adidas ยักษ์ใหญ่วงการชุดกีฬาของเยอรมนี ประกาศผลประกอบการขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี แถมยังเตือนว่า ยอดขายในอเมริกาเหนือมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเหตุผลหลักมาจากการตัดสัมพันธ์กับ คานเย เวสต์
หลังจาก adidas ตัดสัมพันธ์กับ คานเย เวสต์ หรือ Ye อดีตแรปเปอร์ชื่อดัง เมื่อเดือนตุลาคม 2022 บริษัทต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ เพราะ Ye เคยเป็นผู้ร่วมออกแบบรองเท้า Yeezy สินค้าสุดฮิตที่ทำกำไรมหาศาลให้กับ adidas
โดยผลประกอบการที่ออกมามีดังนี้
- รายได้จากไลน์ Yeezy ปี 2023 อยู่ที่ 750 ล้านยูโร (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) กำไร 300 ล้านยูโร (1.1 หมื่นล้านบาท)
- บริษัทกันเงิน 140 ล้านยูโร (5.5 พันล้านบาท) เพื่อบริจาคให้การกุศลที่ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ
- ขาดทุนสุทธิ 58 ล้านยูโร (2.3 พันล้านบาท) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1992
- adidas เตรียมจ่ายเงินปันผลเท่าเดิมที่ 0.70 ยูโรต่อหุ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เผาทิ้งหรือโละมาขาย? ปัญหาหนักอกของ adidas กับชีวิตหลัง Yeezy ศึกมหาโหดที่แม้แต่ยักษ์ใหญ่ยังซวนเซ
- ‘เครื่องหมายนาซี-บังคับจูบรูปฮิตเลอร์-ส่งรูปโป๊’ เปิดบันทึกเรื่องสุดช็อกของ Ye ที่ adidas ทนมาเป็นสิบปี
- จุดจบของ คานเย เวสต์ (Kanye West) และ Yeezy กับเหตุผลที่ adidas และแบรนด์ต่างๆ ไม่ขอจับมือกับแฟชั่นไอคอนจอมอันตรายอีกต่อไป
บียอร์น กูลเดน ซีอีโอคนใหม่ พยายามแก้เกมด้วยการกระตุ้นยอดขายรุ่นอื่นๆ เช่น Samba และ Gazelle รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ค้าปลีก แต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่ดีนัก
ตลาดอเมริกาเหนือยังคงเป็นจุดอ่อนของ adidas โดยยังร่วงลงถึง 21% ในไตรมาส 4 ของปี 2023 และลดลง 16% ตลอดทั้งปี สาเหตุหลักมาจากความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลงและสินค้าล้นคลัง
อย่างไรก็ตาม adidas ได้พยายามเคลียร์สินค้าส่วนเกินไปแล้ว 1.5 พันล้านยูโร (ประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท) คิดเป็น 24% ของสต็อกทั้งหมด
กูลเดนคาดการณ์ว่า สถานการณ์จะดีขึ้นในปี 2024 ยอดขายน่าจะโตขึ้นอย่างน้อย 10% ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะรองเท้าสไตล์วินเทจที่น่าจะช่วยพยุงยอดขายในภาพรวมได้
สำหรับสินค้า Yeezy ที่เหลือ adidas คาดว่าจะสามารถขายได้โดยไม่ขาดทุน ทางบริษัทเพิ่งเปิดตัวรุ่นใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ แต่ยังต้องรอดูว่าจะได้รับความนิยมมากน้อยแค่ไหน
adidas ยังเผชิญกับปัญหาใหญ่หลายด้าน ทั้งการขาดทุน ผลกระทบจากวิกฤตของ คานเย เวสต์ รวมไปถึงภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลจากการชำระภาษีย้อนหลัง ซึ่งคาดว่าจะไม่หนักเท่าปีนี้ในปีต่อๆ ไป
นอกจากนี้ adidas ยังต้องเจอกับคู่แข่งที่แข็งแกร่งในอเมริกาเหนือ แบรนด์ของสหรัฐฯ เองครองใจผู้บริโภคได้มากกว่ามาก เพื่อเป็นการแก้เกม adidas จำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์เพื่อสร้างความนิยมในวงการกีฬายอดฮิตอย่างเบสบอลหรือบาสเกตบอล
ส่วนตลาดจีนดูจะมีแสงสว่าง เนื่องจากยอดขายปีที่แล้วดีขึ้นมาก คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.36 พันล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตแบบสองหลักในปีนี้
อนาคตของ adidas จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไปว่า บียอร์น กูลเดน จะพลิกฟื้นสถานการณ์ได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน adidas ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของตลาดแฟชั่นและธุรกิจที่มีความผันผวนสูง
ภาพ: Paco Freire / SOPA Images / LightRocket via Getty Images
อ้างอิง: