระดับที่เก่งที่สุด
และผลตอบแทนของความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงแนวคิดคือชัยชนะในเบอร์ลินมาราธอนของ ติกิสต์ อัสเซฟา ที่ทำลายสถิติโลกด้วยเวลาต่ำกว่าสถิติเดิมถึง 2 นาที (และทำเวลาดีกว่าสถิติของตัวเองเมื่อปีกลาย 4 นาที) ซึ่งเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์อย่างมาก
ไม่เพียงแค่อัสเซฟาเท่านั้น ยังมีกลุ่มนักวิ่งของ adidas ที่ใส่ Adizero Pro Evo 1 แล้วทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมทุกคน
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา?
เมื่อ adidas ประกาศว่าจะมีการวางจำหน่ายรองเท้า Adizero Pro Evo 1 จำนวน 521 คู่ รองเท้าได้ถูกจำหน่ายหมดภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง ทั้งๆ ที่มีสนนราคาสูงถึง 500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 18,500 บาท และมีความต้องการอีกมากมายมหาศาลจากเหล่านักวิ่งทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดจำหน่ายอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน
นี่คือ Game Changer ของวงการ
และอาจเป็น Game Changer ของ adidas ที่กำลังลำบากด้วย
1% For All
แพทริก นาวา รองประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์รองเท้าวิ่งและการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือด้านกีฬา (Running & Credibility Sports) ได้กล่าวในการเปิดตัวรองเท้ารุ่น Adizero Pro Evo 1 เอาไว้อย่างน่าสนใจ
โดยนอกจากจะกล่าวถึงเรื่องของเป้าหมาย “ที่ต้องการพัฒนารองเท้าวิ่งเพื่อการแข่งขันในตระกูล Adizero ให้มาพร้อมกับเทคโนโลยีอันล้ำสมัยและตรงใจเหล่านักวิ่ง แต่ยังต้องมีน้ำหนักที่เบาแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในรองเท้าวิ่งรุ่นอื่นของ adidas”
นาวายังบอกว่า ตัวเลข 1 สำหรับรองเท้ารุ่นนี้นั้นมีความหมายมากกว่าแค่รหัสบอกว่าเป็นรุ่นแรก
‘1’ ในที่นี้คือ ‘1%’
1% มันอาจเป็นจำนวนสัดส่วนที่ไม่มาก แต่สำหรับนักวิ่งระดับสุดยอดแล้ว จำนวนเพียงแค่นี้สามารถสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้ในการแข่งขัน
และ 1% ที่ช่วยให้ adidas พลิกกลับมาชนะ Nike บนสังเวียนรองเท้าวิ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีนั้นมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับบริษัทที่ประสบปัญหาอย่างหนักในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังกรณีปัญหาความขัดแย้งกับ Kanye West หรือ Ye ศิลปินนักออกแบบชื่อดัง จนสุดท้ายต้องยอมแยกทางกัน
เรื่องนี้ส่งผลกระทบร้ายแรงอย่างมากต่อ adidas เนื่องจากสินค้าตระกูล Yeezy ที่ทำร่วมกับ Ye คิดเป็นรายได้ถึง 8% ของบริษัท มีรองเท้าที่ค้างในสต๊อกอีกนับล้านคู่ที่ต้องหาวิธีในการจัดการ และหุ้นของบริษัทก็ตกลงไปถึง 30% ในเดือนพฤษภาคม
รองเท้า Super Shoes ของ adidas จึงเป็นเหมือนความหวังใหม่ที่จะช่วยนำพวกเขากลับมาผงาดได้อีกครั้ง ซึ่งแม้มันจะยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบทางการค้าจากความสำเร็จของ Adizero Pro Evo 1
‘พวกเขาก็เบอร์หนึ่งได้เหมือนกัน’ ความเชื่อมั่นนี้เป็นเรื่องที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าในใจของลูกค้าได้ (ที่เหลือคือเรื่องความภักดีต่อแบรนด์ ความถูกชะตาของดีไซน์ และคุณสมบัติเฉพาะตัวบางอย่าง)
แม้ว่าสุดท้ายแล้วกลายเป็นว่า สงคราม Super Shoes ยกใหม่จะดูเหมือนเพิ่งเริ่มต้นขึ้น เพราะ Nike กลับมาขอเอาคืนด้วยรองเท้า Alphafly 3 ที่มีส่วนช่วยให้ เคลวิน คิปตัม ยอดนักวิ่งสายเลือดใหม่ที่ทุบสถิติโลกของ เอเลียด คิปโชเก ลงได้อย่างราบคาบ และเตรียมจะวางจำหน่ายในเดือนมกราคม ปี 2024
แต่อย่างน้อย adidas ก็พร้อมแล้วเช่นกันที่จะต่อสู้ในสนามที่เคยเป็นรองนี้ ด้วยปรัชญาของพวกเขา ‘Impossible is Nothing’ ไม่มีอะไรที่พวกเขาทำไม่ได้
ภาพปก : Luciano Lima / Getty Images
ภาพประกอบ: Courtesy of adidas, Nike
อ้างอิง:
- https://www.wsj.com/business/adidas-running-super-shoe-nike-cfdbd832?mod=e2tw
- https://www.theguardian.com/sport/2023/apr/22/brands-try-to-get-a-step-ahead-in-battle-of-super-shoes
- https://www.theguardian.com/world/2023/sep/25/tigist-assefa-super-shoes-record-breaking-marathon-winner-ethiopian-berlin
- https://www.zappos.com/c/history-of-the-running-shoe
- https://www.reuters.com/business/retail-consumer/adidas-tests-upper-limit-running-market-with-500-shoe-2023-09-26/