วันนี้ (26 กรกฎาคม) ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ประกอบด้วยการเพิ่มงบประมาณรายจ่าย รวมวงเงินทั้งสิ้น 119,199.41 ล้านบาท และการเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 4,092.17 ล้านบาท พร้อมกับมอบหมายให้สำนักงบประมาณนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับการปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่ายนั้น ประกอบไปด้วย
- รายจ่ายที่ต้องดำเนินการตามข้อผูกพัน หรือค่าใช้จ่ายตามสิทธิที่เกิดจากฎหมาย สัญญา ข้อตกลงระหว่างประเทศ รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการชำระหนี้ วงเงิน 26,862.25 ล้านบาท
- รายจ่ายเพื่อการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รายจ่ายเพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน หรือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด วงเงิน 92,337.16 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้พิจารณาแล้ว วงเงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นไปตามแนวทาง หลักเกณฑ์ แผน และขั้นตอนที่ ครม. ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่กำหนดให้หน่วยรับงบประมาณเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเฉพาะรายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ, ยุทธศาสตร์ชาติ, แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ, (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13, (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ, แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องดำเนินภายในปี 2566
ไตรศุลีกล่าวอีกว่า การขอปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่าย จำแนกตามกระทรวงได้ดังนี้
- งบกลาง 58,075 ล้านบาท
- สำนักนายกรัฐมนตรี 217.49 ล้านบาท
- กระทรวงกลาโหม 108.35 ล้านบาท
- กระทรวงการคลัง 6,196.57 ล้านบาท
- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 38 ล้านบาท
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 520.26 ล้านบาท
- กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 18.59 ล้านบาท
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 6,516.54 ล้านบาท
- กระทรวงคมนาคม 4,413.65 ล้านบาท
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1,368.32 ล้านบาท
- กระทรวงมหาดไทย 1,278.50 ล้านบาท
- กระทรวงยุติธรรม 179.67 ล้านบาท
- กระทรวงแรงงาน 15,455.76 ล้านบาท
- กระทรวงวัฒนธรรม 61.88 ล้านบาท
- กระทรวงศึกษาธิการ 2,600.54 ล้านบาท
- กระทรวงสาธารณสุข 969.62 ล้านบาท
- ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง และหน่วยงานภายใต้การควบคุมของนายกรัฐมนตรี 648.39 ล้านบาท
- รัฐวิสาหกิจ 1,596.16 ล้านบาท
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4,266.35 ล้านบาท
- ทุนหมุนเวียน 14,669.68 ล้านบาท
ไตรศุลีกล่าวว่า พร้อมกันนี้ ครม. ได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 3 โดยอนุมัติการปรับแผนการก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นสุทธิ 14,177 ล้านบาท จากเดิม 1,415,103.57 ล้านบาท เป็น 1,429,280.57 ล้านบาท, แผนบริหารหนี้เดิมปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 1,500 ล้านบาท จากเดิม 1,501,163.56 ล้านบาท เป็น 1,502,663.56 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 20,835.80 ล้านบาท จากเดิม 363,269.01 ล้านบาท เป็น 384,104.81 ล้านบาท และเห็นควรให้หน่วยงานที่บรรจุกรอบวงเงินกู้ภายใต้แผนบริหารหนี้สาธารณะที่ปรับปรุงครั้งที่ 3 เร่งรัดการดำเนินการตามแผนดังกล่าวต่อไป