ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย จากที่เคยประเมินไว้ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังหลายประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่จากสายพันธุ์เดลตา บวกกับปัญหาในการเข้าถึงและการกระจายวัคซีน ทำให้แนวโน้มการเติบโตในปีนี้มีโอกาสพลิกกลับ ไม่ได้ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า
ทั้งนี้ในรายงาน Asian Development Outlook Supplement ระบุชัดว่า ภาพรวมการเติบโตของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียในปี 2021 ลดลงจาก 7.3% มาอยู่ที่ 7.2% และคาดว่าเศรษฐกิจเอเชียน่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ในปี 2022 โดย ADB ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียในปีหน้าจาก 5.3% มาอยู่ที่ 5.4%
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเป็นกลุ่มย่อยจะเห็นได้ว่า แต่ละพื้นที่ของเอเชียกลับมีระดับการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน โดยในส่วนของเอเชียตะวันออกมีโอกาสเติบได้มาก ทำให้ ADB ปรับเพิ่มคาดการณ์ปีนี้จาก 7.4% มาอยู่ที่ 7.5% ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของยักษ์ใหญ่อย่างจีน ซึ่งมีแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี พิจารณาจากปัจจัยการบริโภคในประเทศที่กำลังดีดตัวกลับมา และการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ADB ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจจีนว่าจะมีการขยายตัว 8.1% ในปีนี้ และ 5.5% ในปีหน้า
ขณะที่ในเอเชียใต้ การระบาดของโควิดระลอกใหม่ ทำให้ ADB ตัดสินใจปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2021 ลง 8.9% และในปี 2022 เหลือ 7.0% โดยพี่ใหญ่ของพื้นที่ส่วนนี้อย่างอินเดียมีการปรับลดจาก 11.0% มาอยู่ที่ 10.0% ในปีนี้ และ 7.5% ในปีหน้า
ด้านภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการขยายตัวลดลงจาก 4.4% มาอยู่ที่ 4.0% ในปี 2021 หลังจากที่หลายประเทศในภูมิภาคต้องหันกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์คุมเข้มเพื่อสกัดกั้นการระบาดระลอกใหม่ ทำให้ภาคส่วนธุรกิจต้องหยุดชะงัก พร้อมปรับลดการเติบโตในปีหน้าเหลือ 5.2%
ทั้งนี้หากเจาะลึกลงไปเป็นรายประเทศในอาเซียน พบว่า ADB ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้เหลือเพียง 2.0% ถือเป็นตัวเลขคาดการณ์ที่ต่ำที่สุดในอาเซียน จากเดิมซึ่งอยู่ที่ 3.0% เนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิดได้ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุน รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวของไทย แต่ ADB ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับในปีหน้า โดยปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของไทยในปีหน้าจาก 4.5% มาอยู่ที่ 4.9%
สำหรับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน อินโดนีเซียลดลงจาก 4.5% มาอยู่ที่ 4.1% มาเลเซียลดลงจาก 6.0% มาอยู่ที่ 5.5% เวียดนามจาก 6.7% มาอยู่ที่ 4.5% และฟิลิปปินส์คงที่ที่ 4.5% ขณะที่มีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจาก 6.0% มาอยู่ที่ 6.3%
ในส่วนของภูมิภาคเอเชียกลาง ADB คาดการณ์การเติบในปีนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.4% มาอยู่ที่ 3.6%
ด้านอัตราเงินเฟ้อของภูมิภาคเอเชีย ADB ประเมินว่า ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น บวกกับสกุลเงินของหลายประเทศในเอเชียที่อ่อนค่าลง ทำให้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 2.3% มาอยู่ที่ 2.4% ก่อนจะแตะระดับ 2.7% ในปีหน้า
รายงานของ ADB ระบุชัดว่า การระบาดของโควิดยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ กระนั้นการฉีดวัคซีนในภูมิภาคเอเชียได้ปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ โดยจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีรายงานการฉีดวัคซีนในอัตราส่วน 41.6 โดสต่อจำนวนประชากร 100 คน
อ้างอิง: