กรมอนามัยและสุขศาสตร์จิตของนิวยอร์ก หรือ DOHMH ประกาศห้ามใช้ Activated Charcoal หรือถ่านกัมมันต์สีดำสำหรับใส่ในอาหาร ซึ่งเป็นเทรนด์มาแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตามข้อกำหนดขององค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ
ผงถ่านที่ใช้สำหรับอาหารนั้นทำจากถ่านกระดูกที่ถูกนำมาเผา เปลือกกะลามะพร้าว ขี้เลื่อย และถ่านจากหิน ซึ่งนิยมนำมาใส่ในอาหารต่างๆ ทั้งไอศกรีม แป้งพิซซ่า ขนมปัง กระทั่งกาแฟและค็อกเทล ฯลฯ จนติดเทรนด์ฮิตบนอินสตาแกรม
ถ่านกัมมันต์ (Activated Charcoal หรือ Activated Carbon) นั้นเป็นส่วนหนึ่งของธาตุคาร์บอนที่นำมาผ่านการสังเคราะห์ทางเคมี และถูกนำมาใช้เพื่อรักษาในผู้ใช้ยาเกินขนาด ผู้ได้รับสารพิษ หรือในคนที่อาหารเป็นพิษ เพื่อไม่ให้ร่างกายดูดซึมพิษเข้าไปจนเกินพอดี
ทั้งนี้กรมอนามัยและสุขศาสตร์จิตของนิวยอร์กได้เผยกับเว็บไซต์ Observer ว่าถ่านกัมมันต์นั้นไม่ได้รับการอนุญาตจากองค์การอาหารและยา
“ร้านอาหารในนิวยอร์กไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ถ่านนี้ในอาหาร เนื่องจากถือเป็นสารเติมแต่งอาหารที่ถูกสั่งห้ามจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ” แคโรไลนา โรดริเกวซ โฆษกของกรมอนามัยฯ เผย
นอกจากนั้นแล้ว ทางกรมยังเผยกับเว็บไซต์ Eater อีกว่าได้ยื่นคำสั่งห้ามใช้สารดังกล่าวกับร้านอาหารต่างๆ เพื่อให้หยุดใช้ถ่านกัมมันต์มาตั้งแต่ปี 2016 แล้ว
ร้าน Morgenstern’s Finest Ice Cream ที่ขึ้นชื่อเรื่องไอศกรีมถ่าน เผยกับ Eater ว่าเพิ่งจะรับทราบข้อบังคับนี้เมื่อเร็วๆ นี้เท่านั้นว่าห้ามจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของถ่านกัมมันต์ และต้องส่งมอบสารดังกล่าวที่มีมูลค่าสูงถึง 3,000 เหรียญสหรัฐเพื่อการตรวจสอบอีกด้วย
ขณะที่ พญ.วรรณวิพุธ สรรพสิทธิ์วงศ์ แพทย์ประจำศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย (Vital Life Wellness) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เคยเผยกับ THE STANDARD ว่า “ผงถ่านไม่ได้จำเป็นต่อการมีสุขภาพดี ปัจจัยสำคัญของการมีสุขภาพดีคือเลี่ยงอาหารที่อาจมีสารพิษปนเปื้อน การรับประทานอาหารให้หลากหลายครบทั้ง 5 หมู่นั้นสำคัญกว่า และหากรับประทานผงถ่านมากเกินไปอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ ท้องผูก อุจจาระเป็นสีดำ และทำให้เกิดภาวะลำไส้อุดตันได้”
นอกจากนั้นแพทย์ยังเสนอแนะอีกว่าสิ่งสำคัญที่ผู้บริโภคควรทราบคือถ่านชาร์โคลไม่สามารถเลือกจับสารพิษโดยเฉพาะเจาะจงได้ เพราะเมื่อรับประทานเข้าไปจะดูดสารอาหารทุกอย่างในกระเพาะไปอีกด้วย
ดังนั้นก่อนจะสั่งอาหารสีดำสุดเก๋จากชาร์โคลคราวหน้า ตั้งคำถามสักนิดท่าจะดี
อ่านเรื่อง กระแส ‘ชาร์โคล ลาเต้’ กับคำถาม… ชาร์โคลฟู้ดดีจริงหรือ ได้ที่นี่
อ้างอิง: