วันนี้ (6 มกราคม) ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT แสดงความคิดเห็นผ่านทางเฟซบุ๊ก ในบทความ เรื่อง ‘จับตา อย่าให้ใครโกง…’ โดยเนื้อหาในบทความระบุ ดังนี้
ข้อมูลจาก ACT Ai เผยให้เห็นความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกว่า 8 หมื่นโครงการที่ซุกซ่อนอยู่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกฝ่ายรู้แต่ (ดูเหมือนจะ) ทำอะไรไม่ได้
บทความนี้จะเปิดเผย 10 หน่วยงานที่มีการจัดซื้อแล้วมีความผิดปกติที่ส่อถึง ‘ความเสี่ยงที่จะเกิดคอร์รัปชัน’ มากที่สุด และคำอ้างที่ว่า ‘จัดซื้อถูกระเบียบ เป็นไปตามขั้นตอน’ แต่จริงๆ แล้วเขาโกงกันได้อย่างไร
10 อันดับหน่วยงานที่มีโครงการจัดซื้อน่าจับตามอง
- กรมชลประทาน พบ 6,197 โครงการ
- กรมการปกครอง พบ 2,513 โครงการ
- กรุงเทพมหานคร พบ 2,111 โครงการ
- กรมทางหลวงชนบท พบ 1,966 โครงการ
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ พบ 1,503 โครงการ
- กรมทางหลวง พบ 1,020 โครงการ
- การประปาส่วนภูมิภาค พบ 993 โครงการ
- การประปานครหลวง พบ 949 โครงการ
- กรมทรัพยากรน้ำ พบ 828 โครงการ
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พบ 725 โครงการ
สำหรับข้อมูลและวิธีประเมินนั้น ACT Ai รวบรวมข้อมูลจากระบบ e-GP ของกรมบัญชีกลาง ในการตรวจจับความผิดปกติ ระบบจะแสดงเครื่องหมายแจ้งเตือนสีเหลือง เมื่อโครงการนั้นๆ ส่อให้เห็นความเสี่ยงที่ผิดปกติในการเสนอราคา (ไม่ใช่การตัดสินว่าเกิดคอร์รัปชันแล้ว) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เช่น มีผู้ซื้อซองจำนวนมากแต่เข้าเสนอราคาน้อยราย มีการเกาะกลุ่มเสนอราคาที่ใกล้เคียงกันหรือเท่ากัน มีผู้ที่ชนะการประมูลเพียงรายเดียวที่เสนอราคาต่ำสุด บริษัทที่ได้งานเสนอราคาเท่าราคากลางหรือต่ำกว่าเพียง 0-1% ในขณะที่รายอื่นๆ เกาะกลุ่มเสนอราคาสูงกว่าราคากลาง เป็นต้น
ดร.มานะยังระบุอีกว่า การประเมินนี้รวมถึงกรณีที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘ฮั้วแตก’ และ ‘ฟันราคา’ เพื่อให้ได้งาน ที่จะมีราคาประมูลต่ำผิดปกติ 20-70% กรณีเช่นนี้หน่วยงานอาจได้รับผลดีคือ จ่ายเงินน้อย ต้นทุนต่ำ หรืออาจเกิดผลเสียเพราะคู่สัญญาอาจส่งมอบงานไม่ได้ เนื่องจากราคาต่ำเกินจริงมาก
ดร.มานะระบุว่า ยังมีพฤติกรรมแวดล้อมอีกมากที่ต้องอาศัยการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม เช่น มีการหมุนเวียนกันยื่นประมูลงานในหลายโครงการ โดยผลัดกันเป็นผู้ยื่นราคาต่ำสุด (ผู้ชนะ) หรือราคาสูงกว่า (คู่เทียบ) ผู้ยื่นประมูลหลายรายใช้เอกสารเงินค้ำประกันซองจากแหล่งเดียวกัน หรือใช้หลักทรัพย์เดียวกัน ผู้ยื่นประมูลหลายรายใช้ที่อยู่หรือสถานที่ติดต่อที่เดียวกัน เป็นต้น
.
สำหรับการจัดซื้อภาครัฐมักเป็นไปตามแบบแผนที่ต้องมีคณะกรรมการ มีการอนุมัติตามขั้นตอนกฎหมาย แต่ความจริงแล้วการปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนมีช่องให้บุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถเจรจาวางแผนโกงได้ เช่น
- ขั้นตอนเขียนโครงการ ของบประมาณ อาจมีการวิ่งเต้นให้อนุมัติโครงการหรืองบประมาณ แบ่งการจัดซื้อเป็นหลายโครงการให้วงเงินน้อยลง ใช้วิธีพิเศษในการจัดซื้อ
- ขั้นตอนเขียน TOR มีการล็อกสเปกหรือวางเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง
- ขั้นตอนเปิดประมูลหรือจัดซื้อโดยวิธีอื่น มีการฮั้วประมูล สมยอมราคา แบ่งงานกันไว้ก่อน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม กีดกันหรือเปิดเผยความลับแก่คู่แข่งขันบางราย
- ขั้นตอนทำสัญญาและบริหารสัญญา มีการรับสินบน ช่วยเหลือเอกชน ทำให้รัฐเสียเปรียบ มีการลักสเปก ลดเนื้องาน แก้แบบ เพิ่มเนื้องาน โยนภาระค่าใช้จ่ายบางอย่างให้หน่วยงาน
- ขั้นตอนรับมอบงาน ส่งงานไม่ได้คุณภาพหรือผิดเงื่อนไข ยกเว้นค่าปรับหรือปรับน้อยเกินจริง จ่ายเงินผิดเงื่อนไข เอกชนฉ้อโกงหน่วยงานแต่ไม่ถูกขึ้นบัญชีผู้ทิ้งงาน เป็นต้น
ขั้นตอนเขียน TOR และการประมูล ถือเป็นสองช่วงสำคัญที่มีการโกงอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นมากที่สุด
ขณะที่ ดร.มานะได้ระบุถึงข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้
- สร้างระบบปัญญาประดิษฐ์เช่นเดียวกับ ACT Ai ให้มีศักยภาพมากขึ้น ดึงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ได้มากขึ้น เช่น ธนาคาร กรมที่ดิน กรมพัฒนาธุรกิจ ฯลฯ ทำงานเฉพาะเจาะจงได้มากขึ้น
- หน่วยงานรัฐต้องกำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อที่จูงใจ และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าแข่งขันมากๆ เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานเอง
- นอกจากหน่วยงานต้องเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานให้ครบถ้วนแล้ว เอกชนทุกรายที่สมัครใจเข้าประมูลงานเพื่อประโยชน์ทางการค้าก็ต้องยินยอมให้รัฐเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน เพื่อให้สาธารณชน สื่อมวลชน และผู้ประกอบการอื่นตรวจสอบความถูกต้อง
- กำหนดมาตรฐานการบันทึกข้อมูลในระบบของกรมบัญชีกลางและหน่วยงานจัดซื้อ ให้มีรูปแบบไฟล์/เอกสารที่คอมพิวเตอร์สามารถนำไปศึกษา-วิเคราะห์ได้ง่ายโดยหน่วยตรวจสอบ (สตง., ป.ป.ช., ป.ป.ท.) และผู้สนใจ
- หัวหน้าหน่วยงานรัฐต้องทำการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างครบวงจร และวางมาตรการป้องกันความเสี่ยงอย่างจริงจัง รวมถึงต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
ดร.มานะระบุว่า สำหรับ ACT Ai เครื่องมือสู้โกงภาคประชาชน มีข้อมูลการจัดซื้อตั้งแต่ปี 2558-2564 รวมทั้งหมด 22,182,987 โครงการ ในจำนวนนี้พบโครงการที่ใช้ e-bidding และมีเครื่องหมายแจ้งเตือนว่า ‘เสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติ’ ทั้งสิ้น 80,866 โครงการ