เนื่องด้วยพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ของไทยที่เหลือไม่มาก ทำให้หลายฝ่ายต่างจับตาว่า การเห็นชอบจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มอีกเพื่อทำดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลที่เตรียมเคาะวงเงินเร็วๆ นี้ จะสร้างความเสี่ยงทางการคลังเพิ่มหรือไม่
วันนี้ (21 พฤษภาคม) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอแล้ว เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
อย่างไรก็ดี วงเงินของงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนี้ ‘ยังไม่ได้มีการนำเสนอต่อ ครม.’ เนื่องจากต้องมีการพิจารณาตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567, พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ก่อนที่จะยื่นเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ และยื่นสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
สำหรับวงเงินรายจ่ายเพิ่มเติมที่เป็นไปได้ พิชัยกล่าวว่า “ยังไม่ได้ระบุวงเงินที่จะขอเพิ่มได้ชัดเจน แต่ตัวเลข 1.22 แสนล้านบาท เป็นวงเงินสูงสุดที่จะเป็นไปได้ตามกฎหมายตอนนี้”
สอดคล้องกับ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่คาดว่าจะมีการเสนอตัวเลขภายใน 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากจะต้องดำเนินตามขั้นตอนต่างๆ เช่น การนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ และที่ประชุมแผนการคลังระยะปานกลาง (Medium-Term Fiscal Framework: MTFF) พิจารณาก่อน
จุลพันธ์และ ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังอธิบายว่า เหตุที่รัฐบาลเลือกทำงบประมาณเพิ่มเติม แทนที่จะบริหารงบประมาณวิธีการอื่น เช่น การโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ เนื่องมาจากการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณจะทำให้เงินถูกแช่แข็งไว้ 2 เดือน ซึ่งจะกระทบการเบิกจ่ายของภาครัฐ และอาจกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอีกที
“งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวนทั้งสิ้น 3,480,000 ล้านบาท สงป. ได้จัดสรรงบประมาณแล้วรวมทั้งสิ้น 3,457,941.24 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.37 โดยใช้จ่ายงบประมาณแล้วจำนวน 1,749,963.43 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.61 ของงบประมาณที่จัดสรร ทำให้คงเหลืองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำหรับใช้จ่ายในระยะเวลา 5 เดือนที่เหลือไม่มาก ดังนั้น การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยการจัดทำพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จึงเป็นวิธีการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่จะเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ” ชัยกล่าว
นอกจากนี้ จุลพันธ์ยังยืนยันว่า แม้จะมีขั้นตอนเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี การเริ่มแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะยังอยู่ในกรอบเวลาเดิมคือไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
จับตาการบริหารจัดการงบของรัฐบาล เหตุขาดดุลปัจจุบันจ่อทะลุกรอบ
ตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ฉบับทบทวน (ฉบับล่าสุด) แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลกำหนดงบประมาณรายจ่ายไว้ที่ 3,480,000 ล้านบาท การขาดดุลทางการคลังอยู่ที่ 693,000 ล้านบาทแล้ว คิดเป็น 19.91% ของงบประมาณรายจ่าย
สะท้อนว่า ปัจจุบันการขาดดุลการคลังของไทยใกล้เพดานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ ‘การขาดดุลไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่าย’ แล้ว
นอกจากนี้ ตามข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ประเทศไทยมีมาตรา 50 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังฯ เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านต่างๆ ไว้ และตัวชี้วัดด้านการคลังต่างๆ ยัง ‘อยู่ภายใต้กรอบทั้งหมด’ ดังนี้
- หนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 65.03% (เพดานอยู่ที่ 70%)
- ภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณอยู่ที่ 32.14% (เพดานอยู่ที่ 35 %)
- หนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ 1.45% (เพดานอยู่ที่ 10%)
- ภาระหนี้สาธารณะท่ีเป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ 0.04% (เพดานอยู่ที่ 5%)
โดยจากตัวชี้วัด 4 ตัวนี้จะเห็นว่า ‘จุดที่น่ากังวลคือ หนี้สาธารณะต่อ GDP และภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้’
แม้รัฐบาลจะให้ความมั่นใจว่า งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมที่จะออกมาจะอยู่ในกรอบกฎหมายทั้งหมด อย่างไรก็ดี ก็ต้องจับตาดูต่อไปว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะทำให้การคลังไทยมีความเสี่ยงเพิ่มเติมในมิติใดบ้าง ทั้งในแง่กฎหมายและความเชื่อมั่นของนักลงทุน
อ้างอิง