วันนี้ (9 ก.ย.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มูลนิธิเพื่อคนไทย ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)
ร่วมการแถลงข่าว ‘ผลการดำเนินงาน 5 ปี ของ IP และ CoST ต่อการป้องกันคอร์รัปชันในประเทศไทย’ ซึ่งทั้งสองเครื่องมือนี้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและมีการใช้ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยได้เกิดผลเชิงประจักษ์ ทั้งในแง่การประหยัดงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนหลักแสนล้านบาท และในด้านการมีส่วนร่วมภาคประชาชนที่ส่งผลให้เกิดการป้องกันการทุจริตในระบบราชการ
โดย ญาณี แสงศรีจันทร์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลางกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานกำกับนโยบายการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศ ได้ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการป้องกันการทุจริต ด้วยการใช้โครงการข้อตกลงคุณธรรม (IP-Integrity Pact)
สำหรับโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีงบประมาณตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป และใช้โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) สำหรับโครงการที่มีงบประมาณต่ำกว่า 1 พันล้านบาทมาตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน
ปรากฏว่าทั้งสองเครื่องมือสามารถป้องกันคอร์รัปชันได้ โดยตัวเลขการประหยัดงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวน 83,138 ล้านบาท โดยมาจากการใช้โครงการ IP จำนวน 74,893 ล้านบาท คิดเป็น 30.40% ของงบประมาณโครงการที่ดำเนินการจัดหา และจากโครงการ CoST อีก 8,245 ล้านบาท หรือมีการประหยัดจากวงเงินงบประมาณ 20.53%
ทั้งนี้โครงการที่ใช้ข้อตกลงคุณธรรม หรือ IP มีจำนวนทั้งสิ้น 104 โครงการ วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,798,445 ล้านบาท มีโครงการที่ได้ดำเนินการจัดหาได้แล้ว 51 โครงการ และงบประมาณของโครงการที่ดำเนินการจัดหาแล้ว 2 แสน 4 หมื่นล้านบาท มูลค่าสัญญา 1 แสน 7 หมื่นล้านบาท
ขณะที่โครงการก่อสร้างที่เข้าร่วม CoST มีทั้งสิ้น 253 โครงการ วงเงินงบประมาณกว่า 1 แสน 1 หมื่นล้านบาท โดยมีการเปิดเผยข้อมูลบนระบบ CoST แล้ว 235 โครงการ และในจำนวนนั้นได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จเป็นจำนวน 220 โครงการในระยะต่อไป
สำหรับโครงการ IP ซึ่งดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 นั้น จะมีการขยายโครงการให้มีจำนวนมากขึ้นและครอบคลุมงานจัดซื้อจัดจ้างทุกประเภท ขณะที่โครงการ CoST เพื่อให้เกิดความยั่งยืนจึงได้ผลักดันให้ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ เช่นเดียวกับ IP โดยขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดหลักเกณฑ์และเตรียมจัดทำประกาศ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
ขณะเดียวกัน วิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) องค์กรภาคประชาชนที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนา IP และ CoST กล่าวว่า หากนับจำนวนโครงการที่ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแล้วคาดว่าภายในสิ้นปี 2562 นี้ การประหยัดงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ใช้สองเครื่องมือนี้จะสูงถึง 142,769 ล้านบาท
โดยมาจากโครงการข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งจะประหยัดงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 97,013 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27.06% ของงบประมาณโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ดำเนินการจัดหาได้แล้ว จำนวน 358,448 ล้านบาท จำนวน 62 โครงการ นอกจากนั้นยังมีโครงการ รฟม. (PPP) ซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณเป็นเงิน 37,457 ล้านบาท
ทั้งนี้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ตัวเลขประหยัดงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่สูงถึงหลักแสนล้านบาท แต่เป็นการสร้างผลทางสังคมซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่อาสาสมัครเข้ามาทำหน้าที่ผู้สังเกตการณ์ทั้งหมด 230 คนนั้นล้วนทำงานด้วยความทุ่มเทเสียสละ ตามความยากความซับซ้อนของแต่ละโครงการ
และเมื่อเทียบกับปริมาณงานถือว่าทำงานเกินกำลังที่สำคัญอย่างยิ่งทั้ง IP และ CoST ทำให้ข้าราชการที่สุจริตสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีที่ยืนในสังคม เพราะเป็นกระบวนการปกป้องไม่ให้มีการใช้อิทธิพลกับข้าราชการ ย่อมเท่ากับช่วยป้องกันการทุจริตในระบบราชการ พร้อมไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพงบประมาณ และเพิ่มประสิทธิผลคุณภาพโครงการ
ทำให้ทางองค์กรได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายผลด้วยการนำข้อตกลงคุณธรรรมไปใช้ในโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และโครงการสัมปทานขนาดใหญ่ของรัฐ สำหรับโครงการที่ประชาชนให้ความสนใจและมีความเสี่ยงเรื่องความโปร่งใส ซึ่งอาศัย พ.ร.บ. การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ในการดำเนินงาน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า