×

Across the Spider-Verse (2023) ไอ้แมงมุมตัวตึง แอนิเมชันเปิดประสบการณ์ภาพยนตร์ที่ลืมไม่ลง

06.06.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • Spider-Man: Across the Spider-Verse (2023) ของ Joaquim Dos Santos, Kemp Powers และ Justin K. Thompson ได้นำพาตัวมันเองไปสู่ตำแหน่งแห่งที่ที่พูดได้ไม่ต้องอ้อมค้อมว่า การดูภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้เปิดประสบการณ์ทางด้านภาพยนตร์ หรือ Cinematic Experience ในแบบที่ภาพยนตร์ที่ใช้คนเป็นๆ แสดงหยิบยื่นให้ไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง
  • ลองเทียบบัญญัติไตรยางศ์ง่ายๆ ใช่หรือไม่ว่าภาพยนตร์แอนิเมชันชุด Spider-Verse ก็เป็นเสมือนสิ่งแปลกปลอมในความสัมพันธ์กับจักรวาลภาพยนตร์ของมาร์เวล (MCU) เพราะก็อย่างที่เหล่าสาวกรับรู้รับทราบ ตัวภาพยนตร์ไม่ได้สังกัด Marvel Studios และสิ่งที่แฟรนไชส์นี้พยายามดลบันดาลให้เกิดขึ้นก็คือ การเป็นภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ในแบบฉบับของตัวมันเอง ที่ไม่ต้องตกอยู่ใต้อาณัติของเส้นเรื่องและกรอบเวลาของเจ้าอาณานิคมแห่งใด  และนับเนื่องจากภาคแรกจนถึงภาค 2 ก็ต้องบอกว่ามันไม่เพียงแค่มาได้ไกลและเป็นตัวของตัวเองอย่างไม่น่าเชื่อ กระทั่งพูดได้ว่ามันคือ ‘ภาพยนตร์ Spider-Man’ 2 เรื่องที่เฉียบคมและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์มากที่สุด

หนึ่งในห้วงเวลาที่ชวนให้ตื้นตันบนเวทีประกาศรางวัลออสการ์ครั้งล่าสุดเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านพ้นไป ได้แก่ ตอนที่ Guillermo del Toro กล่าวสุนทรพจน์ (ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ) ขณะขึ้นไปรับรางวัลแอนิเมชันยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Guillermo del Toro’s Pinocchio (2022) ถ้อยคำอันแสนกะทัดรัด 3-4 ประโยคแรกของเขา อาจจะนับเป็นทั้งแถลงการณ์ การแก้ไขความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน เหนือสิ่งอื่นใดสัญญาประชาคมที่บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นและศรัทธาอันแรงกล้าของเจ้าตัวต่อความสำคัญของภาพยนตร์แอนิเมชัน สิ่งที่ Guillermo del Toro พูด อาจถอดความหมายกว้างๆ ได้ดังนี้

 

Guillermo del Toro’s Pinocchio (2022) 

ภาพ: Netflix

 

“แอนิเมชันคือภาพยนตร์ (Cinema) แอนิเมชันไม่ใช่ตระกูลหรือแนวเนื้อหาของภาพยนตร์ (Genre) แอนิเมชันเป็นรูปแบบการนำเสนอที่พร้อมจะได้รับการเขยิบศักยภาพไปอีกขั้นหนึ่ง และพวกเราทุกคนก็หมายมั่นปั้นมือ โปรดช่วยกันทำให้แอนิเมชันไม่ตกหล่นสูญหายไปจากบทสนทนา” 

 

(Animation is cinema. Animation is not a genre. Animation is ready to be taken to the next step. We are all ready for it. Please help us keep animation in the conversation.)

 

ไม่ว่าการ ‘เขยิบศักยภาพไปอีกขั้นหนึ่ง’ ตามที่ del Toro เอ่ยถึง จะมีความหมายว่าอะไร อย่างหนึ่งที่บอกได้แน่ๆ ก็คือ ภาพยนตร์เรื่อง Spider-Man: Across the Spider-Verse (2023) ของ Joaquim Dos Santos, Kemp Powers และ Justin K. Thompson ได้นำพาตัวมันเองไปสู่ตำแหน่งแห่งที่ที่พูดได้ไม่ต้องอ้อมค้อมว่า การดูภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้เปิดประสบการณ์ด้านภาพยนตร์ หรือ Cinematic Experience ในแบบที่ภาพยนตร์ที่ใช้คนเป็นๆ แสดงหยิบยื่นให้ไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง มันขยับขยายโลกทัศน์และจินตทัศน์ของคนดูอย่างชนิดสุดเส้นขอบฟ้าจริงๆ หรือสรุปอย่างรวบรัด มันคือ ‘สถานีต่อไป’ ของความคิดสร้างสรรค์และศิลปวิทยาการ

 

คอมิก Spider-Verse #1 (2014)

ภาพ: Marvel

 

ว่ากันตามจริง คนดูรับรู้ได้ถึงความพิเศษและผิดแผกแตกต่างของ Spider-Man ฉบับแอนิเมชัน ตั้งแต่ภาคก่อนหน้าแล้ว ที่ใช้ชื่อว่า Spider-Man: Into the Spider-Verse (2018) เพราะมันไม่ใช่เพียงแค่การเอาพล็อตเดิมๆ ของ Spider-Man มารีเมกตามขนบและวัตรปฏิบัติที่สืบทอดกันมา (และเป็นอะไรที่ซ้ำซาก) ทว่า มันอาศัยเค้าโครงจากหนังสือการ์ตูนชุด Spider-Verse (ตีพิมพ์ในปี 2014) ซึ่งต้องเรียกว่าเป็นการ Reimagining หรือเทียบเคียงเล่นๆ มันเหมือนกับการสร้างห้องทดลองขึ้นมาใหม่ และจินตนาการถึงโอกาสและความเป็นไปได้อื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับขนบและเงื่อนไขพื้นฐานของความเป็น ‘Spider-Man’

 

หรือพูดอย่างย่นย่อ ทั้งหนังสือการ์ตูนและภาพยนตร์แอนิเมชันเริ่มต้นด้วยความเชื่อที่ว่า Spider-Man ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของ Peter Parker ที่เปลี่ยนนักแสดงไปเรื่อยๆ หรืออีกนัยหนึ่ง Spider-Man ไม่จำเป็นต้องมีเพียงหนึ่งเดียว และในทันทีที่แฟรนไชส์นี้แนะนำให้คนดูรับรู้ถึงการมีอยู่ของจักรวาลคู่ขนาน และรวมไปถึงพหุจักรวาลหรือมัลติเวิร์ส ก่อนที่มันจะกลายเป็นคำที่ใช้กันแพร่หลายอย่างทุกวันนี้ ทั้งประตูนรก สวรรค์ และมัชฌิมโลก ก็เปิดออกพร้อมกัน

 

Spider-Man: Into the Spider-Verse (2018) 

ภาพ: Sony Pictures 

 

ระลึกชาติกันเล็กน้อย Spider-Man: Across the Spider-Verse เป็นตอนที่ 2 ของไตรภาคที่เริ่มต้นด้วย Spider-Man: Into the Spider-Verse และตอน 3 ซึ่งมีกำหนดออกฉายปีหน้า ใช้ชื่อว่า Spider-Man: Beyond the Spider-Verse (2024) ตัวเอกของเรื่อง ได้แก่ Miles Morales (Shameik Moore) เด็กหนุ่มผิวดำเชื้อสายเปอร์โตริกันแห่งย่านบรูกลิน ผู้ซึ่งจับพลัดจับผลูถูกแมงมุมอาบกัมตรังสีกัดและกลายเป็น Spider-Man คนที่ 2 ต่อจาก Peter Parker ที่จบชีวิตไปต่อหน้าต่อตาด้วยน้ำมือของจอมวายร้ายที่ชื่อ Wilson Fisk 

 

และขณะที่เนื้อหาในส่วนที่พูดถึง ‘อำนาจอันยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง’ เป็นเหมือนแก่นเรื่องมาตรฐานที่ติดตั้งมาตั้งแต่ขั้นประกอบชิ้นส่วนในโรงงาน แง่มุมที่ทำให้ Into the Spider-Verse พิเศษและแตกต่างก็เป็นอย่างที่กล่าวก่อนหน้า ซูเปอร์ฮีโร่ไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว พวกเราล้วนสามารถหาหน้ากากมาสวมใส่ได้และกลายเป็น Spider-Man ในแบบฉบับของแต่ละคน

  

ภาพ: Sony Pictures 

 

ภาค 2 หรือ Across the Spider-Verse เก็บตกจาก Into the Spider-Verse ราวๆ ปีครึ่ง และมองในแง่มุมหนึ่ง มันทำหน้าที่ของการเป็น ‘ตอน 2 ของภาพยนตร์ไตรภาค’ ได้อย่างเจ้าเล่ห์แสนกล อันได้แก่ สืบสาน รักษา และต่อยอด ก่อนจะปิดฉากด้วยตอนจบที่ปล่อยให้คนดูอยู่ในภาวะทุรนทุราย 

 

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุกสิ่งที่ดูเหมือนยุติไปแล้วในภาคแรก (หัวโจกถูกกำราบ เหล่าไอ้แมงมุมหลายเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ที่หลงมิติอยู่ใน ‘โลก-1610’ ได้กลับคืนสู่ ‘ด้อม’ ของตัวเอง และเป็นที่เชื่อว่าเครื่องทะลุมัลติเวิร์สถูกทำลายล้างไปเรียบร้อยแล้ว ยกเว้นเหตุการณ์ท้ายเครดิต ซึ่งสื่อสารความหมายตรงกันข้าม) ล้วนเป็นภาพลวงตา และความยุ่งยากครั้งใหม่มีขนาดใหญ่โตกว่าที่คาดคะเนยิ่งนัก ในกรณีของ Miles Morales สิ่งที่เจ้าตัวต้องเผชิญก็เรียกเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากสภาวะที่น่ากระอักกระอ่วน กลืนไม่เข้าคายไม่ออก หนีเสือปะจระเข้

 

ภาพ: Sony Pictures 

 

ข้อน่าสังเกตก็คือ สถานการณ์หรือปมขัดแย้งที่หนุ่มน้อยพบเจอไม่แตกต่างจากสถานการณ์ของตัวภาพยนตร์ชุด Spider-Verse แต่อย่างใด บรรยายสรุปอย่างย่นย่อและโดยที่ไม่เปิดเผยเนื้อหาจนเกินไป ช่วงครึ่งหลังของเรื่อง พระเอกของเราถูก Miguel O’ Hara หรือ Spider-Man 2099 จากอีกมิติเวลา และเป็นหัวหน้าชมรมไอ้แมงมุมกอบกู้มัลติเวิร์ส ตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรงว่า Miles เป็นสิ่งแปลกปลอมของชุมชนแห่งนี้ และการดำรงอยู่ของเขารบกวนเสถียรภาพและสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้พหุจักรวาลต้องพบกับความพินาศย่อยยับ หรือพูดง่ายๆ ก็คือเขาเป็น Spider-Man นอกคอก และหนทางเดียวก็คือ Miles ต้องยอมจำนนต่อขนบปฏิบัติหรือข้อบัญญัติ (Canon) ที่ ‘ชาว Spider’ ทั้งชายหญิงและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ (รวมถึงสไปเดอร์เหมียวและสไปเดอร์ทีเร็กซ์) ล้วนยึดถือกันสืบมา ซึ่งผู้ชมต้องไปค้นหาในภาพยนตร์กันเอาเองว่ามันคืออะไร ทว่า สำหรับพระเอกของเรา นี่มันเป็นการร้องขอให้เขาต้องเสียสละมากเกินไปและเจ้าตัวยอมรับไม่ได้

 

คำถามที่ผุดขึ้นในห้วงคำนึงของตัวละครก็คือ ทำไมใครต่อใครถึงต้องคอยกำหนดว่าเรื่องของเขามันควรจะพัฒนาไปอย่างไร ทั้งๆ ที่นี่มันเป็น ‘เรื่องเล่าของเขา’

 

ภาพ: Sony Pictures 

 

ลองเทียบบัญญัติไตรยางศ์ง่ายๆ ใช่หรือไม่ว่าภาพยนตร์แอนิเมชันชุด Spider-Verse ก็เป็นเสมือนสิ่งแปลกปลอมในความสัมพันธ์กับจักรวาลภาพยนตร์ของมาร์เวล (MCU) เพราะก็อย่างที่เหล่าสาวกรับรู้รับทราบ ตัวภาพยนตร์ไม่ได้สังกัด Marvel Studios และสิ่งที่แฟรนไชส์นี้พยายามดลบันดาลให้เกิดขึ้นก็คือ การเป็นภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ในแบบฉบับของตัวมันเอง ที่ไม่ต้องตกอยู่ใต้อาณัติของเส้นเรื่องและกรอบเวลาของเจ้าอาณานิคมแห่งใด  และนับเนื่องจากภาคแรกจนถึงภาค 2 ก็ต้องบอกว่ามันไม่เพียงแค่มาได้ไกลและเป็นตัวของตัวเองอย่างไม่น่าเชื่อ กระทั่งพูดได้ว่ามันคือ ‘ภาพยนตร์ Spider-Man’ 2 เรื่องที่เฉียบคมและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์มากที่สุด

 

และส่วนหนึ่งของความน่าพิศวงงงงวยของภาพยนตร์เรื่อง Across the Spider-Verse ได้แก่ งานด้านวิชวลที่แทบไม่มีทางที่ใครที่ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วจะสามารถเก็บเกี่ยวความน่าอัศจรรย์พันลึกได้ในคราวเดียว และการดูรอบที่ 2 หรือมากกว่านั้น น่าจะช่วยสร้างความรู้สึกดื่มด่ำกำซาบได้ลึกล้ำมากขึ้น 

 

รวมทั้งได้เห็นถึงความละเอียดและพิถีพิถันของการสร้างมู้ดและโทน ตลอดจนสภาวะของชั้นบรรยากาศที่แตกต่างของแต่ละยูนิเวิร์ส บางด้อมก็เป็นแค่ลายเส้นขยุกขยุยเหมือนเขียนไม่เสร็จ บ้างก็เป็นแค่การ์ตูนสองมิติแบนๆ ด้านๆ บ้างก็ดูสะลึมสะลือและสีสันเลอะเลือนเหมือนได้รับอิทธิพลจากศิลปะอิมเพรสชันนิสต์ บ้างก็หยิบฉวยเอาลายเส้นอย่างในหนังสือการ์ตูนมาใช้ประโยชน์โดยตรง (ลักษณะเป็นช่องๆ และการใช้ตัวหนังสือในกรอบสี่เหลี่ยมบอกเล่าเรื่องราว) หรือฉากที่ผู้สร้างแนะนำให้ผู้ชมรู้จัก Spider-Man แห่งมุมไบ กลิ่นอายของความเป็นดินแดนภารตะก็ฟุ้งกระจายผ่านเส้นสายและการใช้สีที่เข้มข้นหนักแน่น

 

และฉากที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ก็คือ โมเมนต์สุดแสนโรแมนติกที่คู่พระนางนั่งกลับหัวกลับหางเฝ้ามองความเป็นไปของเมืองนิวยอร์กที่แออัดยัดทะนานด้วยตึกสูงในห้วงยามสนธยา

 

ภาพ: Sony Pictures 

 

แต่ก็นั่นแหละ กลไกด้านภาพและเสียงอันวิจิตรพิสดาร ซึ่งส่งผลให้โสตทัศน์ของคนดูต้องทำงานไม่หยุดหย่อน ก็รองรับไว้ด้วย ‘ปมเรื่องหลักและรอง’ ที่แฟนๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของแฟรนไชส์ น่าจะเชื่อมโยงได้ไม่ยากเย็นนัก หนึ่งในนั้น ได้แก่ ประเด็นความสัมพันธ์ในแบบระหองระแหงระหว่างคนเป็นพ่อ-แม่กับคนเป็นลูก และก็อย่างที่ทุกคนนึกออกว่า เราสามารถต่อสู้กับอุปสรรคขวากหนามหรือศัตรูตัวฉกาจหน้าไหนก็ได้ และโดยที่ไม่ต้องรู้สึกหวั่นไหวต่อภยันตราย แต่สำหรับความรักและความห่วงกังวลของคนเป็นพ่อ-แม่ ที่บางครั้งหรือหลายครั้งมันดูเกินกว่าเหตุมากๆ นี่คือสมรภูมิที่เอาชนะไม่ได้ 

 

มองในมุมกลับกัน Across the Spider-Verse ก็สื่อสารกับคนเป็นพ่อ-แม่เช่นกัน โดยเฉพาะการพูดถึงความยุ่งยากของการต้องรับมือกับเด็กหนุ่มเด็กสาวผู้ซึ่งพลังของพวกเขาล้นเหลือไม่แตกต่างจากซูเปอร์ฮีโร่ และพวกเขาพร้อมจะทำอะไรที่มันหุนหันพลันแล่นและบุ่มบ่ามตลอดเวลา

 

อย่างที่บอกข้างต้น Spider-Man: Across the Spider-Verse เป็นตอนที่ 2 ของไตรภาค และความสำเร็จอย่างยิ่งยวดของคนทำภาพยนตร์ก็คือ การทำให้คนดูตะครุบเหยื่อที่ผู้สร้างวางหลอกล่ออย่างไม่ทันได้ตั้งตัว ซึ่งนั่นแปลว่าคนดูต้องคอยอีกอย่างน้อย 1 ปีกว่าที่เรื่องราวที่ค้างคาจะได้รับการสะสางให้ลุล่วงไปในทิศทางหนึ่งทิศทางใด เชื่อว่าเหล่าสาวก Spidey คงเห็นพ้องว่า นั่นเป็นเวลาที่แสนเนิ่นนาน และการเฝ้ารอก็เป็นสภาวะที่สุดแสนจะทานทน

 

Spider-Man: Across the Spider-Verse (2023)

กำกับ: Joaquim Dos Santos, Kemp Powers และ Justin K. Thompson

ให้เสียงพากย์: Shameik Moore, Hailee Steinfeld, Jason Schwartzman และ Oscar Isaac

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X