×

ผอ.รพ.สิชล เผยสาวต่อเล็บปลอม ติดเชื้อลามถึงกระดูก เตือนหากเครื่องมือไม่สะอาดเสี่ยงติดเชื้อได้

16.12.2019
  • LOADING...

วันนี้ (16 ธันวาคม) นายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ส่วนตัวถึงเคสการทำเล็บเสริมความงามจนเกิดเป็นแผลติดเชื้อภายหลัง

 

โดยระบุว่า “อุทาหรณ์ หญิงอายุ 35 ปี เมื่อ 20 วันก่อนไปทำเล็บร้านเสริมความงาม มีการขูดร่องเล็บและตัดแต่ง ต่อเล็บปลอมด้วยกาวตราช้าง อีกสามวันต่อมารู้สึกเริ่มปวด คิดว่าไปน่าเป็นอะไรมาก ต่อมาบวมมากขึ้น ซื้อยากินเอง ยุบลงเล็กน้อย ทิ้งระยะมาหลายวันทนเอา รู้สึกเป็นไข้ บวมแดง ร้อนลามจากปลายนิ้วไปถึงโคนนิ้ว งอนิ้วไม่ได้ ปวดทรมานมาก จนต้องตัดสินใจเอาเล็บปลอมออก ทำให้เนื้อเยื่อขอบเล็บหลุดออกมาด้วย ปวดทนไม่ไหวจึงมาพบแพทย์ ส่งเอกซเรย์ที่มือพบว่า

 

“กระดูกนิ้วหัวแม่มือส่วนปลายเริ่มกร่อน เป็นลักษณะติดเชื้อที่กระดูก จนต้องเข้านอนในโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัด พบว่ามีหนองรอบๆ เนื้อเยื่อหัวแม่มือ ลามเข้าข้อ กระดูก และให้ยาฆ่าเชื้อทางเส้นเลือด ใช้เวลารักษาอีกหลายวัน เสียค่าใช้จ่ายอีกหลายหมื่นบาท อีกทั้งมีโอกาสเสี่ยงพิการงอนิ้วหัวแม่มือไม่ได้ตามมา นอกจากนั้น ต้องตรวจหาว่าติดเชื้อ HIV ร่วมด้วยหรือไม่? เพราะเคยมีรายงานการติดเชื้อ HIV จากการทำเล็บมาแล้ว การแต่งเล็บจึงต้องพึงระวัง เครื่องมืออาจไม่สะอาด หรือผ่านการใช้งานมาจากหลายๆ คน แล้วไม่ได้ทำความสะอาดฆ่าเชื้ออย่างเพียงพอ จนติดเชื้อได้” 

 

นอกจากนี้ นายแพทย์อารักษ์ ระบุเพิ่มเติมว่า อาการของกระดูกอักเสบ (Osteomyelitis) แบบเฉียบพลันมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในช่วง 7-10 วัน แต่อาจเป็นอาการเรื้อรังที่ค่อยๆ เกิดขึ้น

 

โดยลักษณะอาการที่พบส่วนใหญ่มักมีความคล้ายคลึงกัน ดังนี้ 1. มีอาการปวด บวม หรือแดงในบริเวณที่มีการติดเชื้อ และอาจพบหนองร่วมด้วย 2. มีไข้ หนาวสั่น 3. อ่อนเพลีย 4. คลื่นไส้ เบื่ออาหาร และ 5. ไม่สามารถเคลื่อนไหวบริเวณข้อต่อที่มีอาการได้ หรือเคลื่อนไหวได้ลำบาก

 

อีกทั้ง การใช้ยา แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะหรือยาแก้ปวด โดยอาจฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือให้ยาแบบรับประทาน ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อรุนแรง อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายเดือน

 

พร้อมย้ำถึงสาเหตุของอาการกระดูกอักเสบว่า มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจเกิดขึ้นในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย แล้วแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดจนทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระดูก โดยแบคทีเรียอาจเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ดังนี้

1. การติดเชื้อทางกระแสเลือด หรือการติดเชื้อที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อบริเวณปอดหรือกระเพาะปัสสาวะ แล้วเชื้อแพร่กระจายไปยังกระดูกส่วนต่างๆ ในร่างกายจนผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้ เป็นต้น

2. การติดเชื้อจากแผลเปิด เชื้อโรคอาจเข้าสู่ร่างกายเมื่อเกิดบาดแผล และอาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปถึงกระดูกได้ โดยการเกิดแผลอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การผ่าตัด การบาดเจ็บ การทำเล็บ เป็นต้น

3. การติดเชื้อจากเนื้อเยื่อหรืออวัยวะใกล้เคียง บาดแผลที่เกิดขึ้นอาจอักเสบจนลุกลามไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆ แล้วแพร่กระจายไปยังกระดูกที่อยู่ใกล้เคียงกันด้วย

 

 

 

ภาพ: Arak Wongworachat / Facebook

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising