วานนี้ (13 กันยายน) กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมยื่นฟ้องคดีต่อศาลสูง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรัสเซียออกมาตรการแก้ไขปัญหาโลกรวนให้เข้มงวดมากขึ้น
นักเคลื่อนไหวรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลรัสเซียออกนโยบายที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของความตกลงปารีส ซึ่งพยายามรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยรัสเซียถือเป็นชาติที่ปล่อยคาร์บอนสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และคาดว่าจะปล่อยคาร์บอนแตะที่ 2,212 ล้านตันภายในปี 2030
ทั้งนี้ นักเคลื่อนไหวได้เรียกร้องให้ยกเลิกบทบัญญัติในคำสั่งประธานาธิบดี ซึ่งกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรัสเซียภายในปี 2030 ที่ 70% ของระดับในปี 1990 โดยพวกเขามองว่า เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 ของประเทศไม่ควรเกิน 31% ของระดับในปี 1990
นอกจากนี้ พวกเขายังยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาของรัฐบาลรัสเซียที่กำหนดให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเหลือ 80% ของระดับในปี 1990 ภายในปี 2050 เนื่องจากนักเคลื่อนไหวต้องการให้ตั้งเป้าหมายปี 2050 ไว้ที่ 5% ของระดับปี 1990
นักสิ่งแวดล้อมได้เตือนถึงผลกระทบร้ายแรงที่รัสเซียจะต้องเผชิญจากวิกฤตการณ์โลกรวน ตั้งแต่ผลเสียด้านสุขภาพที่เกิดจากคลื่นความร้อนรุนแรงและโรคระบาด ไปจนถึงความเสี่ยงที่จะเผชิญกับโรคแอนแทรกซ์มากขึ้น รวมถึงปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่เสี่ยงได้รับความเสียหายจากเหตุชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) ละลายตัว ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า หากศาลมีคำพิพากษาให้รัฐบาลรัสเซียแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ก็จะสามารถช่วยชีวิตประชาชนได้หลายแสนคน
กริกอรี วาย์แพน โฆษกทีมกฎหมายของกลุ่มสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า “แนวทางของรัฐบาลรัสเซียต่อการแก้ปัญหาโลกรวนนั้นไร้ความรับผิดชอบ และขัดต่อพันธกรณีของกฎหมายระหว่างประเทศ” และมองว่ามาตรการรับมือภาวะโลกรวนที่ไม่เพียงพอนั้น “เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญของรัสเซีย รวมถึงอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ECHR)”
อย่างไรก็ตาม รัสเซียเตรียมถอนตัวจาก ECHR ในวันศุกร์ที่ 16 กันยายนนี้ ซึ่งหมายความว่า การยื่นฟ้องคดีในครั้งนี้อาจเป็นเคสสุดท้ายที่มีผลผูกพันทางกฎหมายของ ECHR หากในท้ายที่สุดมีการนำเรื่องส่งต่อไปยังศาลของยุโรป
แฟ้มภาพ: Sezgin Pancar / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: