×

ADB เผยพิษโควิดทำประชากรอาเซียนเกือบ 5 ล้านคนตกงาน-อยู่ในภาวะยากจน ห่วงความเหลื่อมล้ำถูกส่งผ่านเป็นวงจรจากรุ่นสู่รุ่น

17.03.2022
  • LOADING...
ADB เผยพิษโควิดทำประชากรอาเซียนเกือบ 5 ล้านคนตกงาน-อยู่ในภาวะยากจน ห่วงความเหลื่อมล้ำถูกส่งผ่านเป็นวงจรจากรุ่นสู่รุ่น

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับปัญหาความยากจนในระดับสูง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิดหลายระลอกที่กระทบต่อตลาดแรงงานในภูมิภาค 

 

ข้อมูลของ ADB ระบุว่า ในปีที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของโควิดได้ทำลายตำแหน่งงานในภูมิภาคนี้ไปกว่า 9.3 ล้านตำแหน่ง และยังผลักให้ประชากรกว่า 4.7 ล้านคนกลายเป็นกลุ่มคนยากจนที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยเงินต่ำกว่า 1.9 ดอลลาร์หรือ 63 บาทต่อวัน

 

“โรคระบาดทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และทำให้จำนวนคนจนเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้หญิง แรงงานอายุน้อย และผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด” Masatsugu Asakawa ประธาน ADB กล่าว

 

แม้ล่าสุด ADB จะคาดว่าเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ระดับ 5.1% จากอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้น ทำให้ทุกประเทศกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้อีกครั้ง แต่ก็เตือนว่าในกรณีที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น อาจทำให้การเติบโตของ GDP ลดลงไปอยู่ที่ 4.3% ได้เช่นกัน

 

“ปัญหาความยากจนและการว่างงานที่เกิดจากโรคระบาดจะไม่หายไปง่ายๆ เพราะแรงงานที่ว่างงานในช่วงดังกล่าวจะสูญเสียทักษะไป ทำให้การเข้าถึงโอกาสของคนจีนย่ำแย่ลงไปอีก และความเหลื่อมล้ำทางโอกาสนี้จะถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นจนยากจะแก้ไข” ADB ระบุในรายงาน

 

อย่างไรก็ดี ADB ยังมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภูมิภาคจากการที่หลายประเทศเริ่มปรับนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดการว่างงานในภูมิภาคลงได้

 

ADB ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในสัดส่วนเพียงแค่ 64% ของระดับก่อนเกิดโควิด 

 

เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ADB แนะนำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศในภูมิภาคเพิ่มการลงทุนในระบบสาธารณสุข โดยระบุว่า การขาดการลงทุนในระบบดูแลสุขภาพจะยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของแต่ละประเทศแย่ลงไปด้วย

 

โดย ADB ประเมินว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเพิ่มขึ้น 1.5% หากการใช้จ่ายด้านสุขภาพในภูมิภาคนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 3% ของ GDP ในปี 2021 เป็น 5% ของ GDP 

 

“การเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขจะช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพของประชากร ทำให้ประเทศต่างๆ เฝ้าระวังโรคและตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ในอนาคตได้ดีขึ้น” Ahmed Saeed รองประธาน ADB กล่าว

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X